มูลเหตุที่ต้องดำเนินการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลที่เข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ในที่นี้หมายรวมถึงเอกชนที่เข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐฝ่ายความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติด้วย
เนื่องจากบัญญติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2552 ลักษณะ 4 ข้าราชการพลเรือนสามัญ หมวด 3 การสรรหา การบรรจุ และการแต่งตั้ง กำหนดคุณสมบัติความเป็นข้าราชการใน
มาตรา 36
ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป
และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
ก. คุณสมบัติทั่วไป ………………
ข. ลักษณะต้องห้าม
(1) – (6) ……………………….
(7) เป็นผู้ที่เคยต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา 53
ผู้สมัครสอบแข่งขันในตำแหน่งใด ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มี
ลักษณะต้องห้าม หรือได้รับการยกเว้นในกรณีที่มีลักษณะต้องห้าม
ตามมาตรา 36 และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งหรือได้รับอนุมัติ
จาก ก.พ. ตามมาตรา 62 ด้วย
จากที่บัญญัติไว้ในทั้ง 2 มาตรา เป็นผลให้บุคคลที่จะเข้ารับราชการ รวมถึงเอกชนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐฝ่ายความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ จำเป็นต้องแสดงคุณสมบัติของตนให้หน่วยงานของรัฐรับทราบว่า มิได้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (7) ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือ การให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับรองประวัติด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมนั่นเอง
วิธีดำเนินการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากรรมเพื่อรับรองประวัติบุคคลที่จะเข้ามาปฏิบัติราชการนั้น หน่วยงานต้องสังกัดให้ดำเนินการดังนี้
- ในเขตกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค หน่วยงานต้นสังกัดทำหนังสือแจ้งความต้องการให้ดำเนินการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากรรมให้เจ้าของประวัตินำไปแจ้งที่สถานีตำรวจนครบาล หรือสถานีตำรวจภูธรตามทะเบียนบ้านหรือภูมิลำเนาเดิมของเจ้าของประวัติ โดยให้ส่งผลการตรวจสอบไปยังหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อนำผลการตรวจสอบดังกล่าวไปพิจารณาในการบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้าง ต่อไป
- ในกรณีที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เจ้าของประวัติสามารถร้องขอการรับรองประวัติด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พร้อมกับขอรับผลได้ด้วยตนเองที่ศูนย์บริการตรวจสอบประวัติบุคคล กองทะเบียนประวัติอาชญากร อาคาร 25 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนำผลที่ได้รับนั้นเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด ประกอบการพิจารณาบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้าง ต่อไป
ภูมิลำเนาเดิม : เหตุผลที่ยังคงให้เจ้าของประวัติไปดำเนินการตรวจสอบที่สถานีตำรวจตามภูมิลำเนาเดิมนั้น เนื่องจากยังตีความว่า ภูมิลำเนาเดิมเป็นที่พักอาศัยดั้งเดิมซึ่งอาจเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับบิดา มารดา ญาติพี่น้อง หรือผู้มีอุปการะของเจ้าของประวัติ ซึ่งการตรวจสอบจากสถานที่นี้ก่อน อาจได้รับข้อมูลข่าวสารในด้านอื่นของเจ้าของประวัติ ซึ่งทางสถานีตำรวจสามารถรวบรวมได้ มาผนวกรวมกับข้อมูลประวัติจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพราะทางสถานีตำรวจที่ได้รับการร้องขอจะต้องจัดพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อส่งไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรมกับกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม สำหรับการตรวจสอบกับสถานีตำรวจตามทะเบียนบ้าน เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าของประวัติเพิ่มขึ้น เพราะในปัจจุบันความหมายของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน คือ ที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านนั่นเอง
กรณีที่หน่วยงานต้นสังกัดไม่ประสงค์จะบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้าง เนื่องจากผลการตรวจสอบพบประวัติอาชญากรรม ถึงแม้จะเป็นคดีลหุโทษหรือเป็นการปฏิบัติตามมติ ครม. เรื่อง หลักเกณฑ์การให้โอกาสผู้ติดเชื้อเอดส์ คนพิการ และผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ซึ่งพ้นจากสภาพการใช้ยาเสพติด เข้าทำงาน หรือรับการศึกษาต่อในหน่วยงานภาครัฐ แต่หากการยอมรับผู้ต้องคดีลหุโทษ หรือเป็นการรับตามมติ ครม. ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่และการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานต้นสังกัดได้ เพื่อเป็นการปกป้องหน่วยงานให้ดำเนินการดังนี้
- มีคำสั่งไม่บรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้าง ทั้งที่ได้รับบุคคลเจ้าของประวัตินั้นมาทดลองปฏัติราชการแล้วก็ตาม ให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2552 ลักษณะ 4 ข้าราชการพลเรือนสามัญ หมวด 3 การสรรหา การบรรจุ และการแต่งตั้ง
มาตรา 59
ผู้ได้รับบรรจุบุคคลแต่งตั้งตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 55
ให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและให้ได้รับการพัฒนาเพื่อให้รู้
ระเบียบแบบแผนของทางราชการและเป็นข้าราชการที่ดี ตามที่
กำหนดในกฎ ก.พ.
(วรรคสี่) ผู้อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ผู้ใดมี
กรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชา
ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 7 การดำเนินการทางวินัย
และถ้าผู้นั้นมีกรณีที่จะต้องออกจากราชการตามวรรคสอง ก็ให้
ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามวรรคสองไปก่อน
- เหตุที่อ้างว่า มีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย เนื่องจากตามระเบียบการรักษาความปลอดภัยที่ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน บุคคลที่ได้รับการบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้าง จะต้องกรอกแบบประวัติบุคคล ในปัจจุบันยังคงใช้แบบ รปภ.1 ซึ่งถือเป็นเอกสารราชการที่เจ้าของประวัติจะต้องให้ข้อมูลตามความเป็นจริง การละเว้นไม่กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนตามความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นการจงใจปกปิด หรือรายงานเท็จต่อราชการ ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2552 ลักษณะ 4 ข้าราชการพลเรือนสามัญ หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย
มาตรา 83
ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่กระทำการใดอันเป็นข้อห้าม
ดังต่อไปนี้
(1) ต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา การรายงานโดยปกปิด
ข้อความซึ่งควรต้องแจ้ง ถือว่าเป็นการรายงานเท็จด้วย
- แต่ละหน่วยงานของรัฐควรมีการกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะเข้ามาปฏิบัติงานเป็นการภายในที่ชัดเจนและเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน นอกเหนือจากที่ยึดถือแนวทางคุณสมบัติของ ก.พ. เพราะเมื่อได้รับผลการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ในระหว่างทดลองปฏิบัติราชการของผู้ใดที่ขัดต่อคุณสมบัติที่กำหนดไว้แล้ว หน่วยงานของรัฐนั้นจะสามารถออกคำสั่งยุติการบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้าง ด้วยเหตุผลขาดคุณสมบัติได้ทันที