ความจำเป็น
ปัจจุบันประเทศไทยพบกับภัยคุกคามในหลากหลายสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ และภัยที่เกิดจากมนุษย์ แต่ภัยที่ส่งผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างมากมาย ก็คือภัยที่เกิดจาก “คน” เป็นสำคัญ ที่ว่าคนสำคัญที่สุด ก็เพราะคนเป็นจักรกลสำคัญที่สุดที่จะต้องเป็นผู้วางแผน ควบคุม และปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ จะถูกกำหนดขึ้นอย่างรัดกุมรอบคอบเพียงใด อุปกรณ์ที่ช่วยในการรักษาความปลอดภัยจะมีคุณภาพดีเพียงใด หากบุคคลผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ขาดวินัย ฝ่าฝืนระเบียบ หรือทุจริต อันเป็นเหตุให้ความลับรั่วไหลหรือสถานที่ ทรัพย์สินเกิดความเสียหายแล้ว แผนการ มาตรการ หรืออุปกรณ์ในการรักษาความปลอดภัยที่กำหนดขึ้นก็จะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง
ดังนั้น ในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ จึงควรมีการ “คัดกรอง” คนที่มีคุณสมบัติดี และเหมาะสมเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสร้างความมั่นคงให้กับชาติ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตามเมื่อคัดเลือกบุคคลได้แล้ว ก็จะต้องสร้างให้บุคคลเหล่านั้นให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อการปฏิบัติงานราชการ มีความตั้งใจที่จะปกป้องส่วนราชการ และสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ชาติบ้านเมือง
ความมุ่งหมาย
การรักษาความปลอดภัยบุคคล เป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อเลือกเฟ้น ตรวจสอบให้ได้บุคคลที่มีลักษณะและอุปนิสัยเหมาะสมแก่การบรรจุเข้ารับราชการ หรือให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ หรือบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานของรัฐ โดยเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ
สาเหตุของการละเมิดการรักษาความ
ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นแก่องค์กร และส่งผลกระทบในทางลบต่อการทำงานในหน่วยงาน ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานลดลง หรือไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของคน อาทิ ความลับของทางราชการรั่วไหล อาคารสถานที่ได้รับความเสียหายจากการก่อวินาศกรรม เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้ “คน” ละเมิดการรักษาความปลอดภัย คือ นิสัยและจุดอ่อนของตัวบุคคล
ประเภทบุคคลที่ก่อให้เกิดการละเมิดมาตรการรักษาความปลอดภัย
1. บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสิทธิ / ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ เป็นบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ หรืออาจเป็นฝ่ายตรงข้าม ที่มุ่งแสวงประโยชน์ หรือมุ่งทำลายสิ่งที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นความลับหรือมีความสำคัญ วิธีกระทำการของบุคคลประเภทนี้จะแบ่งออกเป็น
1.1 การเข้ามากระทำการด้วยตนเอง ได้แก่ การโจรกรรม การจารกรรม การก่อวินาศกรรม
1.2 การชักจูงให้บุคคลภายในหน่วยงานของรัฐที่เป็นเป้าหมาย กระทำการแทนจนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
2. บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในหน่วยงานของรัฐ แต่มีจุดอ่อนที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดการรักษาความปลอดภัย
ลักษณะนิสัยและจุดอ่อนของบุคคล
อุปนิสัยพื้นฐานของแต่ละบุคคล
- ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจหรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญของหน้าที่ความรับผิดชอบที่กระทำอยู่
- ความประมาท เลินเล่อ สะเพร่า และความเกียจคร้าน เกิดจากคุณสมบัติส่วนตัวที่ไม่เคยคำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดตามมาจากการกระทำของตน
- ความเคยชิน เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในระดับสูงหรือเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่สำคัญหรือมีชั้นความลับสูง จนทำให้ไม่เห็นความสำคัญของข้อมูลระดับต่ำกว่า หรือเกิดจากการปฏิบัติงานในรูปแบบเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนเกิดความเคยชิน
- ความขาดสติ เกิดจากการขาดการควบคุมทางอารมณ์ที่ดี การเสพสุราของมึนเมา หรือยาเสพติด
อุปนิสัยที่เป็นจุดอ่อนจนฝ่ายตรงข้ามเข้ามาใช้แสวงประโยชน์
- ความเชื่อถือไว้วางใจในผู้ใกล้ชิดหรือผู้ที่มีคุณสมบัติน่าเชื่อถือ จนทำให้ไม่เกิดความรู้สึกว่าสามารถเปิดเผยให้ได้ทราบถึงสิ่งที่เป็นความลับหรือสิ่งที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาจะต้องเปิดเผยความลับของทางราชการ
- ความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงานของตนหรือต้องการสร้างความประทับใจให้กับผู้อื่น
- มีอุปนิสัยที่เป็นปมเขื่อง และต้องการแสดงให้ผู้อื่นได้รับทราบว่า ตนได้รับความไว้วางใจให้รับรู้หรือเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ หรือเข้าถึงมากกว่าข่าวสารที่ปรากฏอยู่โดยทั่วไป
- ความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติงานจนผิดกาลเทศะ เกิดจากความต้องการปฏิบัติงานให้ได้ผลดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ จนไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงาน หรือเวลาที่สมควรที่จะปฏิบัติงาน หรือสถานที่ที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติงานนั้น ๆ
- ความเห็นแก่ได้ รับสินบน เพื่อนำไปใช้จ่ายตามอุปนิสัยชอบความหรูหรา ฟุ่มเฟือยเกินฐานะความเป็นอยู่
เกิดจากสภาพความจำเป็นทางสังคม
- ภาระหนี้สิน
- ถูกชักจูง เนื่องจากมีทัศนคติขัดแย้งทางการเมือง หรือขาดความเชื่อมั่นในหลักศาสนาหรือสถาบันพระมหากษัตริย์
- กระทำด้วยการยึดมั่นตามอุดมการณ์
สภาวะทางจิตไม่ปกติ
- ต้องการท้าทายสังคม
- กระทำเพื่อแก้แค้นครอบครัว
การปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบุคคล
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล สามารถส่งให้ผู้รับมอบหน้าที่ดำเนินการแทน หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัยได้ แต่ถ้าไม่มีก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหัวหน้าหน่วยงาน
วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบุคคลภายในหน่วยงานของรัฐ
- การตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล
- การรับรองความไว้วางใจและทะเบียนความไว้วางใจภายในหน่วยงาน
- จัดการอบรมเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยภายในหน่วยงาน
การตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล
การตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลเป็นวิธีการเบื้องต้นที่เสริมการคัดกรอง “คน” ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานราชการ เพราะนอกจากจะเป็นการพิสูจน์ทราบถึงประวัติ คุณสมบัติและพฤติการณ์ที่เหมาะสมแล้ว ยังใช้เป็นวิธีพิสูจน์ทราบความซื่อตรงและความจริงใจเบื้องต้น เช่น การปกปิดหรือการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติอาชญากรรมที่เคยกระทำ แต่ไม่ถูกดำเนินคดี ได้แก่ การลักขโมย การฉ้อโกง เคยเป็นสมาชิกของกลุ่มอุดมการณ์หรือหน่วยงานเอกชนที่ต่อต้านนโยบายของรัฐ หรือมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมอื่น ๆ ซึ่งบุคคลที่ต้องดำเนินการตรวจสอบฯ ได้แก่
- เพื่อบรรจุเข้ารับราชการหรือบุคคลที่ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ผลประโยชน์และชื่อเสียงของประเทศชาติ นั้น จำเป็นต้องคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติและความสามารถเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ มีความประพฤติอยู่ในกรอบของกฎหมาย รักษาระเบียบ วินัย และมีความซื่อสัตย์สุจริต ป้องกันมิให้ส่วนราชการรับบรรจุผู้ที่มีพฤติการณ์เป็นภัย เช่น เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทุจริตประพฤติมิชอบ ฝักใฝ่การแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น เข้ามาเพื่อทำการโฆษณาชวนเชื่อโจมตีหน่วยงาน หรือยุยงให้เกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นภายในส่วนราชการ
- เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงชั้นความลับ หรือปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับความลับ หรือหน้าที่สำคัญ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีค่าของแผ่นดิน หน่วยงานของรัฐบางแห่ง มีลักษณะงานและภารกิจที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มีชั้นความลับอยู่เสมอ ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการบรรจุใหม่ เมื่อพ้นการทดลองงานแล้วจะต้องปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ หน่วยงานในลักษณะเช่นนี้จำเป็นจะต้องตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ไปพร้อมกัน 2 ขั้นตอน คือ การตรวจสอบเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ และตรวจสอบเพื่อมอบหมายความไว้วางใจให้เข้าถึงชั้นความลับของทางราชการ
- เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความไว้วางใจให้เลื่อนระดับชั้นให้สูงขึ้น หรือการรหัสควรปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 2 โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของรัฐ
- การรับโอนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น
- เจ้าหน้าที่รัฐที่พ้นจากภารกิจหรือออกจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว แต่ต้องกลับมาทำงาน ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาไม่นานแต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลนั้น อาจมีพฤติกรรมหรืออุดมคติที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นภัยต่อหน่วยงานของรัฐหรือประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถใช้การรับรองความไว้วางใจที่บุคคลนั้น ได้รับมาแต่เดิมได้จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ใหม่ทั้งหมด
การตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล ซึ่งการตรวจสอบประวัติฯ นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- การตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลเบื้องต้น
- การตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์โดยละเอียด
วิธีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลเบื้องต้น
- หัวหน้าหน่วยงานควรจัดให้มีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์เบื้องต้น สำหรับผู้ที่จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ หรือรับโอน หรือว่าจ้างให้มาปฏิบัติงานได้เอง ตามขั้นตอนดังนี้
1.1 ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นครบถ้วนตามกฎหมายหรือข้อบังคับ จากนั้นหน่วยงานทำหนังสือถึงหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลหรือหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรที่ผู้ถูกตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือส่งให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากร
1.2 จัดให้มีการกรอกแบบประวัติบุคคล/แบบ รปภ.1 (เขียนด้วยลายมือตัวบรรจง) โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการ รปภ.ประจำหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายควบคุม ดูแล เพื่อให้การกรอกข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ หากเจ้าของประวัติกรอกแบบ รปภ.1 แสดงอาการขัดแย้ง เช่น การอ้างเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ไม่กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน และไม่สามารถชี้แจงเหตุผลได้อย่างชัดเจน ให้ผู้ควบคุมการกรอกบันทึกความเห็นเพิ่มเติมไว้ที่แบบ รปภ.2
1.3 กรณีที่พบพิรุธหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับประวัติของผู้ที่รับเข้าปฏิบัติงาน สามารถส่งให้องค์การ รปภ.ตรวจสอบประวัติโดยละเอียดได้ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จองค์การ รปภ.จะแจ้งผลให้ทราบต่อไป ในระหว่างที่ผลการตรวจสอบประวัติ
1.4 กรณีจำเป็นเร่งด่วน สามารถบรรจุหรือว่าจ้างก่อนที่จะรับผลกรตรวจสอบประวัติ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า ถ้าผลการตรวจสอบประวัติไม่เหมาะสม สามารถสั่งเลิกบรรจุหรือเลิกจ้างได้ - สำหรับผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงชั้นความลับ ถ้าจำเป็นที่ต้องให้ผู้ได้รับการบรรจุใหม่เข้าถึงชั้นความลับ ก็สามารถตรวจสอบพร้อมกันในคราวเดียวกัน
- สำหรับผู้ที่โอนมาจากหน่วยงานอื่น ต้องกรอกแบบ รปภ.1 พร้อมทำการตรวจสอบประวัติใหม่
- เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลประวัติ ที่เขียนไว้ในแบบ รปภ.1 ให้เจ้าของประวัติกรอกข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงใน แบบบันทึกการเปลี่ยนแปลงประวัติบุคคล (แบบ รปภ.2) และเจ้าหน้าที่ควบคุม รปภ.ตรวจสอบความถูกต้องและลงชื่อรับรอง เพื่อความถูกต้องตามการแจ้งของเจ้าของประวัติ
การตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลโดยละเอียด
การตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์โดยละเอียด หากหน่วยงานของรัฐไม่สามารถดำเนินการเองได้ ให้ทำหนังสือแจ้งขอรับการสนับสนุนจากองค์การ รปภ. พร้อมกับแนบแบบ รปภ.1 หรือข้อมูลอื่น ๆ ถ้ามี พร้อมวัตถุประสงค์ของการขอให้ตรวจสอบไปด้วย
บุคคลที่หน่วยงานของรัฐต้องตรวจสอบประวัติโดยละเอียด
- บุคคลที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการชั้นลับที่สุด หรือลับมาก หรือการรหัส
- บุคคลที่มีพฤติการณ์ หรือปรากฏข่าวสาร หรือติดต่อกับบุคคล หรืองค์การทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐ
- บุคคลที่จะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญในหน่วยงานของรัฐ
นอกจากนี้หน่วยงานควรพิจารณาตรวจสอบประวัติฯ โดยละเอียดแก่บุคคลดังต่อไปนี้
1) ผู้ที่ได้รับการบรรจุหรือว่าจ้างให้เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
นโยบายบริหาร ผลประโยชน์แห่งชาติ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งมีค่าของแผ่นดิน
2) เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่ถูกว่าจ้างให้เข้ามาปฏิบัติงานที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ หรือให้ปฏิบัติหน้าที่หรือดำรงตำแหน่งที่มีความสำคัญของหน่วยงาน
3) เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่ถูกจ้างมีพฤติการณ์ที่ผิดสังเกตหรือส่อให้เห็นว่าจะเป็นภัยต่อ
หน่วยงานของรัฐการตรวจสอบประวัติ หน่วยงานของรัฐสามารถกระทำได้ มิได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะเป็นการปฏิบัติตามระเบียบราชการที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้แบบ รปภ.1 และแบบ รปภ.2 ที่ใช้กรอกข้อมูลประวัติต่างเป็นเอกสารราชการ ซึ่งสามารถกำหนดชั้นความลับได้ และหากข้อมูลประวัติเหล่านี้ถูกนำไปเปิดเผยโดยผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ ถือเป็นการละเมิดระเบียบ รปภ. ที่สามารถเอาผิดทางวินัยแก่ข้าราชการได้