ในกรณีที่ผลการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลด้วยพิมพ์ลายนิ้วมือ และพบประวัติอาชญากรรมของบุคคล การที่หน่วยงานของรัฐจะรับบุคคลนั้นบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้างให้เข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจถึงคุณสมบัติหรือความมีศีลธรรมอันดีตามแต่ที่หน่วยงานของรัฐนั้นกำหนดไว้เป็นการภายใน สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล ที่ควรทราบ เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐมีดังนี้
พระราชบัญญัติล้างมลทิน
- จุดประสงค์ของพระราชบัญญัติล้างมลทิน คือ ให้บุคคลที่เคยรับโทษจากคำพิพากษาของศาล และได้พ้นโทษมาแล้ว หรือผู้ที่เคยอยู่ในหน่วยงาน ของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ ในกรณีความผิดต่างๆ โดยเป็นการกระทำก่อนหรือในวันที่ที่ได้ประกาศพระราชบัญญัติล้างมลทินแล้ว ให้บุคคลนั้นได้พ้นจากมลทิน เสมือนว่าไม่เคยต้องโทษตามที่ได้กระทำความผิดนั้นๆ มาก่อน แต่พระราชบัญญัติล้างมลทิน ไม่ใช่การลบล้างโทษหรือความผิดที่กระทำไว้ ฉะนั้น การล้างมลทิน จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิต่างๆ ผลลัพธ์ที่เกิดจากพระราชบัญญัติฉบับนี้
1.1 สำหรับหน่วยงานของรัฐ บุคคลที่ล้างมลทินแล้ว สามารถสอบเข้ารับราชการได้ เพราะตามคุณสมบัติของผู้สอบเข้ารับราชการ ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาว่าต้องโทษมาก่อน แต่ในทางปฏิบัติ การตีความของแต่ละหน่วยงานของรัฐอาจแตกต่างกัน และประวัติการกระทำผิดก็ยังคงปรากฏอยู่ แต่มีบันทึกต่อท้ายว่า ได้ล้างมลทินแล้ว
1.2 ผู้ที่กระทำผิดและถูกสั่งให้ออกจากราชการ เมื่อได้รับการล้างมลทินแล้ว ไม่น่าจะกลับเข้ารับตำแหน่งหน้าที่เดิมได้ เพราะมีข้อจำกัดหลายประการ ตั้งแต่ตำแหน่งที่รองรับ หรือการยอมรับตามข้อเท็จจริง หากกระทำผิดร้ายแรง ยิ่งเป็นการยากที่จะได้รับการบรรจุเข้ากลับรับราชการอีก
1.3 ในกรณีที่เป็นการลงโทษบุคคล ซึ่งดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น ไม่สามารถใช้อำนาจของ
พระราชบัญญัตินี้มาใช้ล้างมลทินได้ เนื่องจากโทษที่ได้รับมิใช่โทษทางอาญาหรือทางวินัย
- สิทธิประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550
2.1 ในส่วนของพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 [1] กับประมวลกฎหมายอาญา [2]
2.1.1 ประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ.2550
- มาตรา 4 ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความ ผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้ว ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่า ผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ
- หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัตินี้ “เพื่อให้ไม่ถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้นๆ ต่อไปด้วย” เท่ากับว่าพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่า บุคคลนั้นไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดที่ได้ทำมาก่อน แต่ไม่ได้ถือว่า ผู้นั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดในความผิดที่ถูกลงโทษมา
2.1.2 ประโยชน์ที่ช่วยบรรเทาอำนาจของประมวลกฎหมายอาญา
- มาตรา 92 ประมวลกฎหมายอาญา ในกรณีที่บุคคลหนึ่งเคยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกมาก่อนในความผิดหนึ่ง แล้วได้กระทำความผิดใดๆ อีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ หรือภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษ หากศาลพิจารณาลงโทษจำคุกในครั้งหลังอีก ก็ให้ศาลเพิ่มโทษจำคุกอีก 1 ใน 3 ของโทษที่จะลง
- มาตรา 93 ประมวลกฎหมายอาญา ถ้าความผิดที่ถูกลงโทษครั้งแรกและที่ถูกดำเนินคดีครั้งหลังเป็นความผิดเดียวกันอีก ทั้งอยู่ในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษ หรือกระทำผิดซ้ำอีกภายในกำหนด 3 ปีนับแต่วันพ้นโทษ ศาลจะเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้น
ตัวอย่างเช่น นาย ก. ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อพ้นโทษออกมา กลับมาทำผิดลักทรัพย์ซ้ำอีก คดีหลังนี้ ศาลพิจารณาแล้ว จะลงโทษจำคุกนาย ก. อีก 4 ปี และตามกฎหมายกำหนดให้ศาลต้องเพิ่มโทษแก่บุคคลนั้นที่กระทำผิดซ้ำ ให้อีกหนึ่งในสามของโทษที่จะลงในความผิดครั้งหลัง ก็คือ 1 ปี 6 เดือน ฉะนั้น ศาลจะต้องลงโทษจำคุก นาย ก. ในครั้งหลัง 5 ปี 6 เดือน
ประโยชน์ของพระราชบัญญัติล้างมลทิน ช่วยให้ได้รับการลดโทษจากประมวลกฎหมายอาญาในแง่ที่ว่า ผู้ที่ต้องรับโทษตามมาตรา 92 และมาตรา 93 ประมวลกฎหมายอาญา เมื่อได้รับการล้างมลทินก่อนแล้ว ก็ให้ถือว่า ผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดที่มีมาก่อน
ตัวอย่างเช่น ถ้านาย ก. ถูกจำคุกและพ้นโทษมาก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 แต่กลับมาทำผิดฐานลักทรัพย์ใน เมษายน 2551 จึงส่งผลให้ศาลจะพิพากษาเพิ่มโทษนาย ก. ตามมาตรา 92 และมาตรา 93 ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ คงทำได้เพียงลงโทษจำคุกนาย ก. ตามอัตราโทษปกติของความผิดนั้น
2.1.3 ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยของส่วนราชการ การล้างมลทินเป็นเพียงการล้างโทษที่ได้รับจากการกระทำความผิด แต่ไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำความผิด กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดวินัย และผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ ต้องได้รับโทษตามความผิดนั้น และการล้างมลทินคือให้ถือเสมือนหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากราชการไปแล้ว ทั้งก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 สิทธิประโยชน์ที่เจ้าหน้าที่ ผู้นั้นจะได้รับจาก พระราชบัญญัตินี้คือ สามารถใช้สิทธิกลับเข้ามารับราชการใหม่ได้อีกตามกระบวนการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ
ความเกี่ยวเนื่องระหว่างการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลกับพระราชบัญญัติล้างมลทิน
- ตามที่พระราชบัญญัติล้างมลทินเป็นการล้างโทษที่ถูกลงโทษจริง เช่น บุคคลที่ถูกจำคุกจริงไม่ใช่รอการลงอาญา และให้ถือว่า บุคคลนั้นไม่เคยถูกลงโทษจำคุก โดยคำพิพากษาของศาล หรือให้ได้รับการล้างโทษทางวินัย เช่น ถูกไล่ออก ให้ถือว่า ไม่เคยถูกไล่ออก จึงเท่ากับไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติ อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของบุคคลที่จะเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้ว พบในประวัติอาชญากรรมของกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เคยกระทำผิด แต่มีหมายเหตุว่าได้รับการล้างมลทินแล้ว
- กรณีเช่นนี้เป็นไปตามดุลพินิจและคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ของหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดว่า จะพิจารณาเห็นสมควรในการบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้างบุคคลเช่นนี้หรือไม่ ในกรณีที่ไม่ประสงค์จะบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้างแล้ว สามารถอ้างได้ว่า การล้างมลทินเป็นการล้างโทษที่ได้รับ มิใช่การลบล้างความผิดการกระทำไว้ และความผิดที่ได้กระทำอาจทำให้ขาดต่อคุณสมบัติหรือเป็นข้อบกพร่องที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี เช่น กระทำผิดด้วยคดีเกี่ยวกับเพศ ยาเสพติด (ในฐานะผู้ค้า) หรือเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ เป็นต้น การกระทำผิดเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ใช้ในการไม่รับบรรจุ แต่งตั้ง หรือว่าจ้างของหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดได้