คำว่า ”วินาศกรรม” หรือ Sabotage ตามความหมายของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 คือ “การกระทำใดๆ เพื่อทำลาย ทำความเสียหายต่อทรัพย์สิน วัสดุ ข้อมูลข่าวสาร อาคาร สถานที่ ยุทธปัจจัย ที่สงวนสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก หรือรบกวน ขัดขวาง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หน่วงเหนี่ยวระบบการปฏิบัติงานใดๆ รวมทั้งการประทุษร้ายต่อบุคคล ซึ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือความเสียหายทางการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา หรือทางใดทางหนึ่ง”
อย่างไรก็ดี การก่อวินาศกรรมควรมีความหมายให้ครอบคลุมถึงพัฒนาการที่แปรเปลี่ยน ในแง่ของการกระทำใดๆ ที่กระทำเพื่อทำลาย สร้างความชะงักงัน หรือสร้างความเสียหายทั้งหมดหรือบางส่วนทั้งต่อวัตถุ ข้อมูลข่าวสาร ระบบการทำงานใดๆ รวมทั้งการประทุษร้ายต่อบุคคล ซึ่งผลของการวินาศกรรมนี้จะกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อย ผลประโยชน์ หรือความมั่นคงของประเทศชาติ รัฐบาล องค์กร กลุ่มชน หรือแม้แต่ตัวบุคคล ด้วย
คำว่า “วินาศกร” หรือ Saboteur คือ ผู้ที่ปฏิบัติงานโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายตรงข้ามทั้งในด้านชีวิต ทรัพย์สิน และขวัญกำลังใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำ แบ่งออกเป็น
- วินาศกรอาชีพ เป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อการก่อวินาศกรรมจากหน่วยงานของรัฐ องค์การ หรือกลุ่มนอกกฎหมาย การปฏิบัติงานของวินาศกรอาชีพ ส่วนใหญ่มีการวางแผนงาน การตระเตรียมและจะต้องรอรับคำสั่งจากหน่วยเหนือในการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง ตัววินาศกรจะไม่มีสิทธิในการตัดสินใจปฏิบัติการใดๆ ได้ด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด
- วินาศกรอิสระ เป็นบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมและสามารถดำเนินการเบื้องต้นได้ เช่น การวางเพลิง เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติการของบุคคลเพียงคนเดียว ไม่มีหน่วยงานของรัฐหรือองค์การใดๆ ให้การสนับสนุน สาเหตุจูงใจที่ก่อให้เกิด
2.1 กระทำเพื่อการข่มขู่เรียกร้องทรัพย์สินหรือข้อแลกเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับตามความต้องการหรืออุดมการณ์ของตน
2.2 กระทำเพราะมีความไม่พอใจต่อตัวบุคคล สถานที่ทำงาน หน่วยงานของรัฐหรือองค์การ
2.3 กระทำเพื่อแสดงถึงสติปัญญาที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป หรือกระทำเพื่อทดสอบความรู้ความสามารถ ทั้งนี้อาจมีแรงจูงใจมาจากการถูกยั่วยุให้เกิดความต้องการแสดงออกถึงความรู้ความสามารถประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งอาจมาจากความต้องการทดสอบทฤษฎีความคิดของตนเองว่า มีความถูกผิดและจะให้ผลลัพธ์ลักษณะใดในสังคมที่วินาศกรนั้นอยู่อาศัย
การก่อวินาศกรรมเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปเมื่อประมาณคริสตศตวรรษที่ 18-19 หลายประเทศต่างนำเอาเครื่องจักรกลมาใช้เพิ่มผลผลิตของโรงงานให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการนำเครื่องจักรมาใช้นี้สร้างความไม่พอใจให้แก่คนงานอย่างมาก เพราะเกรงว่า เจ้าของโรงงานจะนำเอาเครื่องจักรมาแทนแรงงานคน และอาจจะปลดคนงานบางส่วนออก ดังนั้น พวกคนงานจึงพยายามหาวิธีการที่จะให้เจ้าของโรงงานยุติการใช้เครื่องจักร หรือทำให้เครื่องจักรด้อยประสิทธิภาพการทำงานลง วิธีแรกที่นำมาใช้ คือ พยายามทำให้ส่วนประกอบของเครื่องจักรติดขัด ทำงานไม่สะดวก ครั้งนั้นคนงานใช้รองเท้าเข้าไปขัดไว้ตามส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องจักร เช่น ที่สายพาน ฟันเฟือง เป็นต้น รองเท้าของคนงานมักทำจากไม้ เมื่อถูกเครื่องจักรบดจนแตก เศษไม้จะเข้าไปขัดตามส่วนต่างๆ ของเครื่องจักร ทำให้เครื่องจักรทำงานไม่สะดวกและเสื่อมสภาพการใช้งานเร็วกว่าปกติ หรืออาจทำให้เสียหายทันทีจนต้องหยุดการทำงาน ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ เจ้าของโรงงานจึงเรียกว่า Sabotage ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษาฝรั่งเศส คือ Sabot แปลว่า รองเท้าไม้ของคนงาน
การก่อวินาศกรรมพัฒนารูปแบบและวัตถุประสงค์ไปตามระยะเวลาและสถานการณ์ที่ผ่านมา ทั้งยังทวีความรุนแรงและกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1-2 ทุกฝ่ายต่างนำเอาวิธีวินาศกรรมมาใช้ต่อสู้กันอย่างเป็นระบบ เช่น การลอบวางระเบิดศูนย์บัญชาการ เส้นทางยุทธศาสตร์ คลังอาวุธยุทโธปกรณ์ ขบวนยานพาหนะลำเลียงเสบียงและอาวุธ เป็นต้น ในการทำสงครามแต่ละครั้งจะมีการพัฒนารูปแบบและวิธีการก่อวินาศกรรมไปตามเป้าหมายที่ต้องการทำลายและตามเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้า
จากประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลางจะเห็นว่า ยิวนำวิธีการก่อวินาศกรรมมาปรับใช้อย่างมาก ในช่วงการต่อสู้กับอังกฤษและชาวอาหรับ เพื่อขอจัดตั้งรัฐอิสราเอลในดินแดน ปาเลสไตน์ กลุ่มชาวยิวหัวรุนแรงได้นำเอาวิธีนี้มาใช้กดดันอังกฤษ จนเป็นผลให้อังกฤษยอมรับตามข้อร้องขอดินแดนของยิวหลังจากนั้น การต่อสู้ระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์จึงมีการนำเอาวิธีก่อวินาศกรรมมาใช้อย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันในขณะเดียวกัน วิธีวินาศกรรมก็ถูกนำไปใช้ในสงครามกองโจรและเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะได้ผลในด้านการทำลายสูง โดยใช้กำลังคนน้อย อย่างเช่น สงครามเวียดนาม พวกเวียดกงใช้วิธีนี้ต่อสู้กับทหารอเมริกันตลอดมาจนกระทั่งได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายเวียดนามใต้และสหรัฐฯ
ในช่วงสามทศวรรษก่อนที่การก่อการร้ายแพร่กระจายไปทั่วโลก การก่อวินาศกรรมนับเป็นวิธีหนึ่งที่ผู้ก่อการร้ายนิยมนำมาใช้ปฏิบัติมากที่สุด เพราะวางมาตรการป้องกันได้ยาก เช่น การลอบวางระเบิด ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ได้แก่ การลอบวางระเบิดตามอาคารสถานที่ การซุกซ่อนระเบิดในรถยนต์ การจัดส่งพัสดุหรือจดหมายบรรจุระเบิด และวิธีที่รุนแรงที่สุดขณะนี้ คือ การระเบิดแบบพลีชีพ
สำหรับปัจจุบัน โลกได้พัฒนาไปสู่ยุคอิเลคทรอนิกส์หลายประเทศได้นำเอาเครื่องมือและอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เข้ามาใช้ประโยชน์ทั้งในระบบการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และสังคมจิตวิทยาจนเกือบจะกลายเป็นส่วนประกอบในการดำรงชีพในประเทศเหล่านั้น เทคโนโลยีที่นับว่าเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ได้แก่ การใช้ข้อมูลข่าวสารจากการประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกัน และระบบสื่อสารที่ถูกต้องและรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้เอื้อประโยชน์ต่อผู้เป็นเจ้าของและผู้ใช้งานอย่างยิ่ง จนกระทั่งได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างดุลอำนาจ ประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีสูงจะสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธคุกคามฝ่ายที่มีขีดความสามารถต่ำกว่า เช่น ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สหรัฐฯ ใช้สู้รบกับอิรัก ได้แก่ ใช้ดาวเทียมถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนกำลังของอิรักได้อย่างถูกต้อง และจากข้อมูลเช่นนี้จะนำมาใช้กำหนดจุดโจมตี ซึ่งก็สามารถทำลายเป้าหมายทางทหารได้ตรงตามความต้องการ ในขณะที่พลเรือนอิรักได้รับความเสียหายน้อยมาก ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดทั้งวิธีการใช้ประโยชน์ และวิธีการต่อต้านหรือขัดขวางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่พัฒนาดังกล่าว นั้นก็คือ การก่อวินาศกรรมแนวใหม่ ที่น่าสนใจ คือ การเข้าแทรกแซงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการทำสงครามข่าวสาร
ถึงแม้การก่อวินาศกรรมจะเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มวิธีการขึ้นก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า วัตถุประสงค์ในการก่อวินาศกรรมยังคงเดิม โดยฝ่ายที่มีศักยภาพต่ำกว่ายังคงใช้แนวทางนี้ทำลายฝ่ายที่มีศักยภาพสูงกว่า จึงขอแบ่งวัตถุประสงค์ของการวินาศกรรมเป็น 2 ประเด็น คือ
- ประเด็นแรกคือ จุดมุ่งหมายเพื่อการทำลาย
1.1 ต่อวัตถุหรือข้อมูล คือ การทำลายล้าง สร้างความเสียหาย รบกวน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือก่อให้เกิดความชะงักงันในระบบงานหรือต่อผลประโยชน์ของฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันลักษณะของการทำลายสามารถแบ่งได้ดังนี้
1.1.1 รูปธรรม คือ ทำให้ทรัพย์สินและชีวิตสูญสลาย หรือทำให้สูญเสียศักยภาพในการทำงานของเครื่องมืออุปกรณ์ โดยทำให้เกิดความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้อีก แต่ยังคงรูปทรงเช่นเดิม หรือสร้างภาวะชะงักงันในระบบการทำงานของเครื่องมือเป็นการชั่วคราว ฉะนั้น เมื่อยุติการวินาศกรรมแล้ว ก็สามารถนำกลับมาใช้งานได้ตามเดิมอีกครั้ง โดยที่เครื่องมืออุปกรณ์เหล่านั้นไม่กระทบกระเทือนเสียหาย
1.1.2 นามธรรม ส่วนใหญ่เป็นการกระทำต่อระบบหรือข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่าย คือ เข้าไปทำลาย ปรับเปลี่ยน แทรกแซง รบกวน สร้างการชะงักงันชั่วคราว หรือสร้างความเสียหาย ทั้งระบบหรือบางส่วนของระบบงาน(Processing system) ระบบควบคุมการปฏิบัติงาน(Operating system) ระบบข้อมูลข่าวสาร(Information system) ระบบสื่อสารและเครือข่ายข้อมูล รวมทั้งเข้าไปเปลี่ยนแปลง แก้ไขตัวข้อมูลทั้งที่เป็นข้อมูลดิบและข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว
1.2 ต่อประชาชน คือ ทำให้เกิดความรู้สึกกดดัน ขัดแย้ง ขาดความเชื่อมั่นต่อฝ่ายปกครองหรือความปลอดภัยในการดำรงชีวิต สร้างความวุ่นวายหรือก่อความสับสนต่อการใช้งานอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่นำมาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งสร้างภาวะกดดันให้เกิดความรู้สึกว่าปราศจากความมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีพ
- 2. ประเด็นที่ 2 คือผลลัพธ์ที่เกิดหลังการวินาศกรรม
2.1 ระหว่างประเทศต่อประเทศ
2.1.1 ในภาวะสงคราม เป็นการทำลายศักยภาพทางทหาร จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน การทำลายยุทโธปกรณ์จึงมี 2 สภาพ คือ ทำลายแล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกเลย ส่วนอีกรูปแบบคือ เมื่อยุติการทำลาย ยุทโธปกรณ์ยังคงมีศักยภาพตามเดิม เช่น การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนการทำงานอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ จะเห็นได้จากการส่งสัญญาณชี้นำการบินให้กับเครื่องบินจากหอบังคับการการบิน หากเกิดกระแสแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความเข้มสูงแผ่เข้ามารบกวนแล้ว หอบังคับการไม่สามารถส่งสัญญาณใดๆ ได้จนกว่าการรบกวนนั้นจะยุติ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ สหรัฐฯ เคยนำมาใช้รบกวนการส่งสัญญาณวิทยุของฝ่ายอิรักในสงครามอ่าวเปอร์เซีย เป็นต้น
2.1.2 ในภาวะปกติ เป็นการบั่นทอนความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือเพื่อสร้างความเสื่อมเสียต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงต่อฐานะของรัฐบาล องค์กร กลุ่มบุคคล หรือตัวบุคคล ตลอดจนกิจการของภาคเอกชนด้วย
2.2 ระหว่างกลุ่มชนต่างศาสนาหรือต่างเชื้อชาติ
2.2.1 สามารถใช้จุดชนวนให้เกิดหรือขยายสภาวะความขัดแย้งให้กระจายตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาขัดแย้งจากความแตกต่างของศาสนาอยู่แต่เดิมแล้ว จะเห็นได้จากการก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างกลุ่มประชาชนที่นับถือศาสนาฮินดูกับศาสนาอิสลามในอินเดีย หรือกรณีการก่อวินาศกรรมในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนา ได้แก่ ฝ่ายกองทัพไออาร์เอ ที่นับถือศาสนาคริสตร์นิกายโรมันคาธอลิกที่ต้องการขับไล่การปกครองของอังกฤษ ซึ่งเป็นพวกที่นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ ออกไปจากไอร์แลนด์เหนือ
2.2.2 สามารถก่อให้เกิดลัทธิเชื้อชาตินิยมขึ้นในกลุ่มคนเชื้อชาติเดียวกัน ถึงแม้จะมีเขตอยู่อาศัยในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก จะเห็นได้จากกรณีการก่อวินาศกรรมเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ ของกลุ่มนายอุสมา บินลาเดน ซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯ ใช้กำลังทหารบุกอัฟกานิสถานผลจากกรณีดังกล่าวก่อให้เกิดประชามติสนับสนุนกลุ่มของนายลาเดนไปพร้อมกับการต่อต้านสหรัฐฯ จากชาวมุสลิมที่แพร่กระจายไปทั่วโลก