ก่อนการดำเนินการวางมาตรการการรักษาความปลอดภัยสถานที่ภายในแต่ละหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องสำรวจตรวจสอบ เพื่อให้ได้ทราบถึงข้อมูลข่าวสารด้านต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับจุดอ่อน ข้อขัดข้อง หรือความบกพร่องในด้านต่างๆ โดยจะนำมาศึกษาทบทวน เพื่อหาแนวทางวางมาตรการที่เหมาะสม รัดกุม และมีประสิทธิภาพ
การสำรวจตรวจสอบสำหรับการวางมาตรการการรักษาความปลอดภัยสถานที่ของหน่วยงานของรัฐนั้น ควรดำเนินการทุกครั้งที่มีการปรับเปลี่ยนที่ทำการ ก่อสร้างขึ้นใหม่ นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐควรกำหนดห้วงเวลา เช่น ทุก ๖ เดือน หรือ ๑ ปี ให้ส่วนงานรักษาความปลอดภัยทำการสำรวจตรวจสอบ เพื่อทบทวนหรือหาข้อบกพร่องของมาตรการที่กำหนดไว้ เพื่อสรุปเป็นรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณา เพราะโดยพื้นฐานในแต่ละหน่วยงานของรัฐย่อมมีความแตกต่างจากกันอยู่แล้ว ทั้งในด้านระดับความสำคัญ พื้นที่ตั้ง สภาพแวดล้อม และหน้าที่ความรับผิดชอบ
ขั้นที่หนึ่ง : รวบรวมและศึกษาข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบความเป็นจริงของข้อมูลข่าวสารจากรายงานที่ได้เคยจัดทำไว้แต่เดิม และข้อมูลเกี่ยวกับความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยสถานที่ที่เคยเกิด ทั้งภายในพื้นที่ทำการและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงโดยรอบของหน่วยงานของรัฐ เช่น รายงานเกี่ยวกับการโจรกรรม เหตุเพลิงไหม้ หรือเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานไม่ค่อยตระหนักถึงความ สำคัญของการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนสภาพสังคมและอุปนิสัยโดยรวมของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้ เช่น มีย่านชุมชนแออัดอยู่ใกล้เคียง หรือแหล่งลักลอบค้ายาเสพติด บ่อนการพนัน สถานเริงรมย์ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้นับว่ามีความสำคัญสำหรับนำมาใช้ประกอบการวางมาตรการการรักษาความปลอดภัยสถานที่ เพราะจะทำให้สามารถวางแผนการรักษาความปลอดภัยสถานที่ ให้รองรับภัยอันตรายได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ขั้นที่สอง : สำรวจพื้นที่และอาคารสถานที่ที่จะวางมาตรการการรักษาความปลอดภัยโดยละเอียด ในช่วงเวลาราชการและนอกเวลาราชการ รวมทั้งในช่วงเวลาวันหยุดราชการ เพื่อนำมาประกอบกับข้อมูลข่าวสารที่ได้จากขั้นที่หนึ่ง และนำมาประมวลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่มีความชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะนำมาใช้กำหนดรายละเอียดของมาตรการและกำหนดประเภทของเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการรักษาความปลอดภัยสถานที่ เพื่อให้รองรับกับระดับความสำคัญของหน่วยงาน สภาพ และเป็นมาตรการที่บุคคลสามัญสามารถปฏิบัติตามได้จริง อย่างไรก็ดี การวางมาตรการการรักษาความปลอดภัยจำเป็นต้องคำนึงถึงงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายที่เหมาะสมไว้ด้วย เพื่อไม่ก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่หน่วยงานของรัฐ
ขั้นที่สาม : จัดทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาสั่งการ โดยชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของการวางมาตรการการรักษาความปลอดภัยสถานที่ ตลอดจนจุดอ่อนและข้อบกพร่อง พร้อมทั้งวิธีแก้ไขภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหรือบรรเทาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะอื่นที่จะช่วยเสริมมาตรการ
อนึ่ง เมื่อหน่วยงานของรัฐประสงค์ให้มาตรการการรักษาความปลอดภัยสถานที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครบถ้วน สมบูรณ์ ผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับชั้นต้องให้ความสนใจและให้ความ สำคัญ การแต่งตั้งผู้รับผิดชอบโดยตรงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างชัดเจน ทั้งมอบอำนาจสั่งการด้านการรักษาความปลอดภัย โดยประกาศให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วถึงภายในหน่วยงาน เพื่อให้ผู้รับหน้าที่การรักษาความปลอดภัยสามารถควบคุม ดูแลให้การปฏิบัติตามมาตรการการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะในด้านสถานที่เป็นไปอย่างถูกต้องเรียบร้อย