การกำหนดระเบียบปฏิบัติเพื่อรักษาความปลอดภัยสถานที่ของแต่ละหน่วยงานของรัฐย่อมมีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ความจำเป็นที่เผชิญอยู่ ดังนั้น เพื่อให้การวางระเบียบปฏิบัติในแต่ละหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างเหมาะสม ครอบคลุมสภาพการณ์ และเพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติตามได้จริง หน่วยงานของรัฐควรพิจารณาจาก
- ภารกิจ หน้าที่ ความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐ
- สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่เผชิญอยู่
- จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
- งบประมาณสำหรับการรักษาความปลอดภัยและการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา
- ข่าวสาร สิ่งบอกเหตุ และการแจ้งเตือนภัย
- การติดต่อสื่อสารภายในหน่วยงาน และกับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ
- รายงานผลการสำรวจหรือการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยที่ได้เคยกระทำมา
ระเบียบปฏิบัติสำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยสถานที่
- ยามรักษาการณ์
– ดูแล สอดส่อง และตรวจตราความปลอดภัยภายในพื้นที่ของหน่วยงาน เพื่อให้พ้นจากการโจรกรรม การก่อวินาศกรรม การจารกรรม และอุบัติภัย ฯลฯ ที่อาจเกิดขึ้น และสร้างความเสียหายแก่อาคารสถานที่ ทรัพย์สินต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะการดูแล ป้องกันการลุกล้ำ บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ควบคุม
– ประจำการอยู่ที่ทางเข้า-ออกหลัก เพื่อตรวจสอบและอำนวยความสะดวกแก่บุคคล ยานพาหนะ และการนำสิ่งของต่างๆ เข้า-ออกในพื้นที่ควบคุมของหน่วยงาน
– ในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ ถ้ามีเหตุเป็นที่น่าสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำวันของหน่วยงานทราบ
– การรับ-ส่งหน้าที่ของยามรักษาการณ์ ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดรับส่งเวรประจำวัน ยามรักษาการณ์จะเข้าแทนหน้าที่กันโดยพลการมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานเสียก่อน หากยามรักษาการณ์ไม่สามารถรับหน้าที่ตามวันเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งได้ ต้องรายงานแจ้งเหตุขัดข้องให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานทราบล่วงหน้าก่อน
– ยามรักษาการณ์ต้องปฏิบัติงานร่วมกับเวรรักษาความปลอดภัยประจำวัน โดยปฏิบัติงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยแบ่งการเข้าเวรออกเป็น 4 ผลัดๆ ละ 6 ชั่วโมง และมียามรักษาการณ์เข้าเวรประจำวันผลัดละ 2 คนขึ้นไป ทั้งนี้ต้อง กำหนดช่วงเวลาพักผ่อนที่เพียงพอให้แก่ยามรักษาการณ์ด้วย
– จำนวนของยามรักษาการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาจาก
- จุดอ่อนของพื้นที่ตั้ง อาคารสถานที่ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ
- ระดับความสำคัญ และทรัพย์สินในความรับผิดชอบ
- จำนวนเส้นทางเข้า-ออกพื้นที่
- จำนวนและขนาดพื้นที่หวงห้าม
- งบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับยามรักษาการณ์
- จำนวนยานพาหนะที่เข้า-ออกในพื้นที่ และจำนวนผู้ติดต่อกับหน่วยงาน
- จำนวนเจ้าหน้าที่และผู้เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ของหน่วยงาน
ตัวอย่างเช่น ให้จัดยามรักษาการณ์อย่างน้อย 1 นายประจำอยู่ที่ประตูทางเข้า-ออกอาคารชั้นล่าง เพื่อดูแลการเข้า-ออกของบุคคลภายนอก หากเป็นอาคารร่วมเช่าพื้นที่และมีการจัดพื้นที่ควบคุม ต้องมียามรักษาการณ์ประจำทางเข้า-ออกเสมอ เพื่อดูแลให้ผู้ที่ผ่านเข้า-ออกปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัย
- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
2.1 เจ้าหน้าที่ส่วนงานรักษาความปลอดภัยประจำหน่วยงานของรัฐ
– ทำหน้าที่ควบคุม ดูแลการรักษาความปลอดภัยและผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงานในบริเวณพื้นที่ตั้งของหน่วยงานของรัฐ ให้ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยที่ได้กำหนดไว้
– ควบคุม ดูแลการปฏิบัติต่อผู้มาติดต่อที่เข้ามาในพื้นที่หรือปฏิบัติงานชั่วคราวในพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐ หลังจากยามรักษาการณ์ได้ส่งมอบบุคคลนั้นเข้ามาในพื้นที่ควบคุมแล้ว
– ให้คำแนะนำ ดูแล และพิจารณาแก้ไข ป้องกันปัญหาในกรณีได้รับแจ้งถึงเหตุน่าสงสัยหรือผิดสังเกตภายในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียงจากยามรักษาการณ์ เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่น ก่อนนำแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัย
2.2 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำวันจากส่วนงานอื่นภายในหน่วยงานของรัฐ
– ทำหน้าที่เวรรักษาความปลอดภัยประจำวันตามตารางเวรประจำวันที่ส่วนงานรักษาความปลอดภัยกำหนดไว้ในช่วงเวลานอกราชการและในวันหยุดราชการ โดยปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับข้อ 2.1
– ทำหน้าที่กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของยามรักษาการณ์ที่จัดให้มาประจำอยู่ส่วนงานของตน เนื่องจากเป็นส่วนงานที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ให้ทำหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัย
- เจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ดังนี้
3.1 วางมาตรการการรักษาความปลอดภัยและกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับให้ผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ ปฏิบัติตาม รวมทั้งจัดทำแผนฉุกเฉินป้องกันและบรรเทาเหตุ ร้ายหรืออุบัติภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับหน่วยงานของตน
3.2 จัดให้มีการฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน รวมทั้งจัดการฝึกอบรมทบทวนตามห้วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้เกิดความชำนาญและพร้อมที่จะเผชิญเหตุร้าย
3.3 ให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระเบียบปฏิบัติเพื่อการรักษาความลอดภัย สถานที่ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ
3.4 ประสานงานเกี่ยวกับมาตรการและระเบียบปฏิบัติกับส่วนงานต่างๆ ภายในหน่วยงานของตนและกับหน่วยงานของรัฐอื่น
- เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ ต้องทราบและปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
- ผู้ปฏิบัติงานประจำภายในพื้นที่หน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติเหมือนกับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ การเข้าสู่เขตหวงห้ามต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ส่วนงานรักษาความปลอดภัยประจำหน่วยงานของรัฐทราบและมีเจ้าหน้าที่ส่วนงานรักษาความปลอดภัยประจำหน่วยงานของรัฐมาดูแลตลอดระยะที่เข้าไปในเขตหวงห้ามด้วย
- ผู้เข้ามาปฏิบัติภารกิจภายในพื้นที่หน่วยงานของรัฐเป็นการชั่วคราว เมื่อเข้าสู่พื้นที่ควบคุม ต้องอยู่ในการดูแลและปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่ส่วนงานรักษาความปลอดภัยประจำหน่วยงานของรัฐแจ้งให้ทราบ และหากเข้าสู่เขตหวงห้าม ให้อยู่ในการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ส่วนงานรักษาความปลอดภัยประจำหน่วยงานของรัฐ จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ
- ผู้มาติดต่อ เมื่อเข้ามาในพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐแล้ว ต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติที่ยามรักษาการณ์แจ้งทราบ ก่อนเข้าไปติดต่อประชาสัมพันธ์
การจัดเวรประจำวันเบื้องต้น
สำหรับหน่วยงานที่มีความสำคัญควรจัดเวรประจำวัน เพื่อดูแลความเรียบร้อยตลอด 24 ชั่วโมง และในวันหยุดราชการ และเพื่อช่วยผ่อนภาระให้เจ้าหน้าที่ชาย สามารถให้เจ้าหน้าที่หญิงอยู่เวรประจำวันในช่วงเวลากลางวันได้ จำนวนเจ้าหน้าที่เวรแต่ละผลัดควรมี 2 นายขึ้นไป รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาความปลอดภัยประจำวัน ให้พิจารณาตามความสำคัญของหน่วยงานของรัฐ ผู้ทำหน้าที่เวรประจำวันประกอบด้วยหัวหน้าเวรรักษาความปลอดภัยประจำวันของหน่วยงาน ผู้ช่วยหัวหน้าเวร และพนักงานขับรถยนต์
แนวปฏิบัติเบื้องต้นในการควบคุมบุคคลที่เข้าสู่พื้นที่ของหน่วยงานของรัฐ
- จัดให้มีบัตรประจำตัวสำหรับเจ้าหน้าที่ภายในและบัตรแสดงตนสำหรับบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงาน ทั้งเป็นการประจำและชั่วคราว โดยให้บัตรมีความแตกต่างกัน เมื่อบุคคลใดจะผ่านเข้า-ออกพื้นที่ ต้องแสดงบัตรแสดงตนทุกครั้งกับยามรักษาการณ์ และติดหรือคล้องบัตรแสดงตนนี้ให้เห็นได้ชัดเจนตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ของหน่วยงาน
- บุคคลภายนอกซึ่งไม่มีบัตรแสดงตน ให้ติดต่อขอแลกบัตรแสดงตนกับยามรักษาการณ์ก่อนเข้ามาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เพื่อลงบันทึกประจำวันและให้อยู่ในห้องรับรองที่จัดไว้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องคอยดูแลมิให้บุคคลเหล่านั้นลุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ควบคุมของหน่วยงาน ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
- ในกรณีที่บุคคลภายนอกจะเข้าไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ส่วนงานในเขตหวงห้าม ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ผู้นั้นให้ออกมารับ ห้ามมิให้บุคคลภายนอกเข้าไปในเขตหวงห้ามโดยลำพังเด็ดขาด และให้เจ้าหน้าที่ผู้รับนั้นจะต้องรับผิดชอบดูแลบุคคลภายนอก ผู้นี้ไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นกิจ จึงนำมาส่งที่ประชาสัมพันธ์
ระเบียบเบื้องต้นในการควบคุมยานพาหนะ
ความเข้มงวดของระเบียบนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานของรัฐนั้นๆ มีความสำคัญอยู่ในระดับใด หากมีมิได้มีหน้าที่เกี่ยวกับนโยบายบริหาร ความมั่นคงของชาติ บุคคลสำคัญ หรือทรัพย์สินที่มีค่ายิ่งของชาติแล้ว ก็กำหนดระเบียบตามสมควร โดยมุ่งในด้านดูแลการผ่านเข้า-ออก ซึ่งปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับหน่วยงานของตนจากรายละเอียดดังนี้
- ส่วนงานรักษาความปลอดภัยต้องจัดทำบัตรยานพาหนะของหน่วยงาน เพื่อไว้แจกจ่ายให้ยานพาหนะที่จะเข้ามาในพื้นที่ของหน่วยงาน โดยแยกออกเป็น
1.1 บัตรกำกับยานพาหนะที่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่ควบคุมภายในหน่วยงานของรัฐ บัตรนี้จะทำเป็นแผ่นสติ๊กเกอร์ก็ได้ ให้ติดประจำไว้ที่กระจกด้านหน้า ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจน และควรให้สีบัตรกำกับแตกต่างกัน เพื่อระบุฐานะของผู้เป็นเจ้าของบัตร เช่น
– บัตรกำกับยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานใช้สีแดง
– บัตรกำกับยานพาหนะของบุคคลที่เข้ามาปฏิบัติงานประจำใช้สีเขียว
– บัตรกำกับยานพาหนะของหน่วยงาน ใช้สีเหลือง
1.2 บัตรกำกับยานพาหนะของบุคคลที่เข้ามาปฏิบัติงานชั่วคราวและผู้มาติดต่อ เป็นบัตรกำกับยานพาหนะชั่วคราว ควรมีขนาดใหญ่ เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน โดยยามรักษาการจะนำมาติดให้ที่กระจกด้านหน้า หลังจากได้ติดต่อแจ้งความประสงค์และดำเนินการตามระเบียบ เพื่อขอเข้ามาติดต่อในพื้นที่แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นการติดต่อและจะออกจากพื้นที่ จึงมาส่งคืน
- จัดยามรักษาการณ์ประจำช่องทางเข้า-ออก อย่างน้อยแห่งละ 2 นาย เพื่อทำหน้าที่
2.1 ควบคุมการเข้า-ออกของยานพาหนะ สำหรับยานพาหนะของส่วนราชการอื่นหรือของบุคคลภายนอก ที่จะเข้ามาในบริเวณหน่วยงาน ถ้าไม่มีบัตรกำกับยานพาหนะติดอยู่ ให้ยามรักษาการณ์แจ้งขอให้นำบัตรประจำตัวของผู้มาติดต่อแลกบัตรกำกับยานพาหนะชั่วคราว โดยยามรักษาการณ์ติดบัตรกำกับยานพาหนะชั่วคราวไว้ที่กระจกด้านหน้ายานพาหนะของผู้มาติดต่อก่อน เข้าจอดพักในบริเวณที่กำหนดไว้ให้
2.2 เมื่อยานพาหนะที่ไม่มีบัตรกำกับยานพาหนะหรือมีพฤติการณ์เป็นที่น่าสงสัย ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือยามรักษาการณ์มีอำนาจสอบถาม ตรวจตรา หรือดำเนินการไปได้ตามควรแก่กรณี และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัยทราบ
- ในช่วงเวลาที่อยู่ในภาวะตื่นตัว การผ่านเข้า-ออกของยานพาหนะผู้มาติดต่อทุกคัน ให้ยามรักษาการณ์จัดทำบันทึกหลักฐาน ดังนี้
- วัน เวลาเข้า
- ชื่อ-นามสกุลของคนขับและผู้โดยสาร
- เลขทะเบียน และลักษณะของยานพาหนะ
- ลักษณะและจำนวนสิ่งของที่นำเข้า-ออก
- วัตถุประสงค์ในการเข้าพื้นที่วัน เวลาออก
เหตุผลที่ดำเนินการ
– การติดบัตรกำกับยานพาหนะ จะช่วยให้ยามรักษาการณ์ที่ประตูทางเข้า-ออก สามารถสังเกตเห็นและแยกประเภทของยานพาหนะที่เข้า-ออกพื้นที่ได้สะดวกขึ้น
– ช่วยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและยามรักษาการณ์ตรวจตรายานพาหนะที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ควบคุมได้ง่ายขึ้น
แนวปฏิบัติเบื้องต้นในการนำเครื่องมืออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์มาควบคุมบุคคลและยานพาหนะในพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐ
- ติดตั้งระบบควบคุมการเข้า-ออกอัตโนมัติที่ประตูเข้า-ออกอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นเขตหวงห้าม ผู้ที่จะผ่านเข้าไปในเขตนี้จะต้องมีบัตรแสดงตนประจำตัว บัตรนี้ส่วนงานรักษาความปลอดภัยจะเป็นผู้ออกให้ และต้องมีระเบียบควบคุมบัตรแสดงตนดังกล่าว ซึ่งออกเป็นคำสั่งหรือเป็นระเบียบภายในหน่วยงาน
- ตรวจสอบบุคคลและสัมภาระที่นำผ่านเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมด้วยเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์ เช่น เครื่อง FOX-RAY เป็นเครื่องเอ็กซ์เรย์แบบพกพา ใช้ตรวจสัมภาระที่อาจซ่อนพรางวัตถุระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัย เครื่องตรวจโลหะแบบมือถือหรือแบบประตูเดินผ่าน ใช้ตรวจอาวุธหรือโลหะต้องสงสัย การนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้งาน ให้พิจารณาจากสถานการณ์แวดล้อมและข่าวสารการคุกคาม เพราะนอกจากมีราคาสูงแล้ว ต้องมีการดูแลซ่อมบำรุงตามห้วงเวลา เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อีกประการหนึ่งการตรวจสอบด้วยเครื่องมือจะต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งการตรวจสอบยังต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ 1 นายจะทำการตรวจสอบผู้มาติดต่อได้ทีละคน ซึ่งจะทำให้ความสะดวกในการผ่านเข้า-ออกหน่วยงานลดลงมาก
- การใช้โทรทัศน์วงจรปิดควบคุมการผ่านเข้า-ออกหน่วยงาน และตรวจตราการเคลื่อนไหวในพื้นที่ควบคุมหรือบริเวณภายนอกที่ตั้งของหน่วยงาน ในปัจจุบันนิยมนำระบบนี้มาใช้งาน แต่ควรพิจารณาถึงขีดความสามารถของระบบและจุดทำการติดตั้ง เพราะจะช่วยเสริมระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น
- ระบบกล้องโทรทัศน์แบบปรับมุมได้ จะทำให้เห็นภาพเป็นมุมกว้างดีกว่าระบบตัวกล้องคงที่ เพราะเห็นภาพได้เฉพาะจุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณการจัดซื้อและบำรุงรักษา
- จุดติดตั้งควรอยู่ในจุดกำบัง เพื่อให้สังเกตเห็นได้ยากและป้องกันการทำลาย
- การติดตั้งไม่ควรดำเนินการอย่างเปิดเผย เพราะหากเป็นที่รับทราบหรือสังเกตเห็นได้แล้ว คนร้ายจะหาทางหลบซ่อนหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นจากรัศมีทางจับภาพ
มาตรการป้องกันอัคคีภัย
- เจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัย ต้องวางแผนเตรียมรับอัคคีภัย โดยแบ่งหน้าที่กลุ่มปฏิบัติออกเป็น กลุ่มเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกลุ่มเจ้าหน้าที่ขนย้ายทรัพย์สินและเอกสารข้อมูล
- กำหนดห้วงเวลาการฝึกซ้อมและมีการทบทวนเป็นระยะๆ ให้แก่กลุ่มปฏิบัติ เพื่อให้มีความพร้อมเผชิญเหตุก่อนที่เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยจะมาถึง การอบรมและฝึกซ้อมจะให้ความรู้เกี่ยวกับ
- ประเภทของเพลิง
- เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการดับเพลิง
- การติดต่อสื่อสาร แผนผังอาคารและบริเวณ
- ที่ตั้งและหมายเลขโทรศัพท์ของสถานีดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยในบริเวณใกล้เคียง
- แผนการดับเพลิงของหน่วยงานของรัฐ
- ติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยอัตโนมัติ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาให้มีความพร้อมใช้งานตลอดเวลา