แนวทางปฏิบัติ : กรณีโทรศัพท์ลึกลับหรือถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์
โทรศัพท์ลึกลับหรือการข่มขู่ทางโทรศัพท์ มักมุ่งที่จะทำให้เราเสียขวัญ หรือก่อความรำคาญ หากสามารถวิเคราะห์ที่มาของโทรศัพท์นั้นได้ จะช่วยให้สามารถทราบร่องรอยและเป็นประโยชน์ในการสืบสวน เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไปได้ แต่โดยทั่วไปผู้ที่ได้รับโทรศัพท์ประเภทนี้มักจะเกิดความกลัวและรีบวางหูโทรศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิด
แนวทางปฏิบัติ
- จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องบันทึกเสียงไว้ให้พร้อมเสมอ และต่อเครื่องโทรศัพท์พ่วงไว้ให้ผู้อื่นร่วมฟังได้ด้วย
- พยายามชวนผู้ที่โทรศัพท์มา ให้พูดต่อไปเรื่อย ๆ นานเท่าที่จะทำได้
- พยายามพิสูจน์ทราบจากเสียงที่ได้ยินมาว่า ผู้ที่โทรศัพท์มานั้นเพศอะไร อายุประมาณเท่าใด สำเนียงการพูดเป็นอย่างไร ฯลฯ
- ประเมินสภาพทางจิตใจของผู้ที่โทรศัพท์มาว่าเป็นคนอย่างไร สติสมประกอบหรือไม่
- พยายามสอบถามให้รู้ถึงความมุ่งหมาย หรือความตั้งใจในการโทรศัพท์มาขู่ หรือให้รู้ว่าเป็นภัยคุกคามประเภทใด
- พยายามจดบันทึกรายละเอียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาทิ วันที่ เวลา โทรมาจากตู้สาธารณะหรือส่วนตัว เป็นต้น
- พยายามฟังเสียงอื่น ๆ ประกอบเท่าที่สามารถได้ยินจากทางโทรศัพท์ เช่น เสียงรถไฟ เสียงเรือ เสียงเครื่องจักร เสียงเพลง เสียงสัตว์ ฯลฯ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนต่อไป
- เมื่อวางโทรศัพท์แล้ว ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที โดยเฉพาะถ้าเป็นการ ขู่วางระเบิด ดังนี้
8.1 หมายเลขโทรศัพท์ 191
8.2 กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก. ตปพ. บช.น.)หมายเลขโทรศัพท์ 0 2243 1256
8.3 ต่างจังหวัด แจ้งสถานีตำรวจภูธร
แนวทางปฏิบัติ : กรณีถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์ว่าจะก่อวินาศกรรม
กรณีขู่ว่าจะก่อวินาศกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นขู่ทางโทรศัพท์ว่าจะวางระเบิดอาคารสถานที่ ซึ่งจากสถิติจะมีการวางระเบิดจริง ๆ เพียงประมาณไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แต่เป็นกรณีที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนและยุ่งยากอย่างมาก เพราะมีการวางระเบิดไว้จริง ๆ หากผู้ใดรับโทรศัพท์มีความตื่นเต้นมากเพียงใดยิ่งจะทำให้ไม่ได้รับข้อมูลเท่าที่ควร และการตัดสินใจจะทำได้ยากยิ่งขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการตรวจค้นทุกครั้งที่มีการขู่
แนวทางปฏิบัติ
- ผู้ที่ได้รับโทรศัพท์ขู่ว่าจะมีการวางระเบิด ต้องทำใจให้สงบ อย่าตื่นเต้น และรีบจัดเตรียมการบันทึกข้อมูลทันที
- ปล่อยให้ผู้โทรศัพท์ขู่พูดไปเรื่อย ๆ อย่าขัดจังหวะ
- พยายามจับความให้ละเอียด
- ถ้าทำได้พยายามพ่วงโทรศัพท์ไว้ให้ผู้อื่นร่วมฟังได้ด้วย หรือเปิดเครื่องบันทึกเสียง ถ้ามีเตรียมไว้
- ถ้าผู้โทรศัพท์ขู่มีทีท่าจะพูดสนทนาด้วย ให้รีบฉวยโอกาสชวนสนทนาทันที และพยายามซักถามหาข่าวในประเด็นต่อไปนี้
5.1 วางระเบิดที่ไหน
5.2 เวลาเท่าไรจะระเบิด
5.3 ทำไมจึงวางระเบิดไว้ที่นั้น
5.4 วางระเบิดไว้เมื่อเวลาเท่าไร จะวางได้ด้วยวิธีอะไร จะระเบิดขึ้นได้อย่างไร - พยายามชวนคุยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้กลวิธีดังต่อไปนี้
6.1 พยายามให้ผู้โทรศัพท์ขู่รู้สึกว่าเราสนใจฟังคำของเขา
6.2 ถ้าผู้โทรศัพท์รู้สึกโกรธ ไม่พอใจ เจ็บใจต่อตัวบุคคล หน่วยราชการ หรือองค์การ พยายามพูด พยายามเห็นอกเห็นใจ และพยายามซักถามให้ได้สาเหตุของความไม่พอใจให้ชัดเจน ซึ่งอาจจะช่วยสืบหาตัวผู้พูดโทรศัพท์ได้ภายหลัง
6.3 พยายามให้ผู้โทรศัพท์ขู่พูดให้มากกว่าที่เขาตั้งใจ ด้วยการให้พูดทวนซ้ำหรือพูดยั่วให้โกรธ ถามเขาว่าต้องการให้ช่วยทำอะไรบ้าง ยิ่งพูดนานเท่าไรก็จะทำให้ ผู้โทรศัพท์ขู่ต้องผิดพลาดมากขึ้น เปิดเผยข้อเท็จจริงหรือตัวเองมากขึ้น ความรู้สึกของผู้รับโทรศัพท์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะช่วยในการตัดสินใจของผู้รับผิดชอบสถานการณ์ว่าการโทรศัพท์ขู่นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่
- จัดเตรียมแบบฟอร์มไว้บันทึกรายงานการโทรศัพท์ขู่ไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้สะดวกยิ่งขึ้น แบบฟอร์มควรประกอบด้วยข้อความต่อไปนี้
7.1 วัน เวลา ที่รับโทรศัพท์
7.2 เครื่องโทรศัพท์ที่ใช้โทรศัพท์ขู่เป็นหมายเลขภายใน ภายนอก หรือสาธารณะ ถ้าสามารถบอกได้
7.3 เสียงของผู้โทรศัพท์ขู่ เป็นชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ ฯลฯ
7.4 น้ำเสียงของผู้โทรศัพท์ขู่ ดัง ค่อย เสียงสูง ต่ำ หรือดัดเสียง ฯลฯ
7.5 วิธีพูด เร็ว ช้า รัว ตะกุกตะกัก ฯลฯ
7.6 ภาษาที่ใช้ หยาบคาย ธรรมดา หรือมีการศึกษา ฯลฯ
7.7 สำเนียง เป็นคนภาคไหน จังหวัดอะไร หรือเป็นคนต่างประเทศ ฯลฯ
7.8 สภาพจิตใจและอาการที่แสดงออกขณะพูด เยือกเย็น โกรธ มั่นคง หวั่นไหว ฯลฯ
7.9 เสียงที่แทรกเข้ามาในโทรศัพท์เป็นเสียงอะไร โรงงาน เครื่องจักร ยวดยาน ดนตรี เสียงสัตว์ เงียบ ฯลฯ
7.10 เนื้อเรื่องที่สนทนากันโดยละเอียด รวมทั้งลักษณะการขู่ที่อาจมีลักษณะแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ
- จัดทำรายงานทันทีหลังจากรับโทรศัพท์ขู่ แล้วรีบเสนอผู้บังคับบัญชา หรือผู้รับผิดชอบสถานการณ์ อย่าเพิ่งแพร่งพรายกับผู้อื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้เกิดเหตุแตกตื่น และเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขสถานการณ์
- ผู้บังคับบัญชา หรือผู้รับผิดชอบสถานการณ์ รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้เชี่ยวชาญวัตถุระเบิด
แนวทางปฏิบัติ : กรณีพบวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นวัตถุระเบิด
หากพบวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นวัตถุระเบิด ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- อย่าแตะต้อง และห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปใกล้วัตถุต้องสงสัยนั้น
- กั้นบริเวณที่พบวัตถุต้องสงสัยนั้นไว้
- นำยางนอกรถยนต์วางครอบวัตถุต้องสงสัย โดยวางซ้อน 3-4 ชั้น
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเร็วที่สุด และคอยพบชี้แจงรายละเอียด
ในกรณีที่พบอุปกรณ์การก่อวินาศกรรม ปรากฏว่าแน่ชัดแล้ว ถ้าเป็นอุปกรณ์ในการก่อวินาศกรรมด้วยไฟ ผู้ที่พบเห็นจะจัดการแก้ไขไม่ให้เกิดเพลิงได้ก็ควรจะเข้าจัดการเสีย แต่ถ้าเป็นวัตถุระเบิด ผู้ที่จะจัดการต่อระเบิดจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ และมีประสบการณ์ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ หาหนทางให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินให้มากที่สุด ด้วยความเยือกเย็น มีสติ ไม่ตื่นเต้น โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที
- ออกจากเขตอันตรายโดยเร็ว และพยายามร่วมมือกับบุคคลอื่น ๆ กันมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตอันตราย ประมาณ 100 เมตร เป็นอย่างน้อย
- ปิดไฟฟ้า ท่อแก็ส ท่อเชื้อเพลิง ที่เข้าไปสู่เขตอันตราย
- ถ้ามีกระสอบทรายให้วางไว้โดยรอบ สูงเกิน 1 เท่าของความสูงของระเบิด แต่อย่าใช้กระสอบทรายทับดินระเบิด จะทำให้แรงระเบิดสูงขึ้น ถ้ามีการระเบิดหรือมีเครื่องช่วยลดแรงระเบิดอื่น ๆ เช่น ยางรถยนต์เก่า ๆ ให้ครอบระเบิดไว้สัก 3-4 ชั้น
- ถ้ามีเวลาควรเคลื่อนย้ายวัตถุติดไฟและวัตถุเล็ก ๆ อื่น ๆ ออกจากบริเวณใกล้เคียง แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงเชือก ลวด หรือสิ่งใดที่มีลักษณะโยงไปสู่วัตถุระเบิด อย่าดึง อย่าแตะต้อง
- อย่าแตะต้อง หรือกู้ระเบิดเองเป็นอันขาด ให้รอผู้ชำนาญมากู้ระเบิด
แนวทางปฏิบัติ : กรณีพัสดุภัณฑ์หรือจดหมายระเบิด
พึงระลึกไว้เสมอว่า พัสดุภัณฑ์หรือจดหมายที่เราได้รับนั้น อาจเกิดระเบิดขึ้นได้เมื่อแกะออกหรือเปิดออก กล่องของขวัญหรือจดหมายที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครนำมาส่งให้ เมื่อใดไม่ควรยกหรือเคลื่อนย้ายเป็นอันขาด เพราะอาจจะเป็นกล่องระเบิดหรือจดหมายระเบิดก็ได้
กล่องระเบิดหรือกล่องของขวัญระเบิด มักจะมีน้ำหนักมากเกินขนาดของกล่องที่ควรจะเป็น และน้ำหนักของปลายกล่องทั้งสองข้างมักไม่เท่ากัน เพราะต้องบรรจุดินระเบิดไว้ด้านใดด้านหนึ่ง การยกหรือเคลื่อนย้ายกล่องอาจทำให้เกิดระเบิดขึ้นได้ หากให้วิธีจุดระเบิดด้วยการยกกล่องขึ้น อาจใช้หูฟังว่าภายในกล่องมีเสียงเดินของนาฬิกาหรือไม่ หรือใช้เชือกยาว ๆ ลากกล่อง หากไม่ระเบิด จึงยกหรือเคลื่อนย้ายนำไปไว้ในที่โล่งแจ้ง รอให้ผู้ชำนาญพิสูจน์ว่าไม่ใช่กล่องระเบิด
จดหมายระเบิดที่เคยพบมาแล้วมีขนาดซองประมาณ 8 x 5 x ¼ นิ้ว น้ำหนัก 2-3 ออนซ์
การสังเกต กรณีที่พัสดุภัณฑ์หรือจดหมายจัดส่งมาทางไปรษณีย์
- จ่าหน้าซอง สังเกตว่ามีชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งอยู่หน้าซองหรือไม่ หากเป็นจดหมายที่เราไม่คาดคิดมาก่อนควรสงสัยไว้ก่อน
- ลายมือ หรือตัวพิมพ์ สังเกตดูว่าเป็นภาษาต่างประเทศหรือตัวหนังสือที่เราคุ้นเคยมาก่อนหรือไม่
- ความสมดุลของน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักของกล่องหรือจดหมายไม่สมดุลกัน เช่น หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากผิดปกติ ควรตั้งเป็นข้อสงสัยไว้ก่อน
- น้ำหนัก ถ้ากล่องหรือจดหมายนั้นมีน้ำหนักมากผิดปกติเมื่อเทียบกับขนาดของกล่องหรือซองแล้ว ควรสงสัยไว้ก่อน
- มีรูที่ซองจดหมายหรือห่อกล่อง รูที่กล่าวนั้นอาจเป็นรูที่เกิดจากการซ่อนเส้นลวดหรือสายไฟฟ้าไว้ภายในก็ได้
- รอยเปื้อนหรือรอยด่างต่าง ๆ อาจเกิดมาจากคราบน้ำมันของดินระเบิด
- กลิ่น วัตถุระเบิดบางชนิดจะมีกลิ่นของสารที่ใช้ทำระเบิด
- ความรู้สึก ในกรณีซองจดหมายอาจรู้สึกได้ด้วยการสัมผัส เพราะจดหมายธรรมดามักจะเป็นเพียงแผ่นกระดาษพับไว้ แต่ถ้าจดหมายนั้นมีของแข็ง เช่น แผ่นกระดาษแข็ง แผ่นไม้ หรือแผ่นโลหะ ควรระวังไว้ก่อนว่าอาจเป็นจดหมายระเบิดได้
แนวทางปฏิบัติ
เมื่อสงสัยว่าพัสดุภัณฑ์หรือจดหมายที่ได้รับ อาจเป็นพัสดุภัณฑ์หรือจดหมายระเบิด ควรปฏิบัติดังนี้
- นำจดหมายหรือกล่องที่น่าสงสัยนั้นไปวางไว้ในที่โล่งแจ้ง และให้ห่างตัวอาคารมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ให้ผู้คนออกไปจากบริเวณนั้นให้หมดทันที
- แจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบแล้วโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ชำนาญการกู้ระเบิด โดยเคร่งครัด
ข้อห้าม
- อย่างอ หรือดัดซองจดหมาย หรือกล่อง หรือห่อของนั้น
- อย่าเปิดจดหมาย หรือกล่อง หรือห่อของนั้น รวมทั้งอย่าตัดเชือกที่ผูกอยู่ด้วย
- อย่านำไปล้างหรือแช่น้ำ
- อย่าเขย่า หรือกระแทก
- อย่านำไปเก็บไว้ในตู้เก็บเอกสาร
ข้อแนะนำทั่วไป
- ในกรณีที่ได้รับจดหมายขู่หรือสิ่งอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันให้ส่งสิ่งที่เราได้รับพร้อมทั้งซองให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทันที
- อย่ารับของขวัญ หรือห่อของจากบุคคลที่เราไม่รู้จัก หรือสิ่งของที่ส่งมาให้เราโดยที่ไม่ได้สั่ง
- อย่าให้คนส่งของเข้ามาในบ้าน
- อย่าปล่อยให้มีการนำส่งพัสดุมาวางทิ้งไว้หน้าประตูหรือหน้าต่าง โดยยังไม่มีผู้รับ
- ตรวจพัสดุสิ่งของที่ได้รับอย่างระมัดระวังก่อนที่จะเซ็นรับของ
- บอกผู้ที่จะส่งจดหมายหรือสิ่งของมาให้เรา ให้เขียนชื่อ ที่อยู่ ไว้บนห่อของด้านนอก หรือที่ซองจดหมายด้วย
- ในกรณีที่มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่บริการ เช่น บุรุษไปรษณีย์ คนส่งนม ตลอดจนพนักงานนำส่งอื่น ๆ ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าปกติ
- ชี้แจงให้บุคคลในบ้านทราบถึงข้อควรระวังดังกล่าวมาแล้วด้วย
แนวทางปฏิบัติ : กรณีพัสดุภัณฑ์หรือจดหมายอาวุธชีวภาพ (โรคแอนแทรกซ์)
มีการนำสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์ บรรจุในซองจดหมายส่งให้บุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้ติดเชื้อทางการหายใจ ทำให้เกิดผลกระทบทางจิตวิทยา สังคม และเศรษฐกิจมากกว่าการคุกคามชีวิตและสุขภาพ เนื่องจากการน้ำเชื้อโรคแอนแทรกซ์มาทำเป็นอาวุธสงครามนั้น เป็นกรรมวิธีที่ยุ่งยาก จะต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ
โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) หรือโรคกาลี เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อบาซิลลัส แอน ทราซิล เชื้อนี้เมื่อถูกกับอากาศจะสร้างสปอร์ ซึ่งทนทานอยู่ในดินได้นานหลายปี โรคแอนแทรกซ์พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะโค กระบือ แพะ แกะ สุกร ส่วนใหญ่ติดต่อมาถึงคนทางบาดแผลที่ผิวหนังขณะสัมผัสซากสัตว์ หรือโดยการกินเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อโรคนี้ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ พบน้อยที่จะติดโดยการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าสู่ปอด ประเทศไทยยังไม่เคยมีผู้ป่วยติดทางการหายใจ และการระบาดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว มักมีสาเหตุมาจากโค กระบือ แพะ ที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
อาการของโรคในคน แบ่งได้เป็น 3 แบบ
- โรคแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง จะเกิดตุ่มคันคล้ายถูกแมลงกัดภายใน 2-3 วัน หลังสัมผัสเชื้อ และอีก 1-2 วันต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสแล้วแตกออกเป็นแผล ตรงกลางแผลมีสีดำ รอบ ๆ บวมแดงคล้ายถูกบุหรี่จี้
- โรคแอนแทรกซ์ระบบทางเดินอาหาร จะมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาจถ่ายเป็นเลือด ผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ทั้งสองแบบนี้ หากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเร็วจะมีผลการรักษาดี
แนวทางปฏิบัติ
- อย่าเปิดจดหมายหรือพัสดุไปรษณีย์นั้น
- อย่าเขย่าหรือสูดดม
- ควรสวมถุงมือยาง และผ้าปิดจมูก ปาก และนำวัตถุต้องสงสัยใส่ถุงพลาสติก ปิดผนึกอย่างมิดชิดไม่ให้มีรอยรั่ว
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ
- ส่งวัตถุต้องสงสัยให้กับสถานีตำรวจ เพื่อตรวจสอบลงบันทึกหลักฐานและส่งต่อหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อตรวจหาเชื้อต่อไป
กรณีมีการเปิดกล่องหรือซองวัตถุโดยบังเอิญ หรือวัตถุแตกฉีกขาดโดยอุบัติเหตุ และพบว่ามีฝุ่นหรือแป้ง ควรปฏิบัติดังนี้
- วางวัตถุลงอย่างระมัดระวัง อย่าโยนเพราะจะทำให้ฟุ้งกระจาย ปิดห้องที่พบวัตถุให้มิดชิด
- รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาดำเนินการเก็บวัตถุต้องสงสัยตามขั้นตอน
- ทำความสะอาดบริเวณปนเปื้อนฝุ่นแป้งจากวัตถุต้องสงสัย (ควรสวมถุงมือยางและสวมผ้าปิดจมูก ปาก ขณะทำความสะอาด) โดยล้างด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอก แล้วล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก ๆ ให้สะอาด หากล้างด้วยน้ำไม่สะอาด ควรใช้น้ำยาโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ (เช่น น้ำยาไฮเตอร์ หรือน้ำยาคลอรอกซ์) ราดให้ทั่วบริเวณเปื้อน ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วเช็ดออกให้หมดด้วยผ้าชุบน้ำ
- รีบอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่