ลักษณะของการระเบิด
ลักษณะของการระเบิดนับเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนการเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุระเบิด เพราะการระเบิดคือผลลัพธ์ที่เกิดกับสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการทำลาย
- การระเบิด หมายถึง แรงอัดที่เกิดขึ้นจากการกระทำ ณ จุดหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อสสารที่อยู่ตรงจุดนั้นและที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้สสารนั้นเกิดการแตกหรือปริออกจากกัน ทั้งยังครอบคลุมถึงแรงอัดที่เกิดปฏิกิริยาการเผาไหม้ของสสารอีกด้วย ซึ่งการเผาไหม้มาจาก 2 องค์ประกอบ คือ การทำปฏิกิริยาระหว่างสสารด้วยกัน และระหว่างสสารกับออกซิเจนอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นความร้อน ในบางกรณียังก่อให้เกิดก๊าซที่มีแรงดันขึ้นด้วย
- พลังงานที่เกิดจากการระเบิดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านพาณิชย์และการทหาร สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
2.1 การระเบิดในลักษณะของ explosion คือ การเพิ่มความดันอย่างรุนแรงและรวดเร็วในพื้นที่จำกัด สาเหตุที่เกิดมาจากสารที่มีคุณสมบัติในการระเบิดตีกระทบกัน หรือได้รับพลังงานกระตุ้นจากภายนอก เช่น ความร้อน หรือเกิดจากปฏิกิริยาเคมีอย่างรวดเร็ว ที่ทำให้เกิดความร้อนจากภายในออกมา และอาจให้ก๊าซที่มีปริมาณมาก การระเบิดในลักษณะนี้จะสร้างความเสียหายได้น้อยกว่าการระเบิดในลักษณะของ detonation
2.2 การระเบิดในลักษณะของ detonation คือ การสันดาปที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดความกดดันและอุณหภูมิสูง ซึ่งการสลายตัวของสารภายใต้ความดันสูง และเมื่อความดันถูกปล่อยผ่านวัตถุต่างๆ ด้วยความเร็วสูงกว่าความเร็วของเสียง จะสามารถทำลายวัตถุเหล่านั้นได้ การระเบิดในลักษณะนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ก๊าซออกซิเจนช่วยการลุกไหม้
- รูปแบบการจุดระเบิด แบ่งออกเป็น
3.1 การจุดระเบิดที่เกิดจากปฏิกิริยาจากการเผาไหม้อย่างรวดเร็ว(deflagrated) การระเบิดรูปแบบนี้เกิดจากการเผาไหม้ ส่วนใหญ่เกิดจากวัตถุระเบิดแรงต่ำ (low-order explosives) โดยมีออกซิเจนในบรรยากาศเป็นส่วนเสริมหรือเร่งให้พื้นที่ความเสียหายขยายวงมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากการสันดาปหรือการทำปฏิกิริยาทางเคมีของสารกับออกซิเจนในอากาศ ตามปัจจัยดังนี้
- อัตราส่วนระเบิด(explosive limit) การระเบิดที่เกิดขึ้นจากปริมาณความหนาแน่นของไอจากสารชนิดใดชนิดหนึ่งที่ปนอยู่ในอากาศ ซึ่งมีเพียงพอที่จะเกิดการเผาไหม้กับออกซิเจน ฉะนั้นเมื่อใดที่อัตราส่วนของไอจากสารมีปริมาณและอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว จะเกิดระเบิดขึ้นทันที เช่น การปล่อยให้ เอธิลแอลกอฮอล์ระเหยออกจากภาชนะที่บรรจุ หรือให้เกิดไอของกรดน้ำส้มปนอยู่ในอากาศคิดเป็นร้อยละ 4 ของพื้นที่ในห้องที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด จากทั้ง 2 วิธีนี้จะเกิดระเบิดขึ้นได้จากคุณสมบัติ เฉพาะของสารดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีฝุ่นละอองของสารเคมีบางชนิด ได้แก่ กำมะถัน ปุ๋ยยูเรีย แป้งข้าวโพด หากปล่อยให้ฟุ้งกระจายในอากาศ เมื่อได้ปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสมก็จะเกิดการระเบิดเช่นกัน
- อุณหภูมิติดไฟอัตโนมัติ (autolightion temperature) สารบางชนิดมีจุดวาบไฟต่ำ ฉะนั้นในอุณหภูมิที่เหมาะสมก็จะลุกติดไฟได้เอง เช่น ไอของบิวเทนเป็นสารที่มีความพร้อมที่จะติดไฟในอุณหภูมิปกติ ฟอสฟอรัสเป็นสารที่ติดไฟในทุกสถานะของอุณหภูมิภายในห้องทึบ หรือทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงร้อนหรือแตะกับสิ่งที่มีอุณภูมิสูงจะติดไฟทันที
- การรับและสะสมความร้อนไว้ภายในอย่างต่อเนื่อง (Susceptibility to spontaneous heating) สารบางชนิดมีคุณสมบัติสะสมความร้อนไว้ในตัว ถ้าไม่สามารถถ่ายเทความร้อนออกไปได้แล้ว ก็จะเกิดการสันดาปขึ้นได้ เช่น ผงถ่านคาร์บอน นุ่น ขี้เลื่อย ผงสบู่
3.2 ปฏิกิริยาจากการจุดระเบิด (detonated) คือ การสันดาปตามข้อ 2.2 อย่างรวดเร็วมากภายในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดความกดดันและอุณหภูมิสูงขึ้น มีอัตราความเร็วของแรงอัดอากาศ (shock wave*) ตั้งแต่ 1,800 – 9.000 เมตรต่อวินาที (meter per second: mps)ขึ้นไป ซึ่งถือเป็นอัตราความเร็วที่สูงกว่าวิธีการเผาไหม้อย่างรวดเร็วถึงสามเท่า การจุดระเบิดนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ
- การจุดระเบิดด้วยแรงอัด (shock to detonation) คือ วิธีการทำให้เกิดแรงอัด โดยการใช้เชื้อปะทุเป็นตัวจุดดินระเบิดผ่านชนวนฝักแค ซึ่งชนวนฝักแคมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับเชื้อปะทุที่จะนำมาใช้งาน เช่น เชื้อปะทุไฟฟ้าเป็นตัวจุดระเบิดของดินระเบิดหลัก โดยใช้วงจรไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่เป็นตัวให้พลังงาน หรือใช้เครื่องจุดระเบิดทางกลไก ได้แก่ แบบ M1 (ไดนาไมท์ทหาร) เป็นอุปกรณ์จุดระเบิดที่จะทำงาน เมื่อเกิดการกระแทกจากแรงอัดระเบิดที่เกิดจากบริเวณใกล้เคียง หรือประเภทถอดสลักนิรภัย เพื่อให้เกิดประกายไฟไปทำการจุดระเบิด ได้แก่ แบบ M1A1 (Bangalore torpedo) ถอดสลักนิรภัยแล้ว จะเกิดการเสียดสีเป็นประกายทำให้เกิดการจุดระเบิด แบบ M1A2 (Bangalore torpedo) ที่ถอดสลักนิรภัยแล้ว เข็มแทงชนวนจะพุ่งกระแทกจอกกระทบแตกออก ทำให้เกิดประกายไฟจุดระเบิดขึ้น
- การจุดระเบิดด้วยการเผาไหม้ (burning to detonation) เกิดจากการเผาไหม้อย่างรวดเร็วจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นแรงอัดอากาศ เช่น ดินระเบิดแบบไดนาไมท์แท่ง จะเกิดระเบิดเมื่อสายชนวนที่ต่อไว้ไหม้ไฟ
* shock wave คือ ลักษณะของอากาศที่ไหลภายในบริเวณแคบๆ เกิดภาวะความกดและอุณหภูมิสูงขึ้น หรือบริเวณที่ความเร็วของอากาศเปลี่ยนจากต่ำกว่าเสียง(subsonic) เป็นเหนือเสียง(supersonic)
ประเภทของการระเบิด
- การระเบิดของปฏิกิริยาเคมี(Chemical explosives) การระเบิดจากสารประกอบทางเคมี การจุดระเบิดกระทำได้ด้วยการก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีหรือการลุกไหม้ของสารประกอบทางเคมี ที่ส่งผลให้มีการแตกตัวของสารประกอบนั้น และจะให้ก๊าซและความร้อนจำนวนมาก นอกจากนี้ การจุดระเบิดของสารแบบนี้ยังเกิดต่อเนื่องจากปฏิกิริยาจากปัจจัยอื่นๆ ได้อีก เช่น การหยดน้ำยาเครื่องปรับอากาศลงบนด่างทับทิม จะเกิดปฏิกิริยา ต่อเนื่องจนเกิดการระเบิดและการลุกไหม้ขึ้นได้
- การระเบิดจากภายในโครงสร้าง(Physical explosives) การระเบิดเกิดขึ้นจากการสร้างความดันภายในภาชนะ โดยให้เกิดการถ่ายเทความดันแต่น้อยหรือไม่มีการระบายออก จนกระทั่งความดันนั้นขยายตัวกลายเป็นแรงอัดทำให้โครงสร้างของภาชนะนั้นแตกหรือปริขึ้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากการระเหยของน้ำที่อยู่ในภาชนะนั้น หรือเกิดจากการให้ความร้อนในระดับอุณหภูมิที่สม่ำเสมอโดยไม่จำกัดเวลา ตัวอย่างเช่น แรงอัดระเบิดที่เกิดจากหม้อน้ำของเครื่องจักรอุตสาหกรรม หรือหม้ออัดความดันในครัว
- การระเบิดที่เกิดจากการแตกตัวของนิวเคลียร์(Nuclear explosives) เป็นวิธีการที่นำมาใช้สร้างอาวุธนิวเคลียร์ เกิดจากการแตกตัวทางนิวเคลียร์หรืออีกประการหนึ่ง คือเกิดทั้งจากแตกตัวและรวมตัวของนิวเคลียร์ผสมกัน ส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยพลังงานจากภายในนิวเคลียร์เป็นจำนวนมหาศาล และไม่สามารถควบคุมได้พลังงานนี้จะให้กัมมันตรังสีที่เป็นความร้อนแผ่กระจายไปโดยรอบ สามารถสลายวัตถุและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อยู่ในรัศมีการระเบิดนั้น
ผลลัพธ์เบื้องต้นจากการระเบิด
- การระเบิดจะก่อให้เกิดแรงเป็นคลื่นกระจายออกโดยรอบอย่างรวดเร็วทันที พร้อมกันนี้จะเกิดความร้อนขึ้นด้วย ความร้อนนี้จะลอยตัวขึ้น ทำให้อากาศโดยรอบ (เนื่องจากอากาศโดยรอบมีอุณหภูมิต่ำกว่า) ไหลกลับเข้าสู่จุดที่เกิดการระเบิด แล้วม้วนตัวไหลกลับไปซ้อนทับและรวมตัวกับคลื่นระเบิดที่กระจายในชั้นแรก แรงที่เกิดจากการรวมตัวนี้จะมีความรุนแรงกว่า (คลื่นระเบิด) เดิม และทำลายสิ่งที่อยู่ในบริเวณนั้นทั้งหมด
- การระเบิดไม่ว่าจะเกิดจากวัตถุระเบิดแรงสูงหรือวัตถุระเบิดแรงต่ำจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ดังนี้
2.1 แรงระเบิด คือ คลื่นที่กระจายออกโดยรอบ และตรงจุดที่เกิดระเบิดจะเกิดหลุมหรือยุบเป็นรอยบุบลงไป ส่วนขนาดของหลุมหรือรอยบุบนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัตถุระเบิด สำหรับลักษณะของแรงระเบิดก็ขึ้นอยู่ชนิดของวัตถุระเบิดด้วย ซึ่งแบ่งเป็น
- แรงผลักดันหรือยกตัว รัศมีของแรงระเบิดจะกระจายออกโดยรอบทำลาย ส่วนใหญ่เป็นแรงระเบิดจากวัตถุระเบิดแรงต่ำ แต่วัตถุระเบิดแรงสูงก็ให้แรงระเบิดลักษณะนี้ได้เช่นกัน เช่น TNT, ANFO(Ammonium Nitrate Fuel Oil) เป็นต้น
- แรงฉีกกระชากหรือตัดขาด รัศมีของแรงระเบิดจะกระจายเป็นมุม 45 องศา ส่วนใหญ่เป็นแรงระเบิดจากวัตถุระเบิดแรงสูง เช่น RDX , Composition-4 , SEMTEX เป็นต้น
2.2 ความร้อน เพลิงไหม้ และก๊าซพิษ แรงระเบิดที่เปลี่ยนเป็นแรงอัดดันขยายตัวอย่างรวดเร็วจะก่อให้เกิดความร้อนและการลุกไหม้ โดยเฉพาะในกรณีที่ตัววัตถุระเบิดเป็นเชื้อเพลิง เช่น ปุ๋ยแอมโมเนีย ซึ่งการลุกไหม้นี้ หากสามารถทำให้ขยายผลเป็นเพลิงไหม้ลุกลามต่อไป จะยิ่งให้ผลการทำลายต่อเนื่องจากการระเบิดอีกด้วย สำหรับการลุกไหม้ของดินระเบิดจะให้ก๊าซพิษ เนื่องจากตัวดินระเบิดเป็นสารเคมี การเข้าไปยังจุดเกิดเหตุที่ควันระเบิดยังไม่เจือจางจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ การระเบิดที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของไอหรือฝุ่นละอองที่หนาแน่นก็เป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตเช่นกัน
2.3 การแตกกระจายหรือเกิดรอยแตกร้าว จากคลื่นแรงระเบิดที่กระจายไปโดยรอบอย่างรวดเร็วและมีความรุนแรง จะทำให้วัตถุที่มีความทึบที่อยู่ตรงจุดระเบิดแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กๆ และพุ่งกระเด็นด้วยความเร็วไปในรอบทิศทาง ส่วนวัตถุทึบที่อยู่บริเวณโดยรอบใกล้เคียงนั้น ลักษณะของการแตกกระจายจะขึ้นอยู่กับวิธีการวางระเบิดว่าเป็นการวางระเบิดจากภายใน (เจาะช่องหรือรูเพื่อใส่วัตถุระเบิด) หรือภายนอก (วางทาบหรือผูกติด) เป้าหมาย เพราะแรงระเบิดจะลดความรุนแรงลงตามระดับความหนาทึบของวัตถุ ดังนั้นการแตกอาจไม่เป็นลักษณะชิ้นเล็กๆ แต่จะหลุดกะเทาะจากส่วนที่ติดอยู่ออกเป็นชิ้นใหญ่ๆ หรือเกิดการปริแตกหรือเป็นรอยร้าวแยกออกจากกัน
2.4 สำหรับการก่อวินาศกรรมจะมุ่งผลการระเบิดเพื่อการทำลายเพียงประการเดียว ซึ่งลักษณะของผลการทำลายแบ่งได้ดังนี้
- ให้แรงอัดระเบิด(blast)
- ให้สะเก็ดระเบิด(fragmantation)
- ให้ทั้งแรงอัดระเบิดและสะเก็ดระเบิด
- เกิดเพลิงไหม้(incendiary)
- ให้แรงอัดระเบิดและเกิดเพลิงไหม้(blast incendiary)
- แรงระเบิดทำให้เชื้อโรคหรือสารเคมีพิษฟุ้งกระจายในอากาศ(bio-chemical)
- ระเบิดนิวเคลียร์
ประเภทของวัตถุระเบิด
- วัตถุระเบิด (explosives) คือ สารที่จัดเตรียมขึ้นเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีอย่างรวดเร็ว หากสารนั้นได้รับความร้อน ถูกเสียดสี กระทบ กระแทก สั่นสะเทือน หรือใช้สารกระตุ้นอื่นที่เหมาะสมกับชนิดของสารระเบิด จนสารระเบิดนั้นแปรเปลี่ยนสถานะสู่การเผาไหม้ เกิดความร้อนและก๊าซเป็นจำนวนมาก โดยเทียบปริมาณของความร้อนและก๊าซที่เกิดขึ้นจะมีจำนวนมากกว่าปริมาณของตัวสารหลายเท่า ซึ่งพลังที่ได้จากการแปรสภาพนี้สามารถนำมาใช้งานสำหรับการทำลาย ตัดย่อย หรือแบ่งแยกวัตถุอื่นๆ ที่มีความแข็งแกร่งให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ การแปรสภาพของวัตถุระเบิดยังอาจก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ถึงแม้จะเป็นการระเบิดในพื้นที่โล่งแจ้งก็ตาม เช่น หลังการระเบิดจะเกิดการฟุ้งกระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนาแน่นจำนวนมาก ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในรัศมีอาจเสียชีวิตเพราะขาดอากาศเพิ่มขึ้นอีกเหตุหนึ่ง เป็นต้น วัตถุระเบิดมีทั้งที่เป็นสารที่มีคุณสมบัติเป็นวัตถุระเบิดหรือเป็นสารที่นำมาผสมขึ้นเพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นวัตถุระเบิด อย่างไรก็ตาม วัตถุระเบิดถือเป็นสิ่งที่มีอันตรายอย่างยิ่ง โดยแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างและให้พลังทำลายไม่เท่ากัน การที่จะบรรลุผลสูงสุดในการใช้วัตถุระเบิดนั้น ผู้ใช้ต้องมีความรู้ในการนำไปใช้ พร้อมทั้งเลือกเป้าหมายที่จะทำลายให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของวัตถุระเบิดที่นำใช้
- ส่วนประกอบของวัตถุระเบิด
2.1 ดินระเบิด สามารถแบ่งคุณสมบัติได้ 2 ประเภท คือ
- ดินระเบิดแรงต่ำ คือ การเปลี่ยนสถานะของดินระเบิดจากมวลสารไปสู่ก๊าซอย่างสม่ำเสมอและช้าๆ อัตราความเร็วในการลุกไหม้(Velocity of Detonation : VoD) โดยวัดจากเครื่องพารามิเตอร์ ตั้งแต่ 400-1,000 เมตร(1,312-3,280 ฟุต)ต่อวินาที ส่วนประกอบของวัตถุระเบิดแรงต่ำนี้ไม่ซับซ้อนสามารถจัดทำหรือดัดแปลงจากวัสดุ สารเคมี และอุปกรณ์ประกอบจากที่มีอยู่ทั่วไปได้ด้วยตนเอง ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายต่ำ อย่างไรก็ดี ถึงแม้แรงระเบิดของวัตถุระเบิดแรงต่ำจะให้ผลการทำลายล้างและสร้างความเสียหายที่มิได้รุนแรงมากนัก แต่สามารถใช้สังหารหรือทำลายสิ่งก่อสร้างได้ในวงจำกัด การนำใช้ด้วยตัววัตถุระเบิดแรงต่ำเองนั้นเหมาะที่จะใช้เพื่อสร้างความกดดันหวาดกลัวในพื้นที่เป้าหมายหรือข่มขู่ฝ่ายปกครอง เพราะมิได้สร้างความเสียหายรุนแรงแก่ประชาชนหรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องมากนัก
- ดินระเบิดแรงสูง คือ การเปลี่ยนสถานะของดินระเบิดจากมวลสารไปเป็นก๊าซอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราความเร็วในการลุกไหม้ตั้งแต่ 1,000-8,500 เมตร(3,280-27,888 ฟุต)ต่อวินาที ผลของการระเบิดนี้จะก่อให้เกิดพลังงานกระจายตัวออกไปโดยรอบ ในรูปของแรงตัดขาดหรือฉีกกระชาก ทำให้มวลสารที่อยู่ตรงจุดระเบิดหรือใกล้เคียงเกิดการแตกหักจนถึงย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ หรือฝุ่นผง
ดินระเบิดแรงสูงส่วนใหญ่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการสู้รบทางทหาร โดยผลิตจากโรงงานให้มีความพร้อมใช้งาน สภาพปกติจะไม่เป็นอันตรายใดๆ จนกว่าจะนำไปประกอบกับอุปกรณ์ประกอบระเบิดอื่นจึงจะพร้อมใช้งาน เช่น RDX, SEMTEX, PETN เป็นต้น
2.2 เชื้อปะทุ(blasting cap) ทำหน้าที่จุดดินระเบิด และด้วยตัวของเชื้อปะทุเองสามารถจุดระเบิด หากได้รับแรงบีบหรือประกายไฟ เชื้อปะทุให้แรงอัดระเบิดเพียงพอที่จะทำลายสิ่งที่อยู่ติดได้ เนื่องจากส่วนประกอบของเชื้อปะทุเป็นดินระเบิดแรงสูงจำนวนไม่มากนัก มีความพร้อมใช้งานเพราะผลิตสำเร็จมาจากโรงงาน แบ่งออกเป็นเชื้อปะทุสำหรับใช้ในทางทหารและทางพาณิชย์
- เชื้อปะทุไฟฟ้า คือทำการจุดระเบิดด้วยระบบไฟฟ้าที่ต่อเป็นวงจรจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย
- เชื้อปะทุชนวน ทำการจุดระเบิดจากประกายไฟที่มาจากชนวน
2.3 ชนวน (detonator) ตัวก่อความร้อนหรือประกายไฟด้วยวิธีต่างๆสำหรับจุดเชื้อปะทุ และทำหน้าที่ถ่วงเวลาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการจุดระเบิด
- ชนวนฝักแคเวลา คือ สายชนวนจุดด้วยไฟ ต้องนำมาประกอบกับเชื้อปะทุก่อน แล้วประกอบกับดินระเบิดจึงจะใช้งานได้
- ชนวนไฟฟ้า คือเส้นลวดที่ผ่านกระแสไฟฟ้าให้ร้อนจนเส้นลวดขาดเกิดประกายไฟ ชนวนแบบนี้ประกอบสำเร็จรูปมากับเชื้อปะทุ เมื่อนำไปประกอบกับดินระเบิดจะเป็นวัตถุระเบิดพร้อมใช้งานทันที
นอกจากนี้ยังสามารถจุดประกายไฟได้ด้วยปฏิกิริยาเคมีให้เกิดการจุดระเบิดได้อีกด้วย
- คุณสมบัติของสารเคมีหรือวัสดุบางชนิดสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบวัตถุระเบิดได้ เมื่อเกิดการระเบิดจากสารเคมีหรือวัสดุเหล่านี้นอกจากทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงเสริมแล้ว ยังก่อให้เกิดผลต่อเนื่องกระจายออกไปโดยรอบพร้อมแรงระเบิด ซึ่งผลดังกล่าวนี้พอแบ่งออกเป็น
3.1 วัตถุระเบิดที่ก่อให้เกิดก๊าซ(gas explosion) ผลการระเบิดที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่ให้ความร้อนจากภายใน หรือเกิดจากพลังงานจากภายนอก เช่น การกระทบความร้อน การเสียดสี ที่เพิ่มความกดดันให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในพื้นที่จำกัด จนเป็นผลให้เกิดก๊าซที่มีความหนาแน่นจำนวนมาก แต่อยู่ในพื้นที่จำกัด เมื่อก๊าซพยายามกระจายตัวออก จึงกลายเป็นแรงอัดหรือดันอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทั้งยังทำให้อุณหภูมิในพื้นที่นั้นสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย ก๊าซที่เกิดเมื่อเกิดระเบิด (เพราะวัตถุระเบิดเป็นสารเคมี)และก๊าซที่เกิดขึ้นต่อเนื่องภายหลังจะเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิต เช่น การระเบิดที่เกิดจากปฏิกิริยาของดินระเบิดที่มีส่วนประกอบของกรดอะเซทีลีนหรือสารแคลเซียม คาร์ไบด์ เมื่อเกิดการแตกตัวของกรดหรือสารดังกล่าว เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากและฟุ้งกระจายไปโดยรอบพร้อมๆ กัน ซึ่งแรงระเบิดที่กระจายไปทำลายสิ่งของส่วนหนึ่งมาจากการกระจายของก๊าซนี้ หรือการระเบิดของก๊าซมีเธน ซึ่งด้วยคุณสมบัติของตัวเองก็เป็นเชื้อเพลิงอยู่แล้ว เมื่อก๊าซมีเธนกระจายตัวจะเกิดการลุกไหม้ไปพร้อมด้วย และจะให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในลักษณะเช่นเดียวกัน และด้วยคุณสมบัติของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความหนาแน่นจะเข้าแทนที่ก๊าซออกซิเจน ทำให้สิ่งมีชีวิตทุกประเภทที่อยู่ในบริเวณนั้น จะเกิดอาการหมดสติหรือเสียชีวิตเพราะขาดก๊าซออกซิเจนได้
3.2 วัตถุระเบิดที่ก่อให้เกิดไอ(vapor explosion) เกิดขึ้นจากความร้อนของการสลายตัวของมวลสารทั้งที่เป็นของเหลวหรือของแข็ง ไอนี้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าปริมาณสถานะเดิมที่เป็นของแข็งหรือของเหลวหลายเท่าตัว การกระจายตัวของไอก่อให้เกิดแรงอัดหรือแรงดันอย่างรุนแรง และขยายตัวออกไปโดยรอบอย่างรวดเร็ว เช่น การระเบิดของจากดินระเบิดที่มีส่วนประกอบของไนโตรเบนซิน(C6H5NO2) หรือไนโตรมีเธน(CH3NO2) ซึ่งต่างเป็นสารที่มีส่วนประกอบของไฮโดรเจน เมื่อเกิดปฏิกิริยา ไฮโดรเจนที่แตกตัวออกมาจะรวมตัวกับออกซิเจน เกิดเป็นละอองไอน้ำที่มีความหนาแน่นขึ้น
3.3 วัตถุระเบิดที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง(dust explosion) การระเบิดจะเกิดฝุ่นละอองที่มีความหนาแน่นขึ้นด้วย เช่น การระเบิดที่เกิดจากดินระเบิดที่มีส่วนประกอบของวัสดุที่เป็นกาก ได้แก่ ผงกาแฟ ถ่าน แป้งที่ได้จากพืช หรือปุ๋ย