ผู้อุทธรณ์ : นาง ก.
หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ : โรงพยาบาลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
อุทธรณ์เรื่องนี้ได้ความว่า นาง ก. ผู้อุทธรณ์ มีหนังสือลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๖ถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด และหนังสือลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ขอข้อมูลการรักษาพยาบาลของนายพนัส ธรรมเกตุ ซึ่งเป็นคู่สมรสที่ถึงแก่ความตาย เพื่อประกอบการขอรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตโรงพยาบาลอาจสามารถเสนอความเห็นต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดว่า ไม่อาจเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้อุทธรณ์ได้เพราะต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๕๐ และต่อมานายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดมีบันทึกท้ายคำขอผู้อุทธรณ์ฉบับลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เห็นชอบด้วยกับความเห็นของโรงพยาบาลอาจสามารถที่ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ผู้อุทธรณ์ผู้อุทธรณ์มีหนังสือ (ไม่ได้ระบุวันที่) เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ อุทธรณ์คำสั่งของโรงพยาบาลอาจสามารถที่ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายพิจารณาคำอุทธรณ์ คำชี้แจงของผู้อุทธรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจสามารถเหตุผลที่โรงพยาบาลอาจสามารถไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว
ข้อเท็จจริงสรุปความได้ว่า ผู้อุทธรณ์เป็นภรรยาของนาย ข. ซึ่งได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด โดยกรมธรรม์ระบุให้ผู้อุทธรณ์เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๕นาย ข. ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอาจสามารถซึ่งตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอาจสามารถกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมานาย ข.กลับไปรักษาตนเองที่บ้าน และเสียชีวิตในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๖ ผู้อุทธรณ์จึงขอข้อมูลการรักษาพยาบาลเพื่อประกอบการขอรับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันชีวิต ซึ่งตามกรมธรรม์ให้สิทธิประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรง ๗ ชนิด ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งด้วย เป็นเงิน ๒๐๐ เท่าของค่าชดเชยรายวัน การขอข้อมูลการรักษาพยาบาลเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจริง โดยมิได้ติดใจในเรื่องการรักษาพยาบาลของแพทย์แต่อย่างใด แต่โรงพยาบาลอาจสามารถปฏิเสธการเปิดเผยโดยให้เหตุผลว่าเป็นความลับของผู้ป่วย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจสามารถต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ การปฏิเสธดังกล่าวทำให้ผู้อุทธรณ์เสียประโยชน์ตามสิทธิที่ควรได้ตามสัญญาประกันชีวิตผู้อำ นวยการโรงพยาบาลอาจสามารถชี้แจงว่า นาย ข. เคยเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลอาจสามารถจึงมีข้อมูลการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลอาจสามารถ แต่กรณีนี้นาย ข.ไม่ได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอาจสามารถแต่เป็นการเสียชีวิตที่บ้านของผู้ป่วยเอง โรงพยาบาลอาจสามารถเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการเสียชีวิตจากการรักษาที่ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยมีความสงสัยในวิธีการรักษาของแพทย์ ประกอบกับในคำขอของผู้อุทธรณ์ระบุว่าต้องการข้อมูลการรักษาพยาบาลเพื่อประกอบการดำเนินเรื่องขอรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิต ซึ่งในการทำสัญญาประกันชีวิตนั้น ผู้ทำสัญญาคือนาย ข. มีเวลามากพอที่จะขอข้อมูลการรักษาพยาบาลของตนเพื่อส่งให้บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันชีวิตควรเร่งรัดการส่งเอกสารดังกล่าวเพื่อให้มีความครบถ้วนตามสัญญา แต่ทั้งนาย ข. และบริษัทประกันชีวิตก็มิได้ดำ เนินการขอข้อมูลการรักษาพยาบาลนั้นจนกระทั่งนาย ข. เสียชีวิต และผู้อุทธรณ์ซึ่งเป็นภรรยาได้มาขอข้อมูลการรักษาพยาบาลเพื่อประกอบการขอรับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขอข้อมูลการรักษาพยาบาลนั้น หากผู้ป่วยเป็นผู้ขอหรือมีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ขอ โรงพยาบาลอาจสามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอให้ได้ กรณีนี้นาย ข. ได้เสียชีวิตแล้ว ในทางแพ่งการมอบอำนาจต่างๆ ที่เคยทำไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็หมดสิ้นไปด้วย ประกอบกับมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติว่า “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”การเปิดเผยข้อมูลการรักษาพยาบาลของนาย ข. จึงอาจทำให้โรงพยาบาลอาจสามารถต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ดังกล่าวได้ ดังนั้น จึงไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ผู้อุทธรณ์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจสามารถชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการรักษาของแพทย์และมีการสอบข้อเท็จจริงหรือการสอบสวน หากแพทยสภาขอให้ส่งข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเพื่อประกอบการสอบสวน หรือในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลขอให้ส่งข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยไปเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ โรงพยาบาลอาจสามารถจะส่งข้อมูลข่าวสารให้กับบุคคลดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นเรื่องการสอบสวนเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรักษาของแพทย์ และเป็นการส่งข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายอื่น เพื่อให้ข้อร้องเรียนหรือข้อกล่าวหาได้รับการพิสูจน์คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารตามคำขอ คือ ใบตรวจรักษาผู้ป่วยนอก (OPD CARD) โรงพยาบาลอาจสามารถ ของนาย ข. วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๖ วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๖ และวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๖ รวม ๖ ฉบับ ผู้อุทธรณ์เป็นภรรยาของนาย ข. และต้องการข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการดำเนินเรื่องขอรับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันชีวิตของนาย ข. ที่ระบุให้ผู้อุทธรณ์เป็นผู้รับประโยชน์ สัญญาประกันชีวิตนั้นเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต ซึ่งจะมีผลเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต โดยสภาพของสัญญาประกันชีวิตจึงไม่เปิดช่องให้ผู้เอาประกันภัยขอข้อมูลการรักษา พยาบาลของตนได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เอาประกันภัยจะยื่นขอข้อมูลการรักษาพยาบาลของตนหลังจากที่ตนได้เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น การใช้สิทธิของผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของผู้อุทธรณ์ในกรณีนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการขอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพของบุคคลอื่น ตามนัยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพราะหากไม่ตีความมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในลักษณะเช่นนี้ก็จะมีผลให้ผู้อุทธรณ์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตไม่มีช่องทางที่จะได้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายได้เลย ซึ่งในกรณีนี้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ก็เปิดช่องให้ทายาทของผู้เสียชีวิตสามารถใช้สิทธิดำ เนินการแทนได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าในทางปฏิบัติเมื่อผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตได้ขอข้อมูลข่าวสารการเอาประกันภัยของผู้ตายก็มีโรงพยาบาลหลายแห่งให้ข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยซึ่งเสียชีวิตแล้วแก่ผู้เอาประกันภัยที่เป็นทายาท ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว จึงเห็นว่าข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพใบตรวจรักษาผู้ป่วยนอก (OPD CARD) ของโรงพยาบาลอาจสามารถ ของนาย ข. เป็นข้อมูลที่เปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย จึงวินิจฉัยให้โรงพยาบาลอาจสามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพใบตรวจรักษาผู้ป่วยนอก (OPD CARD) ของโรงพยาบาลอาจสามารถ ของนาย ข. พร้อมทั้งให้สำเนา
ที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์