ผู้อุทธรณ์ : นาง ก.
หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
อุทธรณ์เรื่องนี้ได้ความว่า นาง ก. ผู้อุทธรณ์ พนักงานบริหารงานทั่วไป ๗ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีบันทึกลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๖ ถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขอข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการดำเนินการ กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยตามมติคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
ความรับผิดทางละเมิด โดยผู้อุทธรณ์ขอเอกสารในสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด จำนวน ๕ รายการ คือ
๑. คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ที่ ๒๑๑/๒๕๕๓ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓
๒. สาเหตุหรือความเสียหายแก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผู้อุทธรณ์
๓. สำเนาการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มทำการสอบสวนจนถึงรายงานการสรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เสนอผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้ออกคำสั่งดังกล่าว
๔. รายละเอียดกรณีให้ผู้อุทธรณ์ต้องรับผิดชดใช้เงินที่ถูกยักยอกไปส่วนไหน สัดส่วนเท่าใด มีผู้ใดที่ต้องร่วมรับผิดชดใช้จำนวนเท่าใด ใช้เกณฑ์ใดเป็นตัวกำหนด
๕. เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องที่คณะกรรมการฯ นำมาใช้ประกอบการพิจารณาอันเป็นเหตุให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีคำสั่งที่ ๔๖๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหนังสือ ลับ ที่ ฝกม/๕๕๙ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม๒๕๕๖ ถึงผู้อุทธรณ์ ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยให้เหตุผลว่า เป็นข้อมูลข่าวสารที่ได้กำหนดชั้นความลับไว้ ประกอบกับเรื่องการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบและรอผลจากกระทรวงการคลังซึ่งยังไม่ยุติ
ผู้อุทธรณ์จึงมีหนังสือลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายได้พิจารณาคำอุทธรณ์ และเหตุผลในการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประกอบกับข้อมูลข่าวสารที่ขอให้จัดส่งมาแล้ว ทั้งได้รับฟังคำชี้แจงด้วยวาจาของผู้แทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และของผู้อุทธรณ์ด้วยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีคำสั่ง ที่ 211/2553 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกรณีเกิดเหตุทรัพย์สินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้สูญหายไปที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษเลียบแม่น้ำ และได้กล่าวหาผู้อุทธรณ์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษสุขสวัสดิ์ ว่ามีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ คือ คู่มือคุณภาพด้านการบริหารการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติงานคุณภาพ การเบิกจ่าย การจัดเก็บคูปองผ่านทางด่วนที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ อันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต่อมาการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีคำสั่ง ที่ ๔๖๖/๒๕๕๕ลงวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ ให้ผู้อุทธรณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเงิน 46,426.50 บาท ตามมติคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ผู้อุทธรณ์จึงขอข้อมูลข่าวสารตามรายการข้างต้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว แต่ได้รับการปฏิเสธ
ผู้แทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทยชี้แจงว่า เมื่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้รายงานผลการสอบสวนต่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทยนั้น การทางพิเศษแห่ง ประเทศไทยต้องรายงานไปยังกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาตรวจสอบและให้ความเห็นชอบก่อนออกคำสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ในกรณีผู้อุทธรณ์นั้น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคลาดเคลื่อน จึงเสนอผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยออกคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปในระหว่างที่ยังไม่ได้รับทราบผลการพิจารณาจากกระทรวงการคลัง ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะได้ยกเลิกคำสั่งที่ให้ผู้อุทธรณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวต่อไปและต่อมาการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแจ้งว่าได้มีคำสั่ง ลับ ที่ 249/2556 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวแล้วคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์มีคำขอ คือ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ที่ ๒๑๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓รายงานการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำชี้แจงของผู้แทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทยว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ยกเลิกคำสั่งที่ให้ผู้อุทธรณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว กรณีนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้อุทธรณ์เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดังกล่าว ประกอบกับการพิจารณาเรื่องความรับผิดทางละเมิดนั้นยังไม่เสร็จสิ้น โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้อุทธรณ์มีคำขอทั้งหมดจึงอาจมีผลกระทบต่อการพิจารณาของกระทรวงคลัง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำ เร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ตามมาตรา 15 (2)แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ในกรณีนี้จึงเห็นสมควรเปิดเผยเฉพาะข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ที่ ๒๑๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ แก่ผู้อุทธรณ์ ส่วนข้อมูลข่าวสารอื่นไม่เปิดเผยฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีคำ วินิจฉัยให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 พร้อมทั้งให้สำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์ ส่วนข้อมูลข่าวสารรายการอื่นให้ยกอุทธรณ์