ผมเห็นด้วยที่จะใช้ระบบ TLEC เพื่อลดปัญหาการจราจรและภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลายคนคิดว่า เอากล้องมาจับ เพราะอยากได้ค่าปรับเยอะๆ แต่เรากำลังหาวิธีที่จะควบคุมผู้ขับขี่ให้มีวินัยได้ตลอด 24 ชม. เพื่อลดปัญหาการจราจรลง…
ผ่านมากว่า 2 เดือนแล้ว นับจากช่วงค่ำของวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา เสียงระเบิดดังสนั่นขึ้นที่ศาลพระพรหม บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ เคยมีการชุมนุมนับครั้งไม่ถ้วน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 20 ราย และบาดเจ็บอีกนับร้อยคน ซึ่งหลักฐานสำคัญในการช่วยคลี่คลายประเด็นสำคัญในคดีดังกล่าว คือ กล้องวงจรปิด หรือ CCTV ที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ ภาพเส้นทางการหลบหนีของชายเสื้อเหลือง นับว่าเป็นประโยชน์ในการแกะรอยคนร้าย แต่การจับกุมตัวคนร้ายยังใช้เวลานาน เนื่องจากกล้อง CCTV ที่ติดอยู่บริเวณท้องถนน จับภาพไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ไม่สามารถระบุข้อมูลรวมไปถึงลักษณะรูปพรรณสัณฐานที่ชัดเจน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีแนวคิดที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของกล้องวงจรปิดให้ทันสมัย เพิ่มยิ่งขึ้น
ทางทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ ที่ปรึกษา สบ10 ในฐานะ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึง ประสิทธิภาพของระบบ “Traffic Laws Enforcement Camera” หรือเรียกสั้นๆ ว่า TLEC ที่จะนำมาควบคุมกล้อง CCTV ในเรื่อง การจราจร ว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายติดตั้งระบบการทำงานของกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำหน้าที่ตรวจจับการกระทำผิดกฎจราจรและฝ่าฝืนกฎหมาย ได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่าน และยังสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชม. ทำให้ประชาชนรักษาวินัยจราจร ปัญหาบนท้องถนนก็จะลดลงไปด้วย ที่สำคัญคือ ลดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชน แม้กระทั่งการออกใบสั่งของตำรวจ ประชาชนมักคิดว่า เจ้าหน้าที่จ้องจับผิด แต่หากใช้กล้อง CCTV เป็นตัวจับภาพแทน จะสามารถตรวจภาพย้อนหลังได้
พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ ที่ปรึกษา สบ10 ในฐานะ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“ถ้าใช้งานไปสักระยะหนึ่ง ประชาชนจะทราบว่า จุดไหนที่โดนกล้องบันทึก เมื่อผ่านจุดนั้นจะระวังมากขึ้น และระบบนี้ยังช่วยลดการกระทำผิดกฎหมายและอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี
ในเร็วๆ นี้ที่เรากำลังจะก้าวเข้าเป็นสมาชิกใน AEC ระบบนี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติเป็นอย่างมาก” พล.ต.อ.ประวุฒิ กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร 4 เผยว่า ทุกวันนี้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมีน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 5 เท่า สิ่งที่เราพบคือ ปัญหาด้านการใช้ดุลพินิจ และ ข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก พระราชบัญญัติจราจรทางบกจราจรมีหลายมาตราที่เป็นเรื่องของดุลพินิจ จึงเกิดการโต้เถียงในเรื่องลักษณะความผิด เมื่อมีตรวจสอบว่า ผิดพลาด อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ลดลง
ระบบ “Traffic Laws Enforcement Camera” หรือเรียกสั้นๆ ว่า TLEC จะมาควบคุมการทำงานของกล้อง CCTV ในเรื่อง การจราจร
ส่วน อัตราโทษค่าปรับ ตั้งแต่ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มีโทษค่าปรับอยู่ที่ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท เมื่อเทียบกับยุคที่ค่าเงินเฟ้อและค่าครองชีพในปัจจุบัน จำนวนเงินดูไม่มาก คนจึงไม่กลัวความผิด
“แท้จริงแล้วสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการ คือ ทำอย่างไรไม่ให้คนกระทำความผิด รักษากฎจราจร และฝ่าฝืนน้อยลง”
ฉะนั้นวิธีการตรวจสอบที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้ ควรเป็นแบบมาตรฐานที่มีการยอมรับอย่างสากล ใช้คนน้อยที่สุด และเปลี่ยนเป็นการเทคโนโลยีแทน ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก จึงสามารถช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลงทุนครั้งเดียว แต่ใช้ได้ตลอดไป ซึ่งตอนนี้ปัญหาหลักที่ประชาชนร้องเรียนคือ ด่านลอย หากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ต่อไปเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนประจำอยู่ตรงจุดสำคัญ หรือแยกหลักๆ เท่านั้น
พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร 4
“ผมเห็นด้วยที่จะใช้ระบบนี้ เพื่อลดปัญหาการจราจรและภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลายคนคิดว่า เอากล้องมาจับ เพราะอยากได้ค่าปรับเยอะๆ แต่เรากำลังหาวิธีที่จะควบคุมให้ผู้ขับขี่มีวินัยได้ตลอด 24 ชม. เพื่อลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
ทุกวันนี้รถใน กทม.เพิ่มปีละ 350,000-400,000 คัน ต่างกับถนนที่ใช้ระยะเวลาในการสร้าง 2 ปี ทั้งนี้ หากระบบขนส่งสาธารณะสามารถให้บริการได้อย่างเต็มระบบ ตำรวจก็คงเริ่มวางแนวทางจัดการรถยนต์ส่วนบุคคลอย่างจริงจัง” พ.ต.อ.เอกรักษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูกันว่า หากนโยบายนี้ถูกนำมาใช้จะเกิดประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด หรือนี่อาจเป็นนโยบายที่ต้องปฏิบัติ ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยกันแก้ไขภาพลักษณ์ของตำรวจ โดยเฉพาะงานจราจร ที่ต้องเน้นการบริการมากกว่าการจับกุม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เป็นผู้ปฏิบัติงานที่ใกล้ชิด และคอยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
หวังว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้จะเกิดประโยชน์อย่างมากกับผู้ใช้รถใช้ถนน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากมีสิ่งอำนวยความสะดวกมาช่วย ย่อมทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น.
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ 26 ต.ค. 2558 05:30