หลักการ
สืบเนื่องจากเหตุการณ์และสภาพที่เกิดจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านการบริหารงานของหน่วยงานรัฐบาล หลักการที่ต้องคำนึงถึง
1. สาเหตุที่ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงและการดำเนินการแก้ไขของหน่วยงาน เช่น การจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจารับทราบสาเหตุ-พยายามแก้ไปัญหาให้แก่ผู้ชุมนุมประท้วง
2. ผลและสภาพภายหลังดำเนินการเจรจา เช่น ลดความรู้สึกเผชิญหน้าระหว่างกันลงได้ หรือเพิ่มความรู้สึกขัดแย้งให้ทวียิ่งขึ้น
3. ประเมินสภาพของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น
3.1 ในชั้นต้นเป็นเพียงการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงขนาดย่อย
3.2 ต่อมากลุ่มผู้นำการประท้วงมีเป้าหมายและพยายามเคลื่อนไหวในรูปแบบการปลุกระดมและประกอบกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณที่ทำการประท้วง เพื่อกดดันหน่วยงาน
3.3 ผลจากข้อ 3.2 ทำให้มีประชาชนมาเข้าร่วมชุมนุมและยิ่งขยายตัวออกไป
3.4 การชุมนุมมีท่าทีที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ
3.5 ประเมินได้ว่าอาจกลายเป็นการเข้ายึดพื้นที่ตั้งหน่วยงาน หรือสถานที่ราชการ ในบริเวณใกล้เคียง หรือทำการปิดเส้นทางการจราจรโดยรอบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจเปรียบได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การก่อจลาจล ที่มุ่งทำลายชีวิตและทรัพย์สินของส่วนราชการ
4. ประเมินพื้นที่ตั้งของหน่วยงาน บริเวณโดยรอบ และพื้นที่ใกล้เคียงว่า ใกล้กับสถานที่สำคัญประเภทใดบ้างที่อาจเป็นหรือเป็นเป้าหมายของการชุมนุม ประท้วงต่อไปหรืออาจได้รับความเสียหาย ในกรณีที่การประท้วงขยายตัว เช่น พื้นที่ตั้งใกล้ทำเนียบรัฐบาล ตั้งใกล้กับโบราณสถาน เป็นต้น
ด้วยเหตุดังกล่าว หน่วยงานของรัฐจึงต้องเผชิญกับการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกระทำ เพื่อก่อกวน กดดัน หรือโจมตี รวมถึงการมุ่งทำลายล้าง
การวางมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่เป็นการเฉพาะเพิ่มขึ้นจึงเป็นความจำเป็น เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินที่มีสาเหตุจากการชุมนุมประท้วง เนื่องจากมาตรการรักษาความปลอดภัยเดิม ส่วนใหญ่จะเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันสถานที่จากการโจรกรรม จารกรรม การก่อวินาศกรรม และการป้องกันอัคคีภัย สำหรับมาตรการที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ มุ่งที่จะพิทักษ์รักษาบุคลากร ข้อมูลข่าวสาร และสถานที่ของหน่วยงานให้มีความเสี่ยงภัยหรือได้รับผลกระทบจากความเสียหายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
การประเมินสภาพการชุมนุม
การกำหนดแนวมาตรการการรักษาความปลอดภัยโดยรวมต่อกรณีที่เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการปฏิบัติงานภายในพื้นที่ตั้งของหน่วยงาน และมาตรการสำหรับทุกหน่วยงานย่อยภายในที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ให้มีการเตรียมพร้อมและสนับสนุนมาตรการรักษาความปลอดภัย พร้อมกับเตรียมแผนรองรับเป็นการภาย ใน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับมาตรการการรักษาความปลอดภัยในภาวะปกติของหน่วยงาน และจะได้นำมาใช้ประกอบในการจัดทำคู่มือการปฏิบัติต่อไป
การแบ่งระดับความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วงที่จะเป็นผลกระทบต่อหน่วยงาน
ผลกระทบที่จะเกิดจากสภาพการชุมนุมตามที่ได้กล่าวแล้วนี้ ได้กำหนดแนวทางของมาตรการการรักษาความปลอดภัย เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินที่มีสาเหตุจากการชุมนุมประท้วง โดยประเมินความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นออกเป็น 5 ระดับ การแบ่งระดับดังกล่าวไม่จำเป็นต้องกำหนดให้ครบทั้ง 5 ระดับ ทั้งนี้ให้ประเมินตามสภาพความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นหลัก ดังนี้
- ระดับ สีเขียว ยังไม่ก่อให้เกิดเหตุใช้ความรุนแรง
- ระดับ สีน้ำเงิน มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดเหตุใช้ความรุนแรง
- ระดับ สีแดง มีการใช้ความรุนแรงที่อาจรุกลามสู่ที่ตั้งของหน่วยงาน
- ระดับ สีเหลือง ใช้ความรุนแรงที่อาจรุกลามจนอาจเป็นภัยต่อที่ตั้งของหน่วยงาน
- ระดับ สีดำ เข้าทำลายที่ตั้งของหน่วยงานด้วยความรุนแรง
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นการป้องกัน ลดอัตราความเสี่ยงภัย และบรรเทาการสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของสำนักข่าวกรองแห่งชาติจากการชุมนุมประท้วงด้วยการใช้ความรุนแรง
- เพื่อกำหนดเป็นแนวทางการรักษาความปลอดภัยสำหรับข้าราชการ ลูกจ้าง และบุคคลอื่นที่เข้ามาปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ของหน่วยงาน
- เป็นการจัดแบ่งหน้าที่และเรียงลำดับการปฏิบัติภายในหน่วยงานเพื่อการรักษาความปลอดภัย และหน่วยงานย่อยภายในต้องรับทราบอย่างชัดเจน พร้อมทั้งถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
การเตรียมการเผชิญเหตุความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วง
1.การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์
1.1 การแบ่งกลุ่มเจ้าหน้าที่-บุคคล พร้อมกับแบ่งความรับผิดชอบในการเผชิญเหตุ ให้เป็นไปตามแผนเผชิญเหตุร้าย ซึ่งต้องนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งการ
การแบ่งกลุ่มเจ้าหน้าที่-บุคคล
1.1.1 กลุ่มผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่พิจารณาและตัดสินใจสั่งการตามระดับความรุนแรงของการชุมนุมประท้วงตามที่ได้กำหนดไว้
1.1.2 หัวหน้าหน่วยงานย่อยรับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย โดยทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัยประจำหน่วยงาน ทำหน้าที่สั่งการด้านการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่ตั้ง และควบคุมหน่วยงาน ดูแลการ ปฏิบัติตามมาตรการเผชิญเหตุความรุนแรงรวมทั้งแจ้งเตือนและเสนอแนะข้อคิดเห็นในการเผชิญเหตุต่อผู้บังคับบัญชา
1.1.3 ข้าราชการของหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย ทำหน้าที่ควบคุม ดูแลเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการรักษาความปลอดภัย และปฏิบัติตามการสั่งการของหัวหน้าของหน่วยงานตน และกลุ่มผู้บังคับบัญชา รวมทั้งรายงาน แจ้งเตือน และเสนอแนะข้อคิดเห็นในการเผชิญเหตุต่อหัวหน้าของหน่วยงานตน ตลอดจนดูแลให้ข้าราชการ ลูกจ้าง และผู้เข้ามาปฏิบัติงานให้ปฏิบัติตามมาตรการเผชิญเหตุความรุนแรง
1.1.4 หัวหน้าของหน่วยงานย่อยอื่นๆ (สำนัก/กอง/กลุ่มขึ้นตรงกับอธิบดี/หน่วยงานเทียบเท่ากอง) ทำหน้าที่แบ่งความรับผิดชอบและสั่งการข้าราชการภายในหน่วยงานของตน
1.1.5 ข้าราชการซึ่งทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัยความปลอดภัยประจำหน่วยงานย่อย ทำหน้าที่ตรวจตรา ดูแลข้าราชการ ลูกจ้างภายในสำนัก/กอง ให้ปฏิบัติตามมาตรการเผชิญเหตุรุนแรง
1.1.6 ข้าราชการ ลูกจ้างและผู้เข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยงาน ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการเผชิญเหตุรุนแรงอย่างเคร่งครัดและรายงานกรณีพบสิ่งผิดสังเกตตามลำดับขั้น
1.2 การกำหนดเขตพื้นที่ความรับผิดชอบในการเผชิญเหตุ โดยให้เป็นไปตามที่หน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย นำเสนอต่อหัวหน้าหน่วยงานย่อยอื่นๆ และร่วมกันปรับแก้ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละหน่วยงานย่อยนั้น
1.2.1 การรักษาความปลอดภัยพื้นที่โดยรวม ได้แก่ บุคคล ทรัพย์สิน อาคาร สิ่งก่อสร้าง และบริเวณ ทั้งหมดของหน่วยงานย่อยอยู่ในการควบคุม ดูแลของหัวหน้าหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย
1.2.2 การรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐ ให้รวมทั้งบุคคลและทรัพย์สินที่อยู่ในการควบคุม ดูแลของหัวหน้าหน่วยงานย่อยอื่นๆ ด้วย ส่วนการปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อเผชิญเหตุให้ถือปฏิบัติตามคำ ชี้แนะของหัวหน้าหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย
1.3 การควบคุมดูแลเครื่องมืออุปกรณ์เสริมการรักษาความปลอดภัย อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย
1.3.1 ตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์เสริมการรักษาความปลอดภัยที่ติดตั้งไว้แล้วให้มีความพร้อมใช้งาน
– ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด
– ระบบ access control ควบคุมการเข้า-ออกอาคารต่างๆ
– ระบบตรวจจับควันไฟและสัญญาณเตือนภัย ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และอุปกรณ์ดับเพลิงประเภทต่างๆ
1.3.2 ตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์และซ่อมบำรุงเครื่องกีดขวางและระบบแสงสว่าง
– กำแพง/รั้ว และการให้แสงสว่างตามแนวกำแพง/รั้ว บริเวณโดยรอบ และอาคาร
– เครื่อง/ระบบควบคุมการเข้า-ออกประตูทางเข้าทั้งสำหรับบุคคลและยานพาหนะ รวมทั้งประตูทางเข้า-ออกอาคารต่างๆ
– ทางออกฉุกเฉิน
– ระบบติดต่อสื่อสารทั้งภายในหน่วยงานและกับหน่วยงานภายนอก
1.3.3 ตรวจตราและพิจารณาข้อบกพร่อง พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์เสริมสมรรถนะและสร้างเครื่องกีดขวางเพิ่มเติมให้เหมาะสม และสอดคล้องกับงบประมาณของหน่วยงาน
1.4 การพิจารณากำหนดสภาพของพื้นที่ต่างๆ อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย โดยรับการสนับสนุนข้อคิดเห็นจากหน่วยงานย่อยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
1.4.1 จุดเสี่ยงภัย เช่น ปั้มน้ำมัน ที่ตั้งถังก๊าซ ถุงบรรจุเอกสารทำลายแล้ว ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี
1.4.2 จุดอ่อนที่ต้องควบคุมดูแล เช่น ประตูทางเข้า-ออก อาคารที่ติดกับแนวกำแพง อาคารไม้ที่อาจเป็นเชื้อเพลิง
1.4.3 กำหนดสถานที่ปฏิบัติงานสำรอง เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานภายหลังที่ต้องถอนตัวออกจากพื้นที่ตั้งของหน่วยงาน
1.4.4 จุดปลอดภัยสำหรับให้ผู้บังคับบัญชาพักรอ ก่อนเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ปฏิบัติงานสำรอง
1.4.5 จุดรวมพลของหน่วยงานก่อนอพยพออกจากพื้นที่ทางประตูฉุกเฉิน
1.5 การกำหนดมาตรการเผชิญเหตุความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วง โดยแบ่งออกเป็น
1.5.1 มาตรการหลักในความรับผิดชอบของหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งนำเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการ โดยกำหนดแผนตามระดับความเสี่ยงภัย 5 ระดับ
1.5.2 มาตรการของหน่วยงานย่อยอื่นๆ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง
2) กลุ่มที่ไม่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการชุมนุม
ในการจัดทำมาตรการของหน่วยงานย่อยอื่นๆ จะต่างกัน แต่ละหน่วยงานย่อยต้องกำหนดขึ้น เพื่อให้มีความเหมาะสมกับระดับความสำคัญของตน แต่ละหน่วยงานย่อยให้จัดทำแผนรองรับ ได้แก่ การจัดแบ่งหน้าที่ให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างภายในหน่วยงานย่อย แผนการจัดเก็บทรัพย์สิน เอกสาร แผนการขนย้ายและทำลายเอกสารภายในหน่วยงานย่อย โดยหัวหน้าหน่วยงานย่อยสั่งการ และเจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัยประจำหน่วยงานย่อยควบคุม ดูแล ทั้งนี้ต้องสอดคล้องและรองรับกับมาตรการหลักด้วย
1.6 การชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และการเผชิญความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วง อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะดำเนินการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นหน่วยกลาง ทำหน้าที่ประสานงานให้แต่ละสำนักจัดทำแผนให้สอดคล้องกัน
1.7 การอบรมและการฝึกซ้อมเผชิญเหตุความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วงให้แก่สำนัก/กองในเขตพื้นที่ตั้ง อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานย่อยที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย
- แผนการเผชิญเหตุความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วง
แบ่งออกตามระดับความเสี่ยงภัย 5 ระดับดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ระดับ สีเขียว คือ การชุมนุมประท้วงที่ไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ใช้ความรุนแรง
1) ติดตามสถานการณ์จากแหล่งข่าวเปิด, รายงานข่าวประจำวัน และข้อมูลจาก การประชุมกับหน่วยข่าวอื่นๆ
2) ข้าราชการหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัย ตรวจสอบความพร้อมใช้งานของเครื่องมืออุปกรณ์เสริมการรักษาความปลอดภัย และสภาพความสมบูรณ์ของเครื่องกีดขวาง ตลอดจนตรวจตรา ดูแลจุดเสี่ยงภัยที่กำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดเวรประจำวันในการออกไปตรวจตราพื้นที่ภายนอกโดยรอบ เพื่อสังเกตสิ่งผิดปกติหรือสิ่งบอกเหตุ
3) หัวหน้าและข้าราชการหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัย ร่วมกันประเมินสถานการณ์ประจำวัน เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ
4) หัวหน้าหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัย แจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานย่อยอื่นๆ ทราบถึงมาตรการเผชิญเหตุความรุนแรงยังอยู่ในระดับสีเขียว โดยให้ข้าราชการของหัวหน้าหน่วยงานย่อยอื่นๆ ยังคงปฏิบัติงานตามปกติ
ขั้นตอนที่ 2 ระดับ สีน้ำเงิน คือ แนวโน้มของการชุมนุมประท้วงมีท่าที่ว่าจะเกิดการใช้ความรุนแรง
1) เช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 1 ข้อ 1) – 3) โดยดำเนินการด้วยความเข้มงวดมากขึ้น พร้อมกับจัดเวรประจำวันของเจ้าหน้าที่หน่วยงานย่อย เพิ่มขึ้นในฐานะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
2) หัวหน้าหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ พร้อมกับแจ้งให้ผู้อำนวยการสำนัก/กองทราบถึงมาตรการเผชิญเหตุอยู่ในระดับสีน้ำเงิน
3) ผู้บังคับบัญชาพิจารณาให้มีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้
3.1) ทุกสำนัก/กองเตรียมความพร้อมตามมาตรการหลักและมาตรการของสำนัก/กองที่ได้กำหนดไว้
3.2) ให้เจ้าหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานย่อยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง ยุติการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเป็นการชั่วคราว อาจรวมถึงการระงับการปฏิบัติงานในวันหยุดราชการด้วย หากช่วงระยะเวลาการชุมนุมประท้วงกินเวลาคาบถึง
3.3) ให้หัวหน้าหน่วยงานย่อยอื่น ๆ และผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงานที่เป็นสตรีเดินทางออกจากพื้นที่ตั้งของหน่วยงานทันทีที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนว่า การชุมนุมประท้วงมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรง เมื่อถึงพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ให้รอรับคำสั่งความเปลี่ยนแปลง โดยทางหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยจะติดต่อแจ้งให้ทราบภายหลัง
ขั้นตอนที่ 3 ระดับ สีแดง คือ การชุมนุมประท้วงด้วยการใช้ความรุนแรงที่อาจรุกลามสู่ที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
1) เช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 2 ข้อ 1) โดยดำเนินการด้วยความเข้มงวดและจัดเวรประจำวันของหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัย เพื่อทำการเฝ้าระวังและตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง
2) หัวหน้าหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัย รายงานผู้บังคับบัญชาทราบ พร้อมกับแจ้งให้หน่วยงานย่อยอื่นๆ ทราบถึงมาตรการเผชิญเหตุอยู่ในระดับสีแดง ซึ่งแต่ละหน่วยงานย่อยอื่นๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการเผชิญเหตุที่กำหนดไว้ พร้อมกับเตรียมประสานการใช้งานทางออกฉุกเฉิน
3) ผู้บังคับบัญชาพิจารณาออกคำสั่ง
3.1) ห้ามข้าราชการ ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานสตรีเข้ามาในพื้นที่หน่วยงานเด็ดขาด
3.2) ให้เจ้าหน้าที่เริ่มการขนย้ายสิ่งที่มีชั้นความลับและทรัพย์สินมีค่าออกจากเขตพื้นที่ตั้งของหน่วยงานไปยังสถานที่ปฏิบัติงานสำรอง พร้อมกับแจ้งห้ามเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยเข้ามาในพื้นที่ตั้งของหน่วยงาน ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้ามานำเอาสิ่งที่มีความจำเป็นหรือมีค่าที่ยังมิได้มีการขนย้ายออกไป แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการอนุญาตจากหัวหน้าหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น และเมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ดังกล่าว ต้องมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัย ติดตามไปพร้อมด้วยจนเสร็จสิ้นภารกิจ และเดินทางออกจากพื้นที่ตั้งหน่วยงาน
3.3) ให้คงเหลือเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการชุมนุมประท้วงและการรักษาความปลอดภัย
3.4) กำหนดช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานกับสถานที่ปฏิบัติงานสำรอง
ขั้นตอนที่ 4 ระดับ สีเหลือง คือ การชุมนุมประท้วงด้วยการใช้ความรุนแรงที่รุกลามและอาจเป็นภัยต่อที่ตั้งของหน่วยงาน
1) เช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 3 ข้อ 1) โดยดำเนินการด้วยความเข้มงวดและจัดเวรประจำวันของหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัย เพื่อทำการเฝ้าระวังและตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง และติดตั้งสิ่งกีดขวางในพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อนและบริเวณทางออกฉุกเฉิน
2) หน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัย รายงานผู้บังคับบัญชาทราบ พร้อมกับแจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานย่อยอื่นๆ ทราบถึงมาตรการเผชิญเหตุอยู่ในระดับสีเหลือง
3) ผู้บังคับบัญชาพิจารณาออกคำสั่งสำหรับข้าราชการที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่
3.1) เตรียมอพยพเจ้าหน้าที่ที่ยังคงเหลือปฏิบัติงานให้ออกจากเขตที่ตั้งของหน่วยงาน
3.2) เตรียมทำลายเอกสาร สิ่งของที่มีชั้นความลับในกรณีที่ขนย้ายไม่ทัน
3.3) ปิดอาคารที่มิได้ใช้เป็นสถานที่ทำการเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงหรือการรักษาความปลอดภัย
4) แจ้งขอรับการสนับสนุนจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบตามการจัดตั้งของรัฐบาล
5) เตรียมเผชิญกับผู้ชุมนุมประท้วง โดยขอรับทราบนโยบายของผู้บังคับบัญชา
5.1) ในกรณีผู้ชุมนุมประท้วงบางส่วนพยายามบุกรุกเข้ามาในพื้นที่
– ใช้วิธีเจรจาหรือพยายามปิดกั้นไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่
5.2) ในกรณีผู้ชุมนุมประท้วงใช้กำลังทำลายและสร้างความเสียหายที่ยังไม่รุนแรง
– ให้คงอยู่อย่างสงบในพื้นที่หรือตอบโต้
5.3) ในกรณีผู้ชุมนุมประท้วงใช้ความรุนแรง
– ให้พยายามใช้สิ่งกีดขวางในพื้นที่ เพื่อใช้ถ่วงเวลาการบุกรุกของผู้ชุมนุมประท้วง หากสามารถทำได้ ให้สำรวจตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งก่อนถอนกำลัง
5.4) ในกรณีผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนมากพยายามบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ด้วยการใช้กำลัง
– ให้ขอรับคำสั่งปิดหน่วยงาน
ขั้นตอนที่ 5 ระดับ สีดำ คือ การใช้ความรุนแรงและเข้าทำลายที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
1) ปิดหน่วยงาน
2) อพยพเจ้าหน้าที่ที่เหลืออยู่ทั้งหมดออกจากหน่วยงานอย่างเร่งด่วน และพยายามให้มีความปลอดภัยแก่ชีวิตให้มากที่สุด
—————————————-
หมายเหตุ : ในการทำแผนฉุกเฉินควรกำหนดชั้นความลับให้เหมาะสมกับหน่วยงาน