เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – เจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านความมั่นคงของเบลเยียม มีกำหนดประชุมหารือกันในวันนี้ (22 พ.ย.) เพื่อตัดสินใจว่า “มาตรการปิดเมือง” ในกรุงบรัสเซลส์ สืบเนื่องจากความหวั่นเกรงว่ากลุ่มนักรบญิฮัดมุสลิมกำลังวางแผนก่อการโจมตีใหญ่ทำนองเดียวกับที่เล่นงานกรุงปารีส ควรที่จะขยายการบังคับใช้ต่อไปอีกหรือไม่ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งตำรวจก็เร่งมือดำเนินการไล่ล่าผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมในเมืองหลวงฝรั่งเศส
บรัสเซลส์ ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงของเบลเยียม และเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้สั่งหยุดเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน, ปิดร้านค้าตลดจนอาคารสถานที่สาธารณะต่างๆ ในวันเสาร์ (21) ที่ผ่านมา พร้อมๆ กับที่เบลเยียมยกระดับการเตือนภัยคุกคามของผู้ก่อการร้ายขึ้นไปสู่ขั้นสูงสุด เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับ “ภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว” ในรูปของการโจมตีด้วยปืนและระเบิดขนาดใหญ่
พระราชวัง “แกรนด์ แพเลซ” อันเก่าแก่งามสง่า และตั้งอยู่บริเวณจัตุรัสใจกลางบรัสเซลส์ ปกติแล้วต้องคราคร่ำแออัดด้วยนักท่องเที่ยว เมื่อวันเสาร์กลับอยู่ในบรรยากาศเงียบเชียบ โดยมีเพียงคนพลัดหลงไม่ได้ติดตามข่าวไม่กี่คน เดินข้ามถนนที่ปูด้วยหินก้อนกลมๆ ขณะที่ยานหุ้นเกราะคันหนึ่งจอดอยู่ด้านนอกของอาคารศาลากลางนคร ซึ่งเป็นตึกโออ่าตระการตาอีกหลังหนึ่งในบริเวณนั้น
คณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติของเบลเยียม มีกำหนดประชุมกันเพื่อตัดสินใจว่าจะขยายการปิดเมืองหรือไม่ เวลาเดียวกันนี้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงก็เร่งมือออกจู่โจมตรวจค้นตามย่านที่พำนักของพวกผู้อพยพในเมืองหลวง เพื่อติดตามไล่ล่าพวกนักรบญิฮัดที่คิดกันว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่อยู่เบื้องหลังเหตุนองเลือดในกรุงปารีส
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนกำลังทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อค้นหาชายที่เกิดในเบลเยียม ชื่อ ซาลาห์ อับเดสลาม หนึ่งในคนร้ายที่ยังคงหลบหนีภายหลังเหตุโจมตีจุดท่องเที่ยวและนันทนาการยามค่ำคืนในกรุงปารีสระลอกเดียวหลายๆ จุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตตามตัวเลขอัปเดตล่าสุด จำนวน 130 คน
นายกรัฐมนตรี ชาร์ลส์ มิเชล ของเบลเยียม แถลงว่า ทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งหลายต่างหวั่นเกรงว่าจะเกิดการก่อเหตุโจมตี “สไตล์ปารีส” ซึ่ง “มีการใช้วัตถุระเบิดและอาวุธต่างๆ โจมตีสถานที่หลายๆ แห่ง”
การสังหารโหดในปารีสยังทำให้ อียู บังเกิดความวิตกกังวลในประเด็นที่ว่า พวกหัวรุนแรงที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ซึ่งได้สังหารผู้คนไปรวมแล้วหลายร้อยคนทั่วโลกในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีภายใต้ระบบ “เชงเก้น” ซึ่งผู้คนสามารถเดินทางไปมาภายในพื้นที่อียูได้โดยไม่ต้องมีพาสปอร์ต
ในกรุงมาดริด บรรดาแฟนๆ ที่จะเข้าไปชมแมตช์การแข่งขันฟุตบอล “เอล กลาสซิโก” ระหว่างทีมรีล มาดริด กับ ทีมบาร์เซโลนา เมื่อวันเสาร์ (21) ต้องถูกตรวจสอบโดยสุนัขดมกลิ่น, ตำรวจม้า, และด่านตรวจจำนวนไม่นับถ้วน
ส่วนที่ตุรกี ตำรวจได้จับกุมชาวเบลเยียมเชื้อสายโมร็อกโกผู้หนึ่ง ซึ่งต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องโยงใยกับการโจมตีกรุงปารีส ชายผู้นี้ซึ่งชื่อ อาเหม็ต ดาห์มานี วัย 26 ปี ถูกควบคุมตัวจากสถานรีสอร์ตแห่งหนึ่งในเมืองอันตัลยา อันเป็นเมืองที่ใช้จัดการประชุมซัมมิตกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจรายสำคัญของโลก (จี20) เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้เขาถูกจับกุมพร้อมกับผู้ต้องสงสัยอีก 2 คนซึ่งน่าจะเป็นชาวซีเรีย
ดาห์มานี นั้นถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือการสืบข่าวสอดแนมให้แก่การโจมตีปารีส และจากนั้นก็เตรียมการที่จะข้ามพรมแดนตุรกี-ซีเรียอย่างผิดกฎหมาย เพื่อกลับเข้าไปร่วมสู้รบอยู่กับไอเอส โดยเขาใช้พาสปอร์ตเบลเยียม เดินทางจากฝรั่งเศส ผ่านเมืองอัมสเตอร์ดัม มาจนถึงตุรกี
ใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็น
ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีมติในวันศุกร์ (20) ให้อำนาจแก่ชาติต่างๆ ในการ “ใช้มาตรการที่จำเป็นทุกๆ อย่าง” เพื่อต่อสู้กับพวกนักรบญิฮัดของไอเอส หลังจากที่พวกนี้ก่อกระแสการโจมตีทั่วโลก
มตินี้ออกมาหลังจากกลุ่มคนร้ายนำโดยสาขาของกลุ่มอัลกออิดะห์ในประเทศมาลี ซึ่งหัวหน้าเป็นอิสลามิสต์หัวรุนแรงชาวแอลจีเรียที่มีตาเดียวและมีชื่อเสียงในทางโหดเหี้ยมเลวร้าย ได้บุกเข้ายึดโรงแรมหรูหราแห่งหนึ่งในกรุงบามาโก เมืองหลวงของมาลี สังหารคนตายไป 19 คน เกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างประเทศ
มาลีถูกเล่นงาน 1 สัปดาห์ถัดจากปารีส และกรุงเบรุต ถูกโจมตี ทั้งนี้เมืองหลวงของเลบานอนถูกไอเอสก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายระลอกจนมีผู้เสียชีวิตไป 44 คน นอกจากนั้น เหตุร้ายที่มาลี ยังเกิดขึ้น 3 สัปดาห์หลังจากกลุ่มไอเอสประกาศว่า เป็นผู้วางระเบิดทำให้เครื่องบินโดยสารของสายการบินรัสเซียตกเหนือคาบสุทรไซนายในอียิปต์ โดยผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 224 คนตายยกลำ
ไม่เพียงเท่านั้น ในแคเมอรูน มีผู้ถูกสังหารไป 5 คนและบาดเจ็บอีก 10 คนในวันเสาร์ (21) เมื่อวัยรุ่นหญิง 4 คนระเบิดตัวเองในเมืองทางภาคเหนือซึ่งมักเกิดเหตุร้ายอยู่เนืองๆ โดยเมืองที่อยู่ติดกับพรมแดนไนจีเรียแห่งนี้ ตกเป็นเป้าโจมตีของพวกอิสลามิสต์กลุ่มโบโกฮารัม ซึ่งประกาศเป็นพันธมิตรกับไอเอส อยู่บ่อยครั้ง
ฝรั่งเศสปล่อยผู้ต้องสังสัย 7 คน
ฝรั่งเศสยังคงสับสนหวั่นไหวจากเหตุการณ์โจมตีในกรุงปารีส และการยิงต่อสู้กันในวันพุธ (18) ที่เกิดสืบเนื่องจากการโจมตีดังกล่าว เมื่อตำรวจพยายามบุกเข้าไปจับกุมผู้ต้องสงสัย ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองหลวงฝรั่งเศส
ทางการแดนน้ำหอมแถลงในเวลาต่อมาว่า ในการยิงต่อสู้กันวันพุธ คนร้ายเสียชีวิตไป 3 คน คนหนึ่งคือ อับเดลฮามิด อาบาอูด ซึ่งถูกระบุว่าเป็นหัวหน้าใหญ่ของคนร้ายก่อเหตุโจมตีปารีสคราวนี้ อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิงชื่อ ฮัสนา อาอิตบูลาห์เซน ลูกพี่ลูกน้องของอาบาอูด สำหรับคนสุดท้ายซึ่งเป็นมือระเบิดฆ่าตัวตาย จากการตรวจสอบดีเอสเอ ปรากฏว่าไม่เคยมีประวัติในแฟ้มของตำรวจมาก่อน
ในวันเสาร์ (21) ตำรวจฝรั่งเศสยังได้ปล่อยบุคคล 7 คนที่จับกุมไว้ในระหว่างการตรวจค้นเมื่อวันพุธ แต่ยังคงควบคุมตัว จาวัด เบนดาอูด ผู้ซึ่งยอมรับว่าได้ให้เช่าอพาร์ตเมนต์แก่บุคคล 2 คนจากเบลเยียม
อาบาอูดนั้น เป็นนักรบญิฮัดชาวเบลเยียมที่มีประวัติเลวร้ายยาวเหยียด และทีแรกเข้าใจกันว่าเขากำลังสู้รบอยู่กับพวกไอเอสในซีเรีย การที่เขาปรากฏตัวขึ้นในยุโรปเช่นนี้ ก่อให้เกิดคำถามฉกาจฉกรรจ์ในเรื่องความบกพร่องของการหาข่าวกรองและการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนของยุโรป
สหภาพยุโรปเห็นชอบเมื่อวันศุกร์ (20) ให้เร่งรัดการปฏิรูประบบเชงเก้นให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ฝรั่งเศสได้ขยายเวลาการห้ามชุมนุมในที่สาธารณะไปจนกระทั่งถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน อันเป็นช่วงเริ่มต้นการประชุมซัมมิตยูเอ็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ระหว่างการโจมตีกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน มีคนร้าย 7 คนเสียชีวิต โดยคนหนึ่งคือ บราฮิม อับเดสลาม
ซึ่งจุดระเบิดฆ่าตัวตายที่ด้านนอกของบาร์แห่งหนึ่ง เวลานี้กำลังตำรวจของหลายประเทศพยายามไล่ล่าน้องชายของเขาที่ชื่อ ซาลาห์ อับเดลสลาม ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าได้หลบหนีจากฝรั่งเศสกลับเข้าไปยังเบลเยียมแล้ว
ซาลาห์ อับเดลสลาม อาจจะกำลังสวมเสื้อระเบิดฆ่าตัวตายอยู่ ทั้งนี้ตามคำให้การของ ฮัมซา อัตตู 1 ใน 2 ผู้ต้องสงสัยซึ่งถูกทางการเบลเยียมตั้งข้อหาช่วยเหลือชายวัย 26 ปีผู้นี้เดินทางกลับประเทศภายหลังก่อการโจมตีในฝรั่งเศส
การีเน กูเกเลต์ ทนายความของ อัตตู บอกกับโทรทัศน์ “เฟรนช์ ทีวี” ว่า ลูกความของเธอพูดถึง ซาลาห์ อับเดสลามว่า แสดงอาการหงุดหงิดไม่สบายใจมากในระหว่างเดินทางกลับเบลเยียม
“มีทฤษฎีที่เป็นไปได้อยู่มากมาย เป็นต้นว่า (ซาลาห์ ) เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านการส่งกำลังบำรุง บ้างก็ว่าเขาเป็นผู้ที่ถูกวางตัวให้จุดระเบิดฆ่าตัวตายด้วย แล้วเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ใช่หรือไม่? เรายังไม่ทราบอะไรทั้งนั้น”
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2558 (แก้ไขล่าสุด วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2558)