สถานการณ์ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเราเมื่อไม่นานมานี้คงให้เห็นชัดเจนว่าการมี “กล้องวงจรปิด” ติดทั่วบ้านทั่วเมืองเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เหตุการณ์อย่างเช่นเหตุลอบวางระเบิดสนั่นโลกในใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ บ่งบอกให้เห็นถึงความสำคัญของ “การนำมาใช้” ว่าสำคัญไม่น้อยกว่า “การมี” ภาพจากกล้องวงจรปิด
แน่นอนว่า “การมี” ย่อมดีกว่า “ไม่มี” แต่ถ้ามีโดยไม่คำนึงถึงการนำมาใช้งานก็มักจะ “ยุ่ง” ทีหลังเสมอ
ตัวอย่างเช่นเหตุระเบิดพระพรหมที่ว่านั้น สมมุติว่ากล้องวงจรปิดในบริเวณดังกล่าวมีอยู่ 500 ตัว เราต้องการตรวจสอบก่อนหน้าและหลังเวลาเกิดเหตุไปราว 30 นาที รวมแล้วเป็น 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องนั่งตรวจสอบหาตัวและพฤติกรรม “ผู้ต้องสงสัย” ในเทปบันทึกภาพที่รวมความยาวเข้าด้วยกันถึง 500 ชั่วโมง
เพ่งกันตาเเฉะ 10 วัน ยังไม่ครบถ้วน ทารุณกรรมผู้รับผิดชอบกันชัดๆ!
ผมถึงรู้สึกโล่งใจแทนเจ้าหน้าที่อยู่ไม่น้อยที่ได้รับทราบจาก คุณสมหมาย ดำเนินเกียรติ กรรมการผู้จัดการบริษัท วิชั่นแอนด์ซีเคียวริตี้ ซิสเต็ม ในเครือสามารถเทเลคอม ว่าทางบริษัทได้นำเอาระบบซอฟต์แวร์อำนวยการด้านความมั่นคงปลอดภัยในระดับโลกเข้ามาให้บริการในไทยแล้ว
“ไนซ์ ซีเคียวริตี้” คือระบบดังกล่าว ซึ่งเป็นของบริษัท ไนซ์ ซิสเต็ม แห่งอิสราเอล ประเทศที่การอำนวยการด้านความมั่นคงปลอดภัยถูกให้ความสำคัญประหนึ่งเป็นลมหายใจเข้าออก และถูกนำไปติดตั้งใช้กันอยู่ทั่วโลก
“ไนซ์ ซีเคียวริตี้” ที่นำเข้ามาเปิดให้บริการแล้ว มี 2 ระบบ หนึ่งคือ “ไนซ์ ซิททูเอเตอร์” อีกหนึ่งคือ “ไนซ์ ซัสเปคท์ เสิร์ช” มีคุณประโยชน์ใช้งานแตกต่างกันออกไป
“ไนซ์ ซิททูเอเตอร์” คำนึงถึงการป้องกัน “เหตุร้าย” ไปพร้อมๆ กับการกำหนดทุกอย่างไว้อย่างเป็นระบบเมื่อเกิด “เหตุร้าย” ขึ้นจริงๆ ว่าใครต้องทำอะไรบ้าง ต้องแจ้งต่อฝ่ายใดบ้าง เป็นต้น
ระบบนี้เป็นการนำเอาข้อมูลและบุคลากรที่มีกันอยู่แล้ว (เช่น กล้องวงจรปิด, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ) มาบริหารจัดการให้เป็นระบบ มีการวางแผนการปฏิบัติงานไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรก เพื่อผลในการป้องกันเหตุร้ายเป็นลำดับแรก และผลในเรื่องของความฉับไวและมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นจริงเป็นลำดับต่อมา
คุณสมหมายยกตัวอย่างสถานการณ์สมมุติในห้างสรรพสินค้า ที่จู่ๆ มีผู้มาวางกระเป๋าเป้ทิ้งไว้ และกล้องวงจรปิดจับภาพไว้ได้ ซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งอยู่ในระบบ “ไนซ์ ซิททูเอเตอร์” จะแจ้งเตือนผู้รับผิดชอบลำดับแรกให้ตื่นตัวในทันที ซึ่งอาจตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นของผู้มาใช้บริการที่อาจแค่ต้องการพักไหล่สักนาทีสองนาที และกลับมาหิ้วไปแล้ว ก็แล้วกันไป
แต่ถ้านั่นเป็น “วัตถุต้องสงสัย” จริงๆ ผู้ตรวจสอบคนแรกก็จะรู้หน้าที่ของตนเองว่าต้องทำอะไรเป็นลำดับต่อไป เช่น ตรวจสอบกล้องย้อนกลับไปถึงเมื่อตอนวาง เมื่อได้ตัวผู้ต้องสงสัยก็ตรวจสอบต่อไปว่า ยังอยู่ในห้างหรือไม่ หรืออย่างไร ในเวลาเดียวกันก็แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ “วัตถุ” ดังกล่าวนั้นพร้อมกันไปด้วย
“ไนซ์ ซัสเปคท์ เสิร์ช” เป็นซอฟต์แวร์ที่เพิ่มขีดความสามารถของ “ซิททูเอเตอร์” ขึ้นไปอีกระดับ เพราะเป็นระบบค้นหาบุคคล “เป้าหมาย” ได้อย่างรวดเร็วในชั่วระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที แทนที่จะเป็นมหกรรมทารุณกรรม 500 ชั่วโมง อย่างที่พูดถึงในตอนต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดทุกตัวที่อยู่ในระบบทั้งหมด จะถูกนำมาใช้ ทำให้ซอฟต์แวร์สามารถวิเคราะห์และแสดงผลเป็นเส้นทางเคลื่อนไหวของบุคคลเป้าหมายได้โดยอิงกับเวลาที่กล้องแต่ละตัวถ่ายไว้ นำมาเรียงลำดับใหม่แสดงให้เห็นพฤติกรรมของบุคคลนั้นได้ในไม่ช้าไม่นานอีกต่างหาก
คุณสมหมายบอกว่า “ไนซ์ ซัสเปคท์ เสิร์ช” ทำได้กระทั่งว่านำเอาภาพถ่ายของผู้ต้องสงสัยมาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อค้นหาในเปวงจรปิด หรือแม้กระทั่งใช้เอกลักษณ์บุคคล หรือรูปพรรณ การแต่งกาย ก็สามารถค้นหาออกมาได้
หรือแม้แต่ในกรณีของระเบิดที่ราชประสงค์ ที่รู้กันเฉพาะวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ ระบบก็สามารถ “คัดเลือก” ผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่งออกมาให้วิเคราะห์กันได้เช่นเดียวกัน
“ไนซ์ ซีเคียวริตี้” ทั้ง 2 ระบบมีข้อแม้ว่า ภาพกล้องวงจรปิดทั้งหลายต้องออนไลน์เข้ามาสู่เซิร์ฟเวอร์ของระบบอยู่แล้ว และอยู่ในฟอร์แมตของระบบ
แต่ถ้าจำเป็น คุณสมหมายบอกว่า เอาเทปจากที่ไหนมาให้วิเคราะห์หาตัวผู้ต้องสงสัยทีหลัง แม้ต้องเสียเวลาแปลงฟอร์แมตอยู่บ้าง แต่ก็ทำได้เช่นเดียวกัน!
สำหรับผมแล้ว ทั้งสองระบบคือซอฟต์แวร์อำนวยการด้านความมั่นคงปลอดภัยที่น่าสนใจเอามากๆ ในเวลานี้ครับ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 14:55:32 น.โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th