ศาลเบลเยียมสั่งให้ “เฟซบุ๊ก” หยุดติดตามผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในเบลเยียม ภายใน 48 ชม. ไม่เช่นนั้นจะต้องชดใช้ค่าเสียหายวันละ 2.5 แสนยูโร ชี้ เป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชน
เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พ.ย. ศาลแพ่งแห่งกรุงบรัสเซลส์ได้พิพากษาตัดสินให้เฟซบุ๊กต้องหยุดจัดการรวบรวม ข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวประจำของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเบลเยียม โดยมีเวลา 48 ชั่วโมงในการแก้ไข มิฉะนั้น จะต้องชดใช้ค่าเสียหายวันละ 250,000 ยูโร ให้กับคณะกรรมาธิการปกป้องความเป็นส่วนตัวแห่งเบลเยียม (Commission belge de protection de la vie privée – CPVP) กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา
เครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก ได้มีการแถลงการณ์ตอบโต้ในทันที โดยระบุว่า จะทำการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งแห่งกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา “เราได้ใช้ datr-cookie มาเป็นเวลากว่าห้าปีแล้ว เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ใช้ที่มีบัญชีเฟซบุ๊ก จำนวน 1,500 ล้านคนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เราจะอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว และกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดการชะงักงันในวงกว้าง สำหรับการเข้าใช้บัญชีของผู้ใช้เฟซบุ๊กในเบลเยียม”
นายบาร์ท ทอมเมอไลน์ รัฐมนตรีรับผิดชอบการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวกล่าวว่า “กรณีที่เฟซบุ๊กต้องหยุดจัดการและติดตามความเคลื่อนไหวอุปนิสัยของผู้ใช้อิน เทอร์เน็ต ที่ไม่มีบัญชีเฟซบุ๊กในเบลเยียม แสดงให้เห็นว่า แม้เบลเยียมจะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ แต่เราก็ให้ความคุ้มครองประชาชนตามสิทธิ” กล่าวอีกนัยหนี่งก็คือ คำพิพากษาของศาลแพ่งแห่งกรุงบรัสเซลส์นั้น แสดงให้เห็นว่า กฎหมายให้ความคุ้มครองว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของเบลเยียมนั้น ไม่ใช่เพียงกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น
นายบาร์ท ทอมเมอไลน์ กล่าวอีกว่า “เฟซบุ๊กไม่สามารถที่จะติดตามผู้ที่ไม่ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กได้อีกต่อไป และเราก็มีความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง” ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ศาลเบลเยียมมีอำนาจในการพิจารณาคำร้องและตัดสิน “เฟซบุ๊กได้คัดค้านก่อนหน้านี้ว่า ศาลเบลเยียมไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ แต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวก็ได้ตกไป”
เฟซบุ๊กได้ชี้แจงว่า รัฐที่มีอำนาจในการสอดส่องดูแลมีเพียงรัฐของประเทศที่สำนักงานเฟซบุ๊กตั้ง อยู่และทำการจัดเก็บจัดการข้อมูลเท่านั้น ที่มีอำนาจในการพิจารณาข้อพิพาท ซึ่งในกรณีนี้ คือ คณะกรรมาธิการปกป้องความเป็นส่วนตัวไอร์แลนด์
เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้เปิดใช้เว็บไซต์หนึ่ง เว็บไซต์ดังกล่าวก็จะมีคุกกี้บนระบบของผู้ใช้ดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกภาษา หรือผลิตภัณฑ์สินค้าที่เคยเลือกซื้อก่อนหน้าจนกว่าการสั่งซื้อสิ้นสุด กรณีเดียวที่คำพิพากษาอนุญาตก็คือ คุกกี้จะต้องลบข้อมูลทิ้งทั้งหมดเมื่อผู้ใช้ปิดการใช้อินเทอร์เน็ต
เฟซบุ๊กได้ใช้คุกกี้ที่จะจัดเก็บข้อมูลเมื่อมีผู้ที่เข้ามาเปิดหน้า เฟซบุ๊กเป็นครั้งแรก เช่น มาดูหน้าบัญชีของเพื่อน แต่รวมถึงกลุ่มร้านค้าหรือพรรคการเมืองด้วย แฟ้มข้อมูลดังกล่าวเรียกว่า datr-cookie รวบรวมความสนใจและสิ่งที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชื่นชอบ โดยเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปี และเฟซบุ๊กสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ตลอดเวลา เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลับเข้ามาในเฟซบุ๊ก กดไลค์บทความหรือแชร์บทความบนเฟซบุ๊ก
คณะกรรมาธิการปกป้องความเป็นส่วนตัวแห่งเบลเยียมได้กล่าวว่า ยิ่งกว่านั้นเฟซบุ๊กยังได้เก็บรวบรวมหมายเลข IP และโค้ดของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่ไม่มีบัญชีเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เฟซบุ๊กโต้แย้งว่า การใช้ datr-cookie มีความจำเป็นเพื่อปกป้องข้อมูลจากบรรดาอาชญากรรมไซเบอร์ โปรแกรมไวรัส ความพยายามที่จะใช้บัญชีปลอม หรือการลักลอบข้อมูลและสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กเพื่อการส่งโฆษณา ให้กับผู้ที่ไม่มีบัญชีเฟซบุ๊กโดยตรง
ศาลแพ่งแห่งกรุงบรัสเซลส์ ได้ทำการพิจารณาตัดสินและเห็นคล้อยตามคำฟ้องของคณะกรรมาธิการปกป้องความเป็น ส่วนตัวแห่งเบลเยียม และมีคำพิพากษาว่า ข้อมูลทั้งหลายที่จัดเก็บโดย datr-cookie นั้นเป็นข้อมูลที่เป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง
นางอานุก เดอเวอนิงส์ โฆษกศาลชั้นต้นแห่งกรุงบรัสเซลส์กล่าวว่า “เฟซบุ๊กจะสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวก็ต่อเมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ความ ยินยอมเท่านั้น โดยไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยแต่อย่างใด ตามกฎหมายเบลเยียมว่าด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัว” และเสริมอีกว่า “กรณีที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีบัญชีเฟซบุ๊ก เราอาจจะพิจารณาว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กนั้นให้ความยินยอม แต่สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่มีบัญชีเฟซบุ๊ก ก่อนอื่น เฟซบุ๊กจะต้องถามเพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ความยินยอมและมีคำชี้แจงที่ ชัดเจนเสียก่อน