การค้นพบครั้งนี้ยังมีความพิเศษคือ วัตถุที่สร้างวงจรล่องหน มีความบางกว่าที่พัฒนาขึ้นโดยคู่แข่งในต่างประเทศ – เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ – คณะนักวิจัยของจีนค้นพบเทคโนโลยีสำคัญ ที่ช่วยให้เครื่องบินสามารถล่องหนหายตัวหนีระบบเตือนภัยล่วงหน้า ที่ว่าเจ๋งที่สุด ซึ่งใช้กันอยู่ในปัจจุบันไปได้เหมือนเล่นกลกันเลยทีเดียว
คณะนักวิจัยซึ่งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหวาจงในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ทางภาคกลางของจีน และมีศาสตราจารย์ เจียง เจี้ยนจวิน แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันอู่ฮั่นเป็นหัวหน้า ได้เผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับการออกแบบและเทคนิกของ “วงจรล่องหน” ไว้ในวารสารฟิสิกส์ประยุกต์ ( Journal of Applied Physics) ของสถาบันฟิสิกส์แห่งอเมริกาฉบับเดือนพ.ย. พ.ศ. 2558
คณะนักวิจัยได้สร้างวงจรไฟฟ้า ซึ่งมีหลายชั้น วงจรนี้สามารถ “ดัก” คลื่นวิทยุไมโครเวฟที่ความถี่สูงมาก ซึ่งจะสร้างความสับสนแก่ระบบเรดาร์ กระทั่งเครื่องบินเล็ดลอดผ่านระบบตรวจจับนี้ไปได้ โดยการค้นคว้าอาศัยหลักการทำงานของเครื่องเรดาร์คือ มีการส่งคลื่นวิทยุจากเครื่องเรดาร์ เมื่อมีวัตถุ เช่น เครื่องบินมาขวางทาง คลื่นวิทยุก็จะสะท้อนจากเครื่องบินกลับคืนสู่เครื่องเรดาร์ ดังนั้น ถ้าวงจรไฟฟ้านี้ไปดูด หรือดักคลื่นวิทยุนี้เสียก่อน เครื่องเรดาร์ก็จะไม่ตรวจพบเครื่องบิน
นอกจากนั้น วัตถุที่สร้างวงจรดังกล่าวยังมีความบางมาก ๆ อย่างแทบไม่น่าจะเป็นไปได้ โดยหนาไม่ถึง 1 ซม. หรือแค่ 1 ใน 10 ของวัสดุแบบเดียวกัน ที่พัฒนาขึ้นโดยคู่แข่งในต่างประเทศ ดังนั้น วงจรนี้จึงอาจนำไปหุ้มเครื่องบินได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย
ศาสตราจารย์หวง จวิน นักวิจัยเทคโนโลยีล่องหนทางทหารของโรงเรียนวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์การบิน แห่งมหาวิทยาลัยเป่ยหัง ซึ่งมิได้ร่วมการวิจัยครั้งนี้ให้ความเห็นว่า ถ้าวงจรไฟฟ้านี้ทำงานได้อย่างที่อ้างจริงก็จะเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญและเป็นข่าวร้ายที่จะทำให้ระบบเรดาร์เตือนภัย ที่ใช้กันอยู่หนาวกันเป็นแถว ๆ
เขาระบุว่า เครื่องบินล่องหน เช่น เอฟ-22 และเอฟ-35 ของกองทัพสหรัฐฯ ไม่สามารถเล็ดลอดสายตาเครื่องเรดาร์ได้ทั้งหมดอย่างที่ประกาศ ถ้าเจอระบบเรดาร์ล้ำสมัย แม้จะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็ยังจอด
เครื่องบินขับไล่ล่องหนของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในงานแสดงการบินที่เมืองจูไห่ มณฑลก่วงตงเมื่อปีที่แล้ว – รอยเตอร์
ระบบเรดาร์ที่ว่านี้โดยทั่วไปแล้วใช้คลื่นไมโครเวฟระดับความถี่ 2 กิกะเฮิร์ตซ์ หรือต่ำกว่านั้น เนื่องจากวัตถุหุ้มเครื่องบินที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถดูดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเฉพาะ ที่มีความถี่สูงได้เท่านั้น
คณะนักวิจัยของศาสตราจารย์เจียงระบุว่า งานนี้หวานหมูสำหรับวงจรไฟฟ้าของพวกเขา เพราะมันสามารถดูดคลื่นที่ระดับความถี่ตั้งแต่ 0.7 กิกะเฮิร์ตซ์ – 1.9 กิกะเฮิร์ตซ์
ทว่าจุดอ่อนของวงจรล่องหนนี้ก็คือมิอาจดักคลื่นไมโครเวฟ ที่มีระดับความถี่ตั้งแต่ 2 กิกะเฮิร์ตซ์ขึ้นไปได้ ฉะนั้น จึงยังไม่รอดพ้นเงื้อมมือของระบบเรดาร์ ที่มีความก้าวหน้าขั้นสูง ซึ่งบางเครื่องสามารถใช้ระดับความถี่ได้สูงเกินกว่า 40 กิกะเฮิร์ตซ์
ศาสตราจารย์หวงระบุว่า อาจต้องใช้เวลาคิดค้นพัฒนาอีกหลายปีกว่าจะนำมาใช้กับเครื่องบินได้จริง ๆ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกคนได้แก่นายเจียว หย่งซัง ศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีเรดาร์ประจำมหาวิทยาลัยซีเตี้ยนในเมืองซีอาน มณฑลส่านซี เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัย โดยกล่าวว่า วงจรล่องหนเคยเป็นเรื่องน่าสนใจเมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่เดี๋ยวนี้เลิกฮือฮากันแล้ว เพราะข้อจำกัดด้านเทคนิกด้วยประการทั้งปวง มันเป็นแค่ฝันกลางวัน
ทั้งนี้ เชื่อกันว่า เทคโนโลยีล่องหนทางทหารของจีนยังห่างชั้นจากสหรัฐฯ อยู่อีกหลายขุม ถ้าไม่ห่างกันหลายทศวรรษ ก็ห่างกันอีกหลายปี โดยเครื่องบินเจ-20 ซึ่งเป็นเครื่องบินล่องหนลำแรกของจีนเพิ่งทำการบินเที่ยวแรกเมื่อปีพ.ศ. 2554 และยังอยู่ในขั้นทดสอบ แต่กองทัพสหรัฐฯ ประจำการณ์เครื่องบินล่องหนลำแรกของโลกคือเอฟ-117 ไนต์ฮอว์ก หรือเหยี่ยวราตรีไปตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปีก่อน
นอกจากเครื่องบินล่องหน จีนยังมีการคิดค้นพัฒนา “เสื้อคลุมล่องหน” มานานหลายปี รวมทั้งการใช้แท่งแก้วปริซึ่มอำพรางแมวและปลาจากสายตาผู้คนได้สำเร็จมาแล้ว โดยการคิดค้นของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงเมื่อปีพ.ศ. 2556
ที่มา : MGR Online วันที่ 19 ธันวาคม 2558 09:41 น.
Link : http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9580000136212