กล้องโทรทัศน์วงจรปิดมี 2 ประเภทหลัก คือ กล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดมุมมองคงที่ (Fixed Camera) และชนิดปรับมุมมอง (Pan Tilt Zoom Camera : PTZ) ข้อมูลที่จะได้รับขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ และบริษัทผู้ผลิต รวมทั้งสมรรถนะและขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังที่ประจำอยู่ที่จอรับภาพ (Monitor) ว่าจะสามารถประเมินข้อมูลที่ได้เห็นมากน้อยเพียงใด
การมองเห็นภาพจากการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแบบมุมมองคงที่ ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เลนส์กล้องตามสภาพการใช้งานจริง กล้องแบบนี้มีที่นิยมใช้งาน 3 ขนาด ได้แก่
– ขนาด 4 มิลลิเมตร มุมมองภาพกว้างประมาณ 8 เมตร ให้ระยะการมองภาพไม่ไกล รัศมีประมาณ 4 เมตร
– ขนาด 6 มิลลิเมตร มุมมองภาพกว้างประมาณ 6 เมตร ระยะในการมองภาพรัศมีประมาณ 6 เมตร
– ขนาด 8 มิลลิเมตร มุมมองภาพกว้างประมาณ 4 เมตร ระยะในการมองภาพรัศมีประมาณ 10 เมตร
การใช้งานในเวลากลางคืนอาจต้องใช้แสงอินฟาเรดมาช่วยเสริมความชัดเจนและให้มีระยะมองเห็นได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงละอองฝุ่นและละอองน้ำในสภาพพื้นที่ที่ทำการติดตั้ง ประกอบกับการหักเหของแสงไฟส่องสว่างในบริเวณนั้นอีกด้วย
ความสูงของเสาที่ทำการติดตั้งกล้องมีผลกระทบต่อการรับภาพของกล้องเช่นกัน หากติดตั้งที่เสาสูงเกิน 2.5 เมตร จะได้ภาพที่ไม่ให้รายละเอียดที่ชัดเจน
ปรับองศาจอรับภาพให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ เช่น ต้องการเฝ้าดูการเคลื่อนไหวตามบาทวิถี ให้ปรับองศาเข้ามาในพื้นที่บาทวิถีทั้งหมด ไม่ควรให้กินพื้นที่เข้าไปในผิวการจราจร หรือปรับจอภาพให้เงยขึ้น จะได้แต่ภาพมุมสูง ไม่เห็นที่พื้นที่ที่ต้องการ
ไม่ควรติดตั้งกล้องให้หน้าจอรับภาพขนานกับเสาไฟทุกประเภทหรือปล่อยให้มีสิ่งบดบังทิศทางของการรับภาพ เช่น วัชพืช ต้นไม้
การติดตั้งของกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ที่พบเป็นแบบ Fixed ที่บริเวณประตูทางเข้าเท่านั้น มุมรับภาพกดต่ำ เนื่องจากต้องการรับภาพการเคลื่อนไหวเข้า-ออก ผ่านประตูร้านเช่นเดียวกันทั้งหมด การใช้ช่วยเฝ้าระวังไม่สามารถให้ภาพพื้นที่ที่ต่อเนื่องออกไปได้ โดยในเวลากลางวัน ภาพที่ได้อาจไม่ชัดเจน เพราะกล้องติดตั้งใต้กันสาด บังเป็นเงาหรืออาจย้อนแสง เพราะโดยรอบมีแสงแดดส่องสว่างเข้ามา ส่วนเวลากลางคืนจะมีแสงไฟส่องสว่างจากภายในร้านสะท้อนกับไฟหน้าร้าน ซึ่งมีทั้งแบบฟลูออเรสเซนต์ที่ให้ความสว่างกระจายทั่ว และแบบดาวน์ไลท์สว่างให้ลำแสงสว่างส่องมาทับกัน อาจทำให้เกิดการย้อนแสงในการรับภาพของกล้อง ภาพที่ได้ค่อนข้างพร่ามัว