ญี่ปุ่นกับภัยก่อการร้าย
จุดล่อแหลม ทุกครั้งที่กลับเมืองไทย ถ้า 3 ทุ่มแล้วยังไม่ถึงบ้าน คุณแม่จะโทร.ตาม และผมก็ต้องถามเรื่อยมาตั้งแต่อายุยังไม่สามสิบจนเกือบจะสี่สิบเข้าไปทุกทีว่า “อีกไม่กี่ปีก็จะขึ้นเลขสี่แล้ว ยังโทร.ตามอีกเหรอแม่” คุณแม่ตอบว่า “ถ้าอยู่ญี่ปุ่นไม่โทร.หรอก แต่อยู่กรุงเทพฯ แม่เป็นห่วง” “อยู่ไกลถึงโตเกียวไม่เป็นห่วง แต่อยู่เมืองไทยนี่กลับเป็นห่วง” “ก็ใช่สิ ไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยจะปลอดภัย” คุณแม่ให้เหตุผล ผมไม่แน่ใจว่าคุณแม่รู้ข้อมูลทางสังคมหรืออะไรทำนองนั้นเกี่ยวกับญี่ปุ่นหรือไม่ แต่เมื่อตอบมาแบบนี้ ผมตีความว่าคุณแม่คิดว่าญี่ปุ่น หรือในกรณีของผมก็คือกรุงโตเกียว ปลอดภัยกว่ากรุงเทพฯ อันที่จริง สภาพสังคมในญี่ปุ่นเท่าที่ผ่านมาก็ไม่ห่างไกลจากสิ่งที่คุณแม่เชื่อเท่าไร คนญี่ปุ่นเองก็คิดว่าประเทศนี้อยู่ได้อย่างอุ่นใจ ไม่ว่าจะลืมของหรือทำกระเป๋าสตางค์หล่นที่ไหน ประเดี๋ยวก็ได้คืน ระบบการเดินทางก็ปลอดภัยสูง ดูเหมือนคนที่จะก่ออันตรายต่อผู้อื่นมีไม่มาก สภาพชีวิตประจำวันโดยรวมค่อนข้างปลอดจากอาชญากรรม ซึ่งในจุดนี้สถิติก็ชี้ออกมาในแนวนั้นเหมือนกันว่า อัตราอาชญากรรมในญี่ปุ่นลดลงมาเรื่อยๆ ในระยะประมาณ 10 ปีนี้ คุณแม่คงเข้าใจถูกในจุดนั้น แต่ปัจจุบันภัยไม่ได้มีแค่จากภายใน ซึ่งผมก็ไม่ค่อยกล้าอธิบายละเอียด เพราะกลัวว่าคุณแม่จะเป็นห่วงลูกชายขึ้นมาทั้งตอนอยู่ในและนอกเมืองไทยจนต้องโทร.ตามข้ามประเทศทุกวัน เอาเป็นว่าจะพยายามระวังตัวให้ดีขึ้นครับ ความปลอดภัยในญี่ปุ่นที่ผู้คนเคยชินมานานปีอาจกลายเป็นเรื่องเก่าไปแล้วในวันนี้ เพราะภัยใหม่กำลังส่อเค้าคุกคามญี่ปุ่นอยู่ และผู้คนก็รู้สึกได้ชัดเจนขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุโจมตีก่อการร้ายหลายจุดในกรุงปารีส ญี่ปุ่นจะชะล่าใจไม่ได้อีกแล้ว เพราะถูกกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามเอาปูนหมายหัวไว้เหมือนกัน…