การตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นสาขาหนึ่งในวิชาการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (personal identification) จากการศึกษาค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์เป็นเวลาช้านานพบว่าลักษณะลายเส้นที่ปรากฏบนนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ของมนุษย์สามารถใช้ในการตรวจพิสูจน์บุคคลได้ดีเนื่องจากความจริง 2 ประการ คือ
1. ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน (uniqueness) ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีลักษณะเฉพาะพิเศษที่แตกต่างกัน
2. ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ของแต่ละบุคคลนั้นไม่เปลี่ยนแปลง (permanence) ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย หรือแม้แต่ตายแล้วถ้ามีการรักษาสภาพศพให้ดี ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก็จะคงสภาพไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้น การใช้ลายนิ้วมือ ลายฝ่ามือ ลายฝ่าเท้า ในการตรวจพิสูจน์บุคคลจึงเป็นที่ยอมรับ และนิยมใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
การที่ลายนิ้วมือของแต่ละบุคคลมีความเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนบุคคลอื่นและไม่เปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต หากจะมีการลบเลือนด้วยสารเคมี เช่น ฟอร์มาลินไปก็ตาม แต่เมื่อเจริญขึ้นมาใหม่จะมีลักษณะลายเส้นเหมือนเดิม จึงสามารถใช้ลายนิ้วมือมาตรวจสอบจำแนกตามความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ นอกเหนือจากการตรวจสอบด้วยเสียง ม่านตา และลายพิมพ์ดีเอ็นเอ นอกจากนั้นการตรวจพิสูจน์บุคคลด้วยลายนิ้วมือยังมีประโยชน์ในด้านนิติวิทยาศาสตร์ เช่น ในคดีอาชญากรรม กองทะเบียนประวัติอาชญากร กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการรวบรวมลายนิ้วมือของบุคคลต้องโทษ ข้าราชการ และบุคคลอื่นๆ ไว้มาก เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ตัวบุคคล อาชญากร คนตาย คนสูญหาย เป็นต้น โดยใช้สารบบพิมพ์ลายนิ้วมือสิบนิ้วของเฮนรี่ (FBI Extension of Henry System) นอกเหนือจากการใช้ระบบพิมพ์ลายนิ้วมือเดี่ยว (single fingerprint file) ของแบททรี (Battley) หรือระบบพิมพ์ลายนิ้วมือห้านิ้ว (five fingerprint file) และในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ระบบไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) ซึ่งได้พัฒนาไปสู่ระบบ AFIS (automated fingerprint identification system)
—————————————