เมืองอิวาโน-แฟรงคิฟสก์ น่าจะอยู่ห่างจากสมรภูมิชายแดนรัสเซีย เมืองที่มีชื่อเดียวกับจังหวัดทางฝั่งตะวันตกของยูเครน ห่างไกลจากจังหวัดโดเนทสก์ทางฝั่งตะวันออกที่เป็นพื้นที่การสู้รบแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มกบฏฝักไฝ่รัสเซียมากมายนัก กระนั้นก็ดี เมืองอิวาโน-แฟรงคิฟสก์กลับตกอยู่ภายใต้การโจมตีที่รุนแรงด้วยอาวุธรูปแบบใหม่ และดูเหมือนว่าอาวุธชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพสูงเสียด้วย
ในช่วงเกิดเหตุเมืองอิวาโน-แฟรงคิฟสก์ อยู่ในช่วงฤดูหนาวที่แสนเยือกเย็น ระดับติดลบต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ประชากรหลายล้านคนในเมืองแห่งนี้ต้องเผชิญกับความหนาวแสนสาหัสโดยไม่มีแหล่งพลังงานเพื่อให้ไออุ่น เพราะอาวุธที่ว่านี้ทำลายระบบโรงไฟฟ้าจนทำงานไม่ได้อยู่หลายชั่วโมง
อาวุธร้ายนี้คือ “มัลแวร์” ที่ติดตั้งเข้าไปในระบบโดยความสะเพร่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้า ที่ได้รับอีเมลซึ่งแฝงมัลแวร์ร้ายมากับไฟล์เอกสารไมโครซอฟท์ออฟฟิศ และเปิดออกมาโดยใช้คอมพิวเตอร์ในโรงไฟฟ้า ทำให้มัลแวร์ตัวนี้แพร่กระจายเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ ปิดระบบการทำงานของโรงไฟฟ้าโดยสิ้นเชิง
เป็นกับดักง่ายๆ ที่ได้ผลสำหรับผู้ใช้มัลแวร์ที่ต้องการทดลองความร้ายกาจของชุดคำสั่งของตนเอง และนับเป็นตัวอย่างที่ดีของจุดกำเนิดสงครามไซเบอร์ในอนาคตอันใกล้
อันตรายจากการใช้มัลแวร์ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเช่นนี้ ทำให้ประชากรหลายล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยงต่อสุขภาพ นายเดวิด เอ. คอลล์ แห่งมหาวิทยาลัยบอลสเตท ประเมินว่าการขาดแคลนพลังงาน(ในช่วงเวลาเช่นนี้) ก่อให้เกิดผลกระทบลำดับสองตามมา เช่นการสำลักก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เกิดจากการจุดกองไฟเพื่อสร้างไออุ่น ความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และการผลักดันให้ประชาชนต้องออกจากบ้านเรือนมาหาไออุ่นภายนอกเพราะในตัวบ้านที่แสนหนาวเย็นนั้นไม่มีไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบฮีตเตอร์
โชคดีที่โรงไฟฟ้าในเมืองอิวาโน-แฟรงคิฟสก์นั้นสามารถกลับมาทำงานได้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่วิศวกรที่สะเพร่าดาวน์โหลดเอกสารจากอีเมลที่ไม่คุ้นเคยมาใส่ในระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมโรงไฟฟ้า แต่ก็มีโอกาสมากมายที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้อาจจะทำงานไม่ได้อีกต่อไป หากผู้ผลิตมัลแวร์เพิ่มประสิทธิภาพการทำลายโรงไฟฟ้า
นักวิจัยแห่งอีเสท (ESET) ผู้ผลิตซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ ชี้ว่ามัลแวร์ที่แฝงตัวมาในรูปแบบนี้อาจจะเป็นตัวเปิดประตูหลังเพื่อให้เจ้าของมัลแวร์เข้าเจาะระบบดึงข้อมูลสำคัญออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำลายระบบจากระยะไกลได้ในทุกเวลาที่ต้องการ
ก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา หรือ เพนตากอน ก็เคยประสบเหตุเช่นนี้มาแล้ว เช่นเดียวกับโรงงานถลุงเหล็กกล้าในเยอรมนี ที่ต้องหยุดทำการไปชั่วคราวเพราะระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมโรงงานถูกรบกวนด้วยมัลแวร์ที่เข้าสู่ระบบจากความสะเพร่าและประมาทของเจ้าหน้าที่
ด้านนายบ๊อบ กัวเลย์ อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีแห่งสำนักงานป้องกันข่าวกรองแห่งอเมริกา กล่าวย้ำว่า เหตุการณ์เช่นนี้นับเป็นภัยจากการทำสงครามไซเบอร์ และเป็นภัยต่อสาธารณูปโภคอย่างมาก
หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาก็พยายามค้นหา “ระเบิดเวลาดิจิทัล” ที่ซ่อนอยู่ในคอมพิวเตอร์ควบคุมสาธารณูปโภคในประเทศ ที่อาจจะถูกฝังไว้โดยไม่มีใครรู้ และทำตัวเงียบๆ หลบซ่อนก่อนที่จะถึงเวลาที่กำหนดให้มันแผลงฤทธิ์ออกมา
ทั้งยังประเมินด้วยว่าการโจมตีทางไซเบอร์เช่นนี้อาจจะก่อให้เกิดสงครามเย็น ที่ “เย็นยะเยือก” กว่าสงครามเย็นที่มีผู้เล่นหลักคือสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย…หลายเท่า
ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 09-01-2559
Link : http://www.komchadluek.net/detail/20160109/220122.html