หลังการล่มสลายของรัฐบาลตาลีบัน บรรดานักรบหัวรุนแรงได้แตกกระสานซ่านเซ็นไปทั่วทุกมุมโลก พร้อมพกพาเอาวิชาความรู้และคติความเชื่อแบบสุดโต่งติดตัวไปด้วย
จากการแผ่ขยายภัยคุกคามไปในหลายพื้นที่และหลากรูปแบบ กลุ่มก่อการร้ายไอเอสในอิรักและซีเรียได้กลายเป็นศัตรูกับคนค่อนโลก มหาอำนาจจากทุกขั้วต่างสามัคคีเฉพาะกิจเดินหน้าประกาศสงครามต่อต้านก่อการร้ายโดยมีไอเอสเป็นเป้าหมายหลัก แต่การใช้ปฏิบัติการทางทหารระดมโจมตีอย่างหนักหน่วงในอิรักและซีเรียซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยหวังว่าจะสามารถทำลายฐานที่มั่นและกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายนี้ได้เบ็ดเสร็จ อาจต้องทบทวนกันใหม่ ผู้เชี่ยวชาญที่เฝ้าจับตาสถานการณ์มาตลอดประเมินว่า แม้วันหนึ่งกองกำลังรัฐบาลและพันธมิตรประเทศต่าง ๆ จะสามารถถล่มไอเอสได้ราบคาบและทวงคืนพื้นที่ยึดครองกลับมาได้ ก็ใช่ว่าเชื้อร้ายจะถูกทำลายหายสิ้นไป
หน่วยข่าวกรองสหรัฐประเมินตัวเลขนักรบต่างชาติที่เข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในสมรภูมิ ตกอยู่ที่ประมาณ 30,000 คน จากราว 100 ประเทศทั่วโลก ยังไม่นับรวมก่อการร้ายรุ่นเก๋าอีกจำนวนมากที่เคลื่อนไหวมานานหลายทศวรรษ เพียงแค่ในอัฟกานิสถานแห่งเดียว ช่วงระหว่างปี 2539-2544 ก็มีมากถึงราว 10,000-20,000 คน ที่ได้รับการฝึกฝนในฐานะนักรบก่อการร้าย ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากนายโอซามา บิน ลาเดน
หลังการล่มสลายของรัฐบาลตาลีบัน บรรดานักรบหัวรุนแรงได้แตกกระสานซ่านเซ็นไปทั่วทุกมุมโลก พร้อมพกพาเอาวิชาความรู้และคติความเชื่อแบบสุดโต่งติดตัวไปด้วย ผู้ก่อการร้ายรุ่นใหญ่ผู้เจนสนามเหล่านี้ คือภัยคุกคามหลักในระยะยาวซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นโดยชาติตะวันตกยังล้าหลังเกินกว่าจะรับมือไหว
ไม้ตายของไอเอสที่ถูกบ่มเพาะมานานปี คืออาวุธร้ายแรงที่สุดที่เรียกว่า “ความเชื่อ” ซึ่งแม้จะจับต้องไม่ได้แต่ก็มีอานุภาพทะลุทะลวงไปได้ทุกที่ แทรกซึมเข้าฝังรากลึกใต้จิตสำนึกของกลุ่มเป้าหมาย เหล่าสาวกที่พร้อมอุทิศตนเพื่อสงครามไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์รบที่ถูกตั้งโปรแกรม เป็นระเบิดเวลาที่พร้อมทำลายล้างทุกเมื่อ การทำให้แตกกลุ่มก็เหมือนเชื้อไวรัสที่แพร่ออกไปซุ่มรอเวลาแผลงฤทธิ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเกินจะคาดเดาตามมา
ไม่มีสงครามใดที่สมบูรณ์แบบ พวกที่เหลือรอดมาได้ย่อมไม่ธรรมดา ต้องเป็นชั้นหัวกะทิที่มีวิทยายุทธ์แก่กล้าพอตัว นายแมทธิว กีเดเร ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยตูลูซ ประเทศฝรั่งเศส ได้ยกตัวอย่างถึงกรณีของกลุ่มอัล-กออิดะห์ ซึ่งใครต่อใครเคยหลงระเริงว่าจะกำจัดได้โดยวิธีง่าย ๆ ด้วยการเด็ดส่วนหัวอย่างบิน ลาเดน แต่ไม่คาดคิดว่าต่อให้หัวเก่าถูกกุดไป ก็จะมีหัวใหม่ผุดขึ้นมาไม่รู้จบ ขณะเดียวกัน กลุ่มย่อยที่แตกออกมาก็เติบโตพัฒนาไปเป็นกลุ่มที่มีความร้ายแรงยิ่งกว่าตัวดั้งเดิมเสียอีก
กีเดเร กล่าวว่า นักรบหัวรุนแรง มีศักยภาพสูงในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพใหม่ ๆ ที่ต้องเผชิญ โดยจะมีพัฒนาการทั้งด้านโครงสร้างองค์กรและรูปแบบการก่อเหตุ ให้สอดคล้องไปกับบริบทแวดล้อม คล้ายกับไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้การเอาชนะเป็นเรื่องยาก
ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการทางทหารในปัจจุบัน ไม่ได้ทำลายล้างแต่เพียงกลุ่มก่อการร้ายเท่านั้น แต่ยังคุกคามถึงสวัสดิภาพในชีวิตของพลเรือนในพื้นที่ซึ่งรัฐไร้ศักยภาพในการให้ความคุ้มครองอย่างสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่การเป็นเหยื่อของผลกระทบจากการโจมตีกลุ่มก่อการร้ายของรัฐบาลเท่านั้น แต่พลเรือนยังตกเป็นเป้านิ่งของกลุ่มไอเอส โดยเฉพาะเมื่อรูปการณ์เป็นไปในทำนองที่ว่า ชาวบ้านยืนข้างเจ้าหน้าที่รัฐและมีส่วนช่วยเหลือในปฏิบัติการโจมตีและยึดคืนพื้นที่
นายแมทธิว เฮนมัน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเหตุรุนแรงและลัทธิก่อการร้าย ไอเอชเอส เจน ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ กล่าวว่า การมุ่งเป้าโจมตีไปที่พลเรือนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธี ที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงและปลอดภัยในพื้นที่ที่กำลังจะถูกกองกำลังรัฐบาลยึดคืน นอกจากนี้เสถียรภาพในฐานที่มั่นที่ถูกสั่นคลอนจากการโจมตีของรัฐ อาจกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ไอเอสหันไปเล่นสงครามนอกบ้าน ด้วยการส่งนักรบต่างชาติแฝงตัวกลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อปฏิบัติการล้างแค้น ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาค่อนข้างเห็นได้ชัดว่า การระบุตัวผู้ต้องสงสัยในหมู่พลเรือนไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนักสำหรับรัฐบาลต่าง ๆ
เลนซ์ซูม
ที่มา : เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2559 เวลา 3:11 น.
อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/article/373051