การทำนายทายทักเป็นอาชีพของ “หมอดู” ที่ใช้การศึกษาสถิติเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้เพียงพอที่จะคาดการณ์อนาคตว่าด้วยมีเหตุปัจจัยเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตข้างหน้า เป็นที่มาของคำว่า “โหราศาสตร์”
ด้วยเหตุนี้เองหลักสถิติจึงเป็นเรื่องที่นำมาอ้างอิงได้เพราะรวบรวมมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเวลาหนึ่งๆ สถิตินั้นต้องอ้างอิง “ข้อมูล” ที่มีการเก็บสะสม เรียบเรียง และจัดหมวดหมู่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ยิ่งมีข้อมูลจำนวนมากเท่าไหร่ การวิเคราะห์ก็จะยิ่งเพิ่มความแม่นยำมากขึ้นตามไปด้วย การพยากรณ์นั้นไม่จำกัดเฉพาะเรื่องโหราศาสตร์ แต่ยังสามารถใช้กับการพยากรณ์สภาพอากาศ สภาพการจราจร และผลการเลือกตั้ง จนถึงเหตุอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย เช่นที่เกาหลีใต้ ซึ่งตำรวจเพิ่งเปิดโครงการ “บิ๊กดาต้า โปรแกรม” ที่เป็นศูนย์กลางการเก็บรวบรวมข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมาแล้ว เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพยากรณ์เหตุอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาข้างหน้า
เดินตามรอยผู้เขียนบทภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง “ไมนอริตี้ รีพอรฺ์ท” ที่มีทอม ครูส เป็นพระเอก แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่าในบทภาพยนตร์นั้นมีการอ้างอิงคำทำนายจากความฝันของเทพพยากรณ์ 3 คน ที่จะมี “นิมิต” ถึงเหตุอาชญากรรมในอนาคต และเมื่อหน่วยตำรวจพิเศษถอดรหัสออกมาเป็นภาพก็จะบุกไปยังที่เกิดเหตุก่อนที่อาชญากรรมนั้นจะเกิดขึ้น และจับกุมตัวว่าที่ผู้ก่อเหตุก่อนที่จะลงมือก่อเหตุร้าย
ขณะที่โครงการของตำรวจเกาหลีใต้นั้นอ้างอิงเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า ที่มีความน่าเชื่อถือในเชิงสถิติมากกว่าการใช้นิมิตของเทพพยากรณ์ในภาพยนตร์ โดยโครงการนี้ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาพร้อมเงินลงทุน 5,200 ล้านวอน (ประมาณ 154 ล้านบาท) และอีก 1,500 ล้านวอนในปีถัดไป จะอาศัยข้อมูลอาชญากรรมจากฐานข้อมูลภายในขององค์กรตำรวจ และระบบสารสนเทศความยุติธรรมอาชญากรรมแห่งเกาหลี (เคไอซีเอส) ประกอบกับข้อมูลจากสาธารณะและข้อมูลจากแหล่งข่าวเพื่อช่วยในการพยากรณ์ความคิดของผู้ก่ออาชญากรรม
ข้อมูลจากสาธารณะที่ว่านี้ยังรวมไปถึง “บิ๊กดาต้า” หรือคลังข้อมูลมหาศาลที่ปรากฏอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ รวมทั้งบล็อก (Blog) ที่ปรากฏเป็นข้อมูลสาธารณะ
เมื่อตำรวจได้รับข้อมูลเหล่านี้จะเริ่มทำการแยกแยะ จัดเรียง และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาสถิติ และทิศทางการเกิดอาชญากรรม เพื่อระบุตัวผู้ก่อเหตุ และสถานที่ที่เป็นไปได้ว่าจะใช้ซ่อนตัว ทั้งยังใช้กำหนดกลุ่มเสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรม
อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลเหล่านี้ใช่ว่าจะง่าย เพราะต้องขออนุญาตจากเจ้าของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบุคคล หน่วยงานรัฐ และบริษัท ที่อาจจะไม่ยอมให้ข้อมูลส่วนบุคคลมาเข้าฐานข้อมูลอาชญากรรมก็เป็นได้ เนื่องจากข้อมูลส่วนตัวนั้นเป็นสมบัติส่วนบุคคลและกฎหมายเกาหลีใต้กำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามละเมิด
ทำให้ในช่วงต้นนี้ระบบเคไอซีเอสจะจำกัดอยู่ในวงการพยากรณ์อาชญากรรมประเภทการปล้น การละเมิดทางเพศ และยาเสพติดเท่านั้น แต่ผู้ที่อยู่ในโครงการนี้เชื่อมั่นว่าเมื่อใช้เวลาเก็บข้อมลอีกสักพักก็จะขยายขอบเขตการทำงานจนครอบคลุมเงื่อนไขการทำงานที่ระบุไว้ข้างต้นได้ทั้งหมด
——————————————-
ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์ โดย…วัจน พรหโมบล วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559
Link : http://www.komchadluek.net/detail/20160213/222262.html