สายการบินอินเดีย แจ้งมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เที่ยวบิน AI332 นิวเดลี-สุวรรณภูมิ กำหนดลงที่ไทยเวลา 19.23 น. เร่งอพยพผู้โดยสาร ให้้ จนท.EOD เข้าตรวจ ล่าสุดไม่พบระเบิด ส่งผดส.ผ่านการตรวจคนเข้าเมืองตามปกติ ยกเลิกเหตุฉุกเฉิน…
เมื่อเวลา 19.10 น.วันที่ 16 มี.ค.2559 ร.ต.ท.สิทธิพงษ์ ปานไธสงค์ รองสว.(สอบสวน) สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รับแจ้งจากหอบังคับการบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่าได้รับแจ้งจากกัปตันสายการบินแอร์อินเดียว่า มีเหตุขู่วางระเบิดบน สายการบินแอร์ เที่ยวบิน AI 332 นิวเดลี-สุวรรณภูมิ กำหนดลงที่ไทยเวลา 19.23 น. จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ก่อนประสานหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และประสานฝ่ายเก็บกู้ของ ทสภ.และฝ่ายดับเพลิง
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบริเวณ ที่จอดอากาศยานเฉพาะกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ซึ่งแยกออกจากอาคารผู้โดยสารและหลุมจอดอากาศยานปกติเบื้องต้น ทางหอบังคับการบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรับแจ้งจากกัปตันว่า ทางสนามบินอินเดียโทรมาบอกว่า มีเหตุขู่วางระเบิดเครื่องบิน โดยตั้งเวลาไว้ให้ระเบิด 19.15 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยระบุชื่อผู้ต้องสงสัยชื่อ สมิท ซิง. นั่งเก้าอี้ที่ 24 c
ทั้งนี้ เครื่องบินดังกล่าวลงจอดในเวลา 19.10 น. จากนั้นทางสายการบินได้ปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินโดยให้ผู้โดยสารลงจากอากาศยานทางประตูฉุกเฉินด้วยการโรยตัวลงบนเบาะลม จากนั้นนำผู้โดยสาร จำนวน 231 คน และลูกเรือ 10 คน พร้อมกระเป๋าสัมภาระทั้งหมด ไปพักรอที่สถานีดับเพลิง และกู้ภัยฝั่งตะวันออก ให้เจ้าหน้าที่ EOD พร้อมสุนัข เข้าตรวจค้นตามเป๋าสัมภาระ ผลการตรวจผู้โดยสารและกระเป๋าไม่พบสิ่งของต้องสงสัย รวมถึงตรวจผู้ต้องสงสัยก็ไม่พบสิ่งต้องสงสัยตามที่มีระบุแต่อย่างใด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ EOD อยู่ระหว่างกำลังความเรียบร้อยภายในอากาศยานอีกครั้ง
ต่อมา นางฉฏาณิศา ชำนาญเวช รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 2) รักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (16 มีนาคม 2559) เมื่อเวลาประมาณ 18.50 น. ศูนย์รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รับแจ้งจากหอบังคับการบินว่า เครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 787-8 ของสายการบินแอร์อินเดีย เที่ยวบิน AI 332 เส้นทางท่าอากาศยานอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ถูกขู่วางระเบิด
“โดยเที่ยวบินดังกล่าวตามตารางการบิน มีกำหนดเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในเวลา 19.20 น. ภายหลังได้รับแจ้งเหตุ ทสภ. จึงได้มีการประกาศใช้แผนฉุกเฉิน บทที่ 9 กรณีการขู่วางระเบิดอากาศยาน (Bomb threat on aircraft) โดยเมื่อเวลา 19.10 น. เครื่องบินลำดังกล่าวได้ลงจอดที่ ทสภ. อย่างปลอดภัยและได้เข้าจอดที่หลุมจอด Isolate Parking และได้ทำการอพยพผู้โดยสาร ซึ่งมีจำนวน 231 คน และลูกเรือ 10 ออกจากเครื่องโดยทันที” นางฉฏาณิศา กล่าว
นางฉฏาณิศา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังให้ผู้โดยสาร ไปพักรอที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยฝั่งตะวันออกเพื่อทำการตรวจค้นร่างกาย และได้นำเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) ขึ้นตรวจสอบเครื่องบินลำดังกล่าว รวมทั้งได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ฝ่ายรักษาความปลอดภัย รวมทั้งหน่วยแพทย์ของ ทสภ. เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามแผนฉุกเฉินแล้ว ขณะนี้ ทสภ. อยู่ในระหว่างการนำสัมภาระของผู้โดยสารลงจากเครื่องเพื่อทำการตรวจสอบตามขั้นตอนอย่างละเอีย ทั้งนี้ในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนตามแผนฉุกเฉิน ทสภ. ได้จัดอาหารว่างและเครื่องดื่มเพื่อให้บริการผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวแล้ว
ต่อมาเมื่อเวลา 00.45 น.รรก.ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบอากาศยาน ผู้โดยสาร สัมภาระและสินค้าบนเครื่องแล้ว ปรากฏว่า ไม่พบวัตถุต้องสงสัยที่เป็นวัตถุระเบิดแต่อย่างใด ทสภ. จึงได้มีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเวลา 00.15 น. ของวันที่ 17 มีนาคม 2559 จากนั้นจึงได้นำผู้โดยสารผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ก่อนที่จะให้ผู้โดยสารรับกระเป๋าและสามารถเดินทางออกจาก ทสภ. ได้ตามปกติ โดยจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้มีการอพยพผู้โดยสารลงจากเครื่องโดยใช้รางเลื่อนหนีภัย (Slide Raft) จึงทำให้มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการสไลด์ตัวจำนวน 42 ราย โดยหน่วยแพทย์ ทสภ. ได้ทำการปฐมพยาบาลให้เรียบร้อยแล้ว และมีผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บปานกลาง ต้องนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการเจ็บหน้าอก อันเป็นผลมาจากโรคหัวใจซึ่งเป็นโรคประจำตัวจำนวน 1 ราย
นางฉฏาณิศา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวสามารถผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย สืบเนื่องจากการปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินของ ทสภ. ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งจากส่วนงานภายใน ทสภ. เจ้าหน้าที่สายการบินแอร์อินเดีย เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ EOD. รวมทั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยาน หากเกิดกรณีมีการขู่วางระเบิดอากาศยาน ทุกหน่วยสามารถประสานการปฏิบัติงานแบบบูรณาการได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวได้ในเวลาอันรวดเร็ว และกระทบต่อการให้บริการของท่าอากาศยานน้อยที่สุด ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ลูกเรือ และอากาศยานเป็นสำคัญ.
——————————————–
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ 16 มี.ค. 2559 22:50 น.
Link : http://www.thairath.co.th/content/591974