สวัสดีครับท่านผู้อ่าน คำว่า “พฤติกรรม” และ “พฤติการณ์” ที่ผมยกมาเป็นหัวข้อในวันนี้ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยสับสนว่าสถานการณ์ใดควรเลือกใช้คำใดจึงจะถูก หากมองตามรูปศัพท์ ทั้งสองคำมีที่มาจากคำว่า พฤติ, พฤติ – (พรึด, พรึดติ) ซึ่งเป็นคำนาม หมายถึง ความประพฤติ, กิจการ, ความเป็นไป; ลักษณะความเป็นอยู่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า “พฤติกรรม” ไว้ว่า น. การกระทำหรืออาการที่แสดงออกทางกล้ามเนื้อ ความคิด และความรู้สึก เพื่อตอบสนองสิ่งเร้า ส่วนคำว่า “พฤติการณ์” หมายถึง น. เหตุการณ์ ที่เป็นมาหรือที่จะเป็นไป, ความเป็นไปในเวลากระทำการ
เมื่อมองให้ลึกถึงรายละเอียด จะเห็นได้ว่า “พฤติกรรม” หมายถึงการกระทำของบุคคล สามารถใช้ในความหมายกลางๆ ไม่จำเป็นต้องระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำ หรือกระทำเมื่อใด เช่น การทิ้งขยะบนทางเท้าเป็นพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง, พ่อแม่และครูอาจารย์ควรร่วมมือกันสร้างสรรค์พฤติกรรมตัวอย่างที่ดีให้กับวัยรุ่น เป็นต้น ส่วนคำว่า “พฤติการณ์” จะใช้กับสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้น มักมีความเฉพาะเจาะจงในแง่ของตัวผู้กระทำ เวลา และสถานที่ เช่น ศาลพิจารณาจากพฤติการณ์แล้วเห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะทำลายทรัพย์สินของโจทก์จริง จึงตัดสินให้เปรียบเทียบปรับจำเลยเป็นเงินห้าพันบาท เป็นต้นครับ
คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับคำว่า พฤติ, พฤติ- ยังมีอีกสองคำ คือคำว่า “พฤตินัย”หมายถึง น. ความหมายตามข้อเท็จจริง ต่างกับ นิตินัย คือความหมายตามกฎหมาย และคำว่า “ประพฤติ” ซึ่งหมายถึง น. ความเป็นไปอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือปฏิบัติตน, การทำตาม, เหตุต้นเค้า. ก. ทำตาม, ปฏิบัติ เช่น ประพฤติธรรม; กระทำ, ดำเนินตน, ปฏิบัติตน เช่น ประพฤติดี ประพฤติชั่ว
สรุปได้ว่า คำว่า “พฤติกรรม” และ “พฤติการณ์” แม้จะสะกดคล้ายกันแต่ก็มีที่ใช้ต่างกันค่อนข้างชัดเจน จึงขอให้ท่านผู้อ่านเลือกใช้ให้เหมาะสมด้วยครับ
———————————–
คอลัมน์ : ภาษาไทย…ขัดใจปู่ โดย ทิดกร สอนภาษา
ที่มา : http://www.nationejobs.com/citylife/content.php?ContentID=23