คำที่ผมยกมาเป็นหัวข้อในวันนี้เป็นคำที่มีผู้ใช้สับสนกันมากครับ โดยทั้งสามคำเป็นคำพ้องเสียง อ่านเหมือนกันหมดว่า /ทัน-กาน/ แต่มีวิธีการสะกดต่างกัน และมีการใช้ต่างกันด้วย นอกจากนี้ ในจำนวนสามคำนี้ยังมีคำหนึ่งที่ (น่าจะ) เป็นคำที่ผิดและไม่มีใช้ในภาษาไทย ส่วนจะเป็นคำใดนั้นเชิญติดตามอ่านกันได้เลยครับ
ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของสามคำนี้ก่อน ทั้งสามคำประกอบขึ้นจากคำว่า “ทัน” ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เป็นไปตามเวลาที่กำหนด คำว่า “กาล” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง ดังนั้น คำว่า “ทันกาล” จึงหมายถึง ทันเวลา, ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา เช่น อย่ามัวชักช้าเดี๋ยวงานจะเสร็จไม่ทันกาล
คำว่า “การณ์” หมายถึง เหตุ, เค้า มูล ดังนั้น คำว่า “ทันการณ์” จึงน่าจะหมายถึง ทันต่อเหตุการณ์ เช่น ปัจจุบันเราสามารถรายงานข่าวได้รวดเร็วทันการณ์ เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ส่วนคำว่า “การ” หมายถึง งาน, สิ่งหรือ เรื่องที่ทำ, ธุระ, หน้าที่ ในพจนานุกรมฉบับราช บัณฑิตยสถานไม่พบคำว่า “ทันการ” บันทึกอยู่เลย แต่พจนานุกรมนอกราชบัณฑิตยฯ โดยสำนักพจนานุกรม มติชน ได้เก็บคำว่า “ทันการ” เป็นคำกิริยา โดยให้ความหมายว่า พอดีกับงาน เหมาะแก่เวลา ซึ่งผมพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่น่าจะถูก เพราะ “พอดีกับงาน” ไม่น่าจะใช่ความหมายของคำว่า “ทัน” และ “เหมาะแก่เวลา” น่าจะเป็นความหมายของคำว่า “ทันกาล” ดังตัวอย่างข้างต้นมากกว่า อีกทั้งคำดังกล่าวยังไม่น่าจะเป็นคำกิริยาอีกด้วย หากคุณผู้อ่านลองนำคำว่า “ทันการ” ไปแต่งประโยคโดยให้เป็นคำกิริยาดู คงจะได้ประโยคใจความประหลาดไม่น้อย ผมจึงสันนิษฐานว่าคำว่า “ทันการ” น่าจะไม่มีที่ใช้ในภาษาไทย เป็นเพียงคำที่มีผู้สะกดผิดหรือเข้าใจผิดมาจากคำว่า “ทันกาล” หรือ “ทันการณ์” มากกว่า หรือหากท่านผู้อ่านมีความเห็นต่างไปจากนี้ ก็ขอเชิญเขียนเข้ามาร่วมอภิปรายกันได้ครับ
———————————————
คอลัมน์ : ภาษาไทย…ขัดใจปู่ โดย ทิดกร สอนภาษา
ที่มา : http://www.nationejobs.com/citylife/content.php?ContentID=8