ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “เอกลักษณ์” ในความหมายว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น เขาเป็นคนมีน้ำเสียงดุดันเป็นเอกลักษณ์ ส่วนคำว่า “อัตลักษณ์” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ผมพบว่ามีการใช้มากขึ้นในปัจจุบันโดยเฉพาะในแวดวงวิชาการ เช่น สัมมนาเรื่องการแสดงอัตลักษณ์ของกวีในบทประพันธ์ร่วมสมัย
คำว่า “เอกลักษณ์” และ “อัตลักษณ์” นี้สะกดคล้ายคลึงกัน แต่มีความหมายไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แถมยังมีความหมายบางส่วนทับซ้อนกันอยู่ วันนี้ผมจึงขอหยิบยกเอาสองคำเจ้าปัญหามาอธิบายดังนี้ครับ
คำว่า “เอกลักษณ์” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ลักษณะที่เหมือนกันหรือมีร่วมกัน เช่น ชุมชนนี้มีเอกลักษณ์อยู่ที่การทอผ้าจก หมายความว่าคนในชุมชนนี้มีอาชีพทอผ้าจกเหมือนๆ กันหมด อย่างไรก็ดี คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้คำว่า “เอกลักษณ์” ในความหมายว่าลักษณะอันเป็นเฉพาะ มีหนึ่งเดียวของสิ่งๆ หนึ่งดังที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น เช่น ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย
ส่วนคำว่า “อัตลักษณ์” ไม่มีบันทึกไว้ในพจนานุกรม แต่มีตำราหลายเล่มให้ความหมายคำว่า “อัตลักษณ์” ไว้ว่าคุณลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของลักษณะเฉพาะของบุคล สังคม ชุมชน หรือประเทศนั้นๆ เช่น เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น และศาสนา ฯลฯ ซึ่งมีคุณลักษณะที่ไม่ทั่วไปหรือสากลกับสังคม อื่นๆ พูดง่ายๆ คือลักษณะที่ไม่เหมือนกับของคนอื่นๆ “อัตลักษณ์” มาจากภาษาบาลีว่า อตฺต + ลักษณ โดยที่ “อัตตะ” มีความหมายว่า ตัวตน, ของตน ส่วน “ลักษณะ” หมายถึง สมบัติเฉพาะตัว หากมองเพียงแค่รูปศัพท์ “อัตลักษณ์” จึงเหมาะจะนำมาใช้หมายถึงลักษณะเฉพาะตัวของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่า ส่วนคำว่า “เอกลักษณ์” มีคำว่า “เอก” ซึ่งหมายถึง หนึ่งเดียว จึงน่าจะหมายความว่าลักษณะหนึ่งเดียว (ของหลายๆ สิ่ง) หรือลักษณะที่ของหลายๆ สิ่งมีร่วมกัน ซึ่งเป็นความหมายแรกตามพจนานุกรมนั่นเอง
อย่างไรก็ดี คนไทยโดยส่วนใหญ่ยังนิยมใช้คำว่า “เอกลักษณ์” ในความหมายว่าลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครอย่างกว้างขวาง ส่วนคำว่า “อัตลักษณ์” นั้นมักจะใช้ในวงแคบๆ เช่นแวดวงวิชาการเท่านั้น และบางครั้งก็ใช้แบบมีนัยยะแฝง เช่น “เอกลักษณ์” เป็นสิ่งตายตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่วน “อัตลักษณ์” สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่กระนั้นก็ยังไม่มีข้อบัญญัติการใช้ที่ชัดเจนนัก ผมจึงหวังว่าในอนาคตพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหรือฉบับอื่นๆ จะรวบรวมคำว่า “อัตลักษณ์” ไว้ด้วย และอธิบายความแตกต่างของทั้งสองคำนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ
———————————————
คอลัมน์ : ภาษาไทย…ขัดใจปู่ โดย ทิดกร สอนภาษา
ที่มา : http://www.nationejobs.com/citylife/content.php?ContentID=1451