หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันการใช้งานสื่ออินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้งานบนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งเป็นสื่ออินเทอร์เน็ตที่มีอิทธิพลสูง เนื่องด้วยมีการเชื่อมโยงกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก และมีการสร้างส่วนร่วมกับผู้ใช้งานให้มีปฏิสัมพันธ์กัน อาทิเช่น FacebookInstagram Twitter Youtube เป็นต้น ทั้งนี้ภาครัฐทุกภาคส่วน มีหน้าที่ในการช่วยกำกับดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ให้เป็นไปในทางที่เหมาะสม ถูกกฎหมาย ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือก่อให้เกิดปัญหาสังคม อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐอาจจะตกเป็นเป้าหรือเครื่องมือของผู้ไม่ประสงค์ดี เพื่อใช้ในการแพร่กระจายเนื้อหาอันไม่เหมาะสม หรืออาจเกิดการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการกระจายตัวของเนื้อหาอันไม่เหมาะสมโดยไม่เจตนา
สำหรับมาตรการในการลดการแพร่กระจายเนื้อหาอันไม่เหมาะสมบนสื่อสังคมออนไลน์สำหรับภาครัฐ มีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดำ เนินการตามมาตรการนี้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามการเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม
๒. กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐโดยทั่วไป สำหรับมาตรการดังกล่าว มีดังนี้
กลุ่มที่ ๑. สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามการเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม
มาตรการในการดำเนินการ | เหตุผล |
๑. ให้ใช้บัญชีใช้งาน (Account) ที่สร้างขึ้นใช้เป็นการเฉพาะสำหรับการติดตาม : สำหรับการติดตามกลุ่มบุคคลหรือติดตามเนื้อหาอันไม่เหมาะสมบนสื่อสังคมออนไลน์ ให้ใช้บัญชีใช้งาน (Account) ที่สร้างขึ้นใช้เป็นการเฉพาะสำหรับการติดตาม กล่าวคือ ห้ามใช้บัญชีที่เป็นของตนเองที่มีการเชื่อมโยงกับเพื่อนสมาชิกคนอื่น (Friend) เข้าทำการติดตาม | สื่อสังคมออนไลน์ เช่นYoutube และ Facebookจะพิจารณาเนื้อหาที่เฝ้าติดตาม และอาจนำเสนอหรือแนะนำให้เพื่อนสมาชิกคนอื่นที่เป็นเพื่อนกับเจ้าของบัญชีเห็นข้อมูลดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นการเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสมในทางอ้อมโดยไม่เจตนา |
๒. ทำการลบประวัติการค้นหาหรือประวัติการเข้าถึงข้อมูล : กรณีเมื่อทำการตรวจสอบหรือหากได้พบเห็นการเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม เช่น เนื้อหาข้อความ หรือ วิดีโอ ขอให้ทำการลบประวัติการค้นหา หรือประวัติการเข้าถึงข้อมูลบนสื่อชนิดนั้นๆ เมื่อทำการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วหรือเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้วในทันที | เพื่อลดการนำเสนอ หรือเสนอแนะการรับชมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจากระบบในครั้งถัดไป และลดการเพิ่มยอดการเข้าชมจากการนำเสนอของระบบ ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีจะมีลักษณะจดจำพฤติการณ์การรับชมเนื้อหา ถึงแม้ว่าผู้รับชมจะไม่ได้กดเพื่อติดตามเนื้อหาดังกล่าวก็ตาม อาทิเช่น การรับชมวิดีโอ เพียงได้รับชมวิดีโอชนิดนั้นเพียงครั้งเดียว สื่อสังคมออนไลน์ที่ให้บริการวิดีโอนั้น จะจดจำลักษณะเนื้อหาที่ได้รับชม และจะประมวลผลเพื่อแนะนำ หรือนำเสนอเนื้อหาลักษณะดังกล่าวในโอกาสต่อไป ยิ่งมีการรับชมเนื้อหาลักษณะดังกล่าวบ่อยเช่นไร โอกาสที่ระบบจะแนะนำให้รับชมเนื้อหาลักษณะนั้นจะมีมากขึ้น การลบประวัติจึงแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง |
๓. แนะนำ ให้แจ้งสายด่วนภาครัฐ ๑๑๑๑ หรือ ๑๒๑๒ : กรณีมีประชาชนสอบถามถึงการดำเนินการ หากพบเห็นเนื้อหาอันไม่เหมาะสม ขอได้ให้คำแนะนำโดยแจ้งยังสายด่วนภาครัฐ ๑๑๑๑ หรือสายด่วนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ๑๒๑๒และอย่าติดตามเนื้อหาดังกล่าวหลังจากแจ้งแล้ว |
ทั้งนี้ด้วยเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะจำเป็นต้องสืบสวน ซึ่งหากมีประชาชนเข้าไปดูเนื้อหาดังกล่าวอีก จะทำให้คัดกรองผู้ไม่ประสงค์ดีได้ยากลำบาก และยังเป็นการเพิ่มยอดการเข้าชม |
๔. เก็บหลักฐาน ยูอาร์แอล (URL) : การเก็บหลักฐานข้อมูลเนื้อหาอันไม่เหมาะสม ขอให้เก็บข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เป็นหลัก โดยต้องมี ยูอาร์แอล (URL) หรือตำแหน่งที่อยู่ของเนื้อหาดังกล่าว ด้วยหากไม่เก็บลักษณะนี้แล้ว จะทำให้การเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบสำหรับเจ้าหน้าที่ทำได้ลำบาก และไม่ต้องทำการแปลงตัวเลขอารบิคเป็นตัวเลขไทย ให้เก็บเป็นลักษณะที่ปรากฏบนยูอาร์แอลดังกล่าว | ทั้งนี้ด้วยเก็บหลักฐานลักษณะอื่นเช่น รูปภาพอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเมื่อถึงเวลาทำการตรวจสอบ และขอให้จัดส่งข้อมูลรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดระยะเวลาในการพิมพ์ซ้ำและการสะกดตัวอักษรที่ผิดพลาด |
กลุ่มที่ ๒. สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐโดยทั่วไป
มาตรการในการดำเนินการ | เหตุผล |
๑. ระวังเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจอาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม : ให้ระมัดระวังเรื่องการเข้าชมเนื้อหาที่มีลักษณะดึงดูดความสนใจและอาจมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และขอให้ตรวจสอบการเข้าถึงแอพพลิเคชันที่เคยเข้าใช้งานอยู่เป็นประจำ หากแอพพลิเคชันใดมิได้ใช้งานแล้ว ขอให้ดำเนินการลบออกจากระบบเพื่อป้องกันการใช้งานแอบแฝงจากแอพพลิเคชันที่มีจุดประสงค์แอบแฝง | ด้วยในปัจจุบัน มีเนื้อหาบางประเภท ที่แอบแฝงชุดคำสั่งอันไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าชม และมีการใช้บัญชีของผู้ใช้งานที่เข้าชม ในการเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการกระทำความผิดโดยไม่รู้ตัว |
๒. ใช้หลักการรายงาน (report) หรือซ่อนเนื้อหา : หากพบเห็นบุคคลรู้จักเผยแพร่ข้อมูลอันไม่เหมาะสม ทั้งที่มีเจตนาและไม่มีเจตนา ให้ทำการตรวจสอบว่า เข้าหลักเกณฑ์การรายงานของสื่อสังคมออนไลน์นั้นหรือไม่หากเข้ากฎเกณฑ์ให้กดรายงาน หากไม่แน่ใจให้ทำการเลือกหัวข้อซ่อนเนื้อหาของบัญชีดังกล่าว | เพื่อเป็นการลดยอดการรับชมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมที่ระบบอาจจะพิจารณาหรือตีความผิดว่า เป็นเนื้อหาที่ควรเผยแพร่ ด้วยสื่อออนไลน์มีช่องทางสำหรับการแจ้งรายงานเนื้อหาที่อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิด แต่ทั้งนี้หากบางกรณีแล้วกฎหมายในต่างประเทศอาจจะไม่ครอบคลุมเรื่องดังกล่าวผู้ใช้งานอาจจะพิจารณาซ่อนเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมหรือไม่ต้องรับข้อทราบข้อมูลดังกล่าวได้ |
๓.ทำการลบประวัติการเข้าใช้งาน : หากได้เห็นการเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม เช่น เนื้อหา ข้อความหรือ วิดีโอ แล้ว ขอให้ทำการส่งยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและให้ทำการลบประวัติการค้นหาหรือเข้าถึงข้อมูลบนสื่อชนิดนั้นๆ | เพื่อลดการนำเสนอ หรือเสนอแนะการรับชมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจากระบบในครั้งถัดไป และลดการเพิ่มยอดการเข้าชมจากการนำเสนอของระบบ |
๔. งดเว้นการโต้ตอบกับบัญชีผู้ใช้งานที่ไม่เหมาะสม : หากพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ห้ามทำการโพสต์ข้อความใดๆ ในส่วนของการแสดงความคิดเห็นของเนื้อหานั้นเช่น การโพสต์โต้ตอบหรือว่าร้ายผู้ที่โพสต์เนื้อหาดังกล่าวเนื่องจากเกิดความโกรธเคือง หรือการเชิญชวนผู้อื่นเข้ามาโพสต์โต้ตอบบัญชีผู้โพสต์เนื้อหาดังกล่าวและขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป | เนื่องจากจะทำให้เนื้อหานั้น ได้รับความนิยมมากขึ้น และผู้ที่เป็นเพื่อน (Friend) ทางสื่อสังคมออนไลน์ จะเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน |
๕. งดเว้นการนำภาพผู้ที่อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์มาทำการวิจารณ์ : กรณีที่พบเห็นบัญชีผู้ใช้งานบนสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม อย่าจับภาพหน้าจอของบัญชีผู้ใช้งานดังกล่าวหรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของบัญชีใช้งานดังกล่าว ในลักษณะประณามหรือเกิดการลงทัณฑ์ทางสังคม | ด้วยในหลายกรณี ผู้ไม่ประสงค์ดีได้ทำการปลอมแปลงบัญชีผู้ใช้งานของผู้บริสุทธิ์ หรือขโมยรหัสผ่านของผู้บริสุทธิ์ และทำการเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม ทำให้สังคมเข้าใจบุคคลนั้นผิด ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียบุคคลที่บริสุทธิ์คนหนึ่งไป |
๖. แนะนำ ให้แจ้งสายด่วนภาครัฐ ๑๑๑๑ หรือ๑๒๑๒ : หากพบเห็นเนื้อหาอันไม่เหมาะสม ขอให้แจ้งยังสายด่วนภาครัฐ ๑๑๑๑ หรือสายด่วนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ๑๒๑๒ และอย่าติดตามเนื้อหาดังกล่าวหลังจากแจ้งแล้ว | ลดยอดการเข้าชม และให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติงานโดยลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล |
๗. เก็บหลักฐาน ยูอาร์แอล (URL) : การแจ้งเนื้อหาอันไม่เหมาะสม ต้องมี ยูอาร์แอล (URL) หรือตำแหน่งที่อยู่ของเนื้อหาดังกล่าว | เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ตรงจุด เนื่องจากหากผู้แจ้งทำการแจ้งเฉพาะชื่อ ซึ่งอาจจะมีชื่อซ้ำกันได้แต่ URL จะบอกถึงตำแหน่งที่แน่นอนของข้อมูล |
๘. งดเว้นการส่งต่อข้อมูลที่ผิดกฎหมาย : งดเว้นการส่งต่อข้อมูลอันอาจมีลักษณะเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือเพื่อแจ้งยังกลุ่มเพื่อนที่ไม่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบทั้งนี้ให้แจ้งยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น | เพื่อลดการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือเผยแพร่ข้อมูล |
จัดทำโดย
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร