คำว่า “การ” และ “การณ์” ที่ผมยกมาเป็นหัวข้อในวันนี้ เป็นคำที่พบบ่อยมากในภาษาไทย โดยมักใช้ประกอบกับคำอื่นได้ทั่วไป เนื่องจากคำทั้งสองเป็นคำพ้องเสียง ออกเสียงว่า /กาน/ เหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน ดังนั้นเมื่อใช้ในการพูดจึงมักไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่จะไปเกิดปัญหาขึ้นเมื่อสื่อสารโดยการเขียน เพราะคนไทยบางคนยังสับสนระหว่างสองคำนี้ บางครั้งในบริบทที่ต้องใช้คำว่า “การ” ก็ไปใช้คำว่า “การณ์” แทน หรือในบริบทที่ต้องใช้คำว่า “การณ์” ก็เขียนเป็น “การ” ทำให้ผิดความหมายที่ต้องการจะสื่อ วันนี้ผมจึงขอเสนอหลักง่ายๆ เพื่อป้องกันความสับสนดังกล่าวครับ
ก่อนอื่นเราต้องศึกษาความหมายของคำทั้งสองก่อน คำว่า “การ” มีอยู่สามความหมาย ได้แก่ การ ๑ น. งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา จะทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน การ ๒ น. ผู้ทํา, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ, ถ้าอยู่หลังคําอื่นที่ไม่ใช่คําศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ การ ๓ คําประกอบท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน การ ๑ เช่น ราชการ พาณิชยการ
ส่วนคำว่า “การณ์” หมายถึง เหตุ, เค้า, มูล, เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จุดที่เรามักจะสับสนคือคำว่า “การ” ในความหมายที่ ๑ เมื่อวางหลังคำกริยา โดยมักจะเขียนผิดเป็น “การณ์” หลักการง่ายๆ ก็คือ ให้เราพิจารณาความหมายของคำนั้นทั้งคำ หากมีความหมายคล้ายกับคำกริยาคำหน้า ก็แสดงว่าเป็นการทำคำกริยานั้นให้เป็นคำนาม ต้องใช้คำว่า “การ” เช่น ปฏิบัติการ (= การปฏิบัติ), พัฒนาการ (= การพัฒนา) แต่หากพิจารณาความหมายแล้วพบว่ากำลังกล่าวถึงเหตุการณ์ใดๆ ก็ต้องใช้คำว่า “การณ์” เช่น ปรากฎการณ์ (= เหตุการณ์ที่ปรากฎขึ้น), สังเกตการณ์ (สังเกตดูเหตุการณ์), คาดการณ์ (คาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า) เป็นต้นครับ
ขอให้ท่านผู้อ่านจะนำหลักการนี้ไปใช้ เพื่อที่จะได้เขียนคำที่ประกอบด้วยคำว่า “การ” หรือ “การณ์” ในประโยคใจความต่างๆ ได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ
———————————————
คอลัมน์ : ภาษาไทย…ขัดใจปู่ โดย ทิดกร สอนภาษา
ที่มา : http://www.nationejobs.com/citylife/content.php?ContentID=1468