คอลัมน์ ข้าราษฎร
โดย สายสะพาย
ชาวบ้านใน 3 อำเภอ ในจังหวัดอุบลราชธานีได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานผลิตเอทานอล ได้มอบอำนาจให้นายตัวแทนขอข้อมูลข่าวสารจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวม 4 รายการ เพื่อนำไปฟ้องร้องดำเนินคดี ได้แก่ 1.รูปแสดงพื้นที่ แผนผังโรงงานของบริษัทอุบลและบริษัทในเครืออีก 2 บริษัท 2.รายงานการศึกษาและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเดือนกรกฎาคม 2552 3.มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบ รายงานการวิเคราะห์ที่บริษัทต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 และ 4.ใบอนุญาตให้ตั้งโรงงาน ต่อมากรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหนังสือแจ้งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 4 คือใบอนุญาต แต่ปฏิเสธเปิดเผยรายการที่ 1-3 นายตัวแทนจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
นายตัวแทนชี้แจงต่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ว่ากลุ่มบริษัทนี้ได้ขออนุญาตจัดตั้งโรงงานซึ่งในใบอนุญาตไม่ระบุว่าบ่อบำบัดน้ำเสียอยู่ติดแม่น้ำลำโดมใหญ่ ต่อมาคันดินกั้นบ่อน้ำเสียพัง น้ำเสีย 400,000 ลูกบาศก์เมตรไหลลงแม่น้ำ ปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้มากมายตาย จากนั้นในช่วงเดือนกรกฎาคมทุกปีจะเปิดเขื่อนที่กั้นแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ปลาก็จะตายอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านจึงรวมตัวร้องเรียน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้กลุ่มบริษัททำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่และได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ชาวบ้านทราบว่าก่อนการก่อสร้างโรงงานได้มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จัดทำเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ฉบับหนึ่งแล้วจึงต้องการได้ข้อมูลนี้ เพราะได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทต่อพนักงานสอบสวน และฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองแล้ว
ส่วนผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้แจงว่า ข้อมูลข่าวสาร 3 รายการที่ไม่เปิดเผยนั้น เพราะเป็นเอกสารที่ส่งไปประกอบการพิจารณาและบริษัทไม่ประสงค์ให้เปิดเผย เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ประกอบกับเห็นว่ามีข้อมูลกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีของบริษัทที่เป็นความลับตามมาตรา 15 (6) และมาตรา 17 คณะกรรมการวินิจฉัยฯจึงให้กลับไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าข้อมูลที่เป็นกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่เปิดเผยไม่ได้นั้นคืออะไร ต่อมากรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหนังสือแจ้งว่าเปิดเผยได้ทั้งหมด คณะกรรมการวินิจฉัยฯเห็นว่าข้อมูลข่าวสารทั้ง 3 รายการนั้นเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูตามมาตรา 9 (8) และข้อ 2 ของประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการที่กำหนดให้รายงานการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม รวมทั้งการติดตามตรวจสอบเป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบได้ จึงมีคำวินิจฉัยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผย พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทั้ง 3 รายการให้นายตัวแทน
ที่มา : วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560 ปีที่ 40 ฉบับที่ 14205 มติชนรายวัน
ลิงค์ : http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01edu20310160§ionid=0107&day=2017-01-31