อนุสนธิจากภาพหมายเรียกพยานที่ปรากฏอยู่ใน Social Media ที่มีข้อความว่า
“ด้วย ….. ได้พูดบันทึกเสียงและภาพเผยแพร่ทาง Facebook พูดใส่ความหมิ่นประมาทผู้กล่าวหาให้ได้รับความเสียหาย แล้วจากการตรวจสอบพบว่าท่านได้กด like (ถูกใจ) เพื่อแสดงความเห็นว่าชอบกับข้อความดังกล่าว อันเป็นการรับรองว่าข้อมูลนั้นได้รับความเชื่อถือมากขึ้น”
ดังนั้น จึงออกหมายเรียกให้ผู้มีชื่อตามหมายให้ไปพบพนักงานสอบสวน
สำเนาหมายเรียกดังกล่าวเป็นที่ฮือฮาในโลกของผู้ใช้ Social Media เป็นอย่างมาก เพราะการกด like เป็นปกติวิสัยของผู้ใช้ Social Media ทั้งหลาย เป็นวิธีการที่แสดงความชอบ เห็นด้วย ถูกใจ และอื่นๆ ของข้อความหรือรูปภาพที่โพสต์นั้น คนบางคนก็กด like แม้จะไม่เห็นด้วย แต่บังเอิญ Facebook ไม่ได้ทำเครื่องหมายสำหรับไม่เห็นด้วย หรือไม่มีความเห็นไว้ให้กดด้วย เลยต้องกด like อย่างเดียว
ที่เป็นที่ฮือฮาก็เพราะตามหมายเรียกนี้ทำให้ดูเหมือนว่า ถ้าผู้โพสต์ข้อความกระทำความผิดเช่น โพสต์ข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทใครเขา คนที่กด like โพสต์นั้นก็อาจจะมีความผิดไปด้วยถึงถูกเชิญตัวไปสอบสวน
อันที่จริงในบ้านเรายังไม่เคยมีตัวอย่างคดีที่ศาลมีคำพิพากษาที่ตัดสินว่าการกด like จะมีผลทางกฎหมายอย่างไรยังไม่แน่ชัด แต่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อนมีคดีเป็นเรื่องว่า
ฝ่ายโจทก์เป็นกลุ่มของปลัดอำเภอของสำนักงานนายอำเภอ (Sheriff) ในเมือง Hampton รัฐ Virginia ได้ฟ้องร้องตัวนายอำเภอว่าละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยกล่าวหาว่า โจทก์คนหนึ่งได้แสดงความเห็นทางการเมืองของตนผ่าน Facebook และได้โพสต์ข้อความที่เป็นการสนับสนุนและมี 2 คนที่ได้ไปกด Like ในหน้า Facebook ของผู้สมัครนายอำเภออีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่แข่งของนายอำเภอคนปัจจุบัน (ในระบบของเขานายอำเภอมาจากการเลือกตั้ง)
พอนายอำเภอคนปัจจุบันรู้เข้าก็บอกกับพวกปลัดอำเภอนี้ไปว่า “ระวังจะตกงาน” และเมื่อนายอำเภอคนปัจจุบันได้รับเลือกตั้งอีกครั้งก็ไม่ได้ทำการแต่งตั้งพวกโจทก์ให้กลับเข้าไปมีหน้าที่ในสำนักงานนายอำเภอนั้นอีก ดังนั้นพวกปลัดอำเภอจึงต้องมาฟ้องร้องเป็นคดีนี้ว่าที่ตนไม่ได้รับการว่าจ้างอีกเป็นเพราะไปกด like สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม การเลิกจ้างดังนี้เป็นการขัดรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 (First Amendment)
ศาลอุทธรณ์สหรัฐได้ตัดสินว่า การ like หน้า Facebook ว่าเป็นการแสดงการพูด (speech) และโจทก์ได้รับความคุ้มครองตาม First Amendment โดยศาลได้ให้เหตุผลว่า
“On the most basic level, clicking on the “like” button literally causes to be published the statement that the User “likes” something, which is itself a substantive statement. In the context of a political campaign’s Facebook page, the meaning that the user approves of the candidacy whose page is being liked is unmistakable. That a user may use a single mouse click to produce that message that he likes the page instead of typing the same message with several individual key strokes is of no constitutional significance.”
โดยผลของคำพิพากษาฉบับนี้ การกด like ให้ผู้สมัครทางการเมืองผู้ใด แม้แค่คลิกเดียวโดยไม่ได้พูดซักแอะก็เป็นสิทธิเสรีภาพในการการพูด (freedom of speech) ตามรัฐธรรมนูญ (ดูรายละเอียดได้ที่คดี Bland v. Roberts, 2013 WL 5228033 (4th Cir. Sept. 18, 2013)
ของไทยเรา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับล่าสุดปี พ.ศ. 2560 ก็บัญญัติไว้ใน มาตรา 34 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”
หลักกฎหมายมีอยู่อย่างนี้ แต่ท่านผู้อ่านก็ยังไม่ต้องดีใจไปว่า ต่อไปนี้จะ like โพสต์ของใครก็ได้หมดเพราะเป็นเสรีภาพในการพูด เพราะศาลฎีกาสหรัฐฯ ก็เคยตัดสินคดีโดยได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า ข้อความจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญก็ต่อเมื่อ (1) เป็นเรื่องเกี่ยวกับส่วนรวม (2) ได้แสดงออกในทางที่ยากต่อการพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ และ (3) ไม่อาจตีความไปอย่างมีเหตุผลว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล (ดูคดี Milkovich v. Lorain Journal Co., 497 U.S. 1 (1990) อ้างใน David Goguen, “Defamation of Character or Free Speech?”) กล่าวคือต้องไม่ไปกระทบถึงสิทธิส่วนบุคคลของใคร เช่น เราอาจแสดงความคิดเห็นการที่รัฐบาลสั่งซื้อเรือดำน้ำว่าไม่ถูกต้องได้ ควรจะนำเงินงบประมาณมาพัฒนาประเทศดีกว่า เพราะอะไรก็ว่าไป แต่เราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ไปเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น ซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ นายพล ก. ต้องได้ส่วนแบ่งด้วยแน่ ๆ อะไรอย่างนี้ไม่ได้ (เว้นแต่เรามีหลักฐานนะครับ ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ) การแสดงความเห็นแบบนี้ไม่ใช่สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
เพราะฉะนั้น การที่เรามีเสรีภาพในการพูดหรือแสดงความคิดเห็นไม่ได้แปลว่าเราแสดงออกได้ทุกเรื่องโดยไม่มีข้อจำกัด ต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคลด้วย ยิ่งเดี๋ยวนี้มี Social Media ด้วย หลายคนก็ comment หรือกด like ที่เป็นการหมิ่นประมาทหรือว่าร้ายบุคคลอื่นโดยไม่รู้ตัว มีตัวอย่างเป็นคดีอยู่มากมายในต่างประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น คดีแรกตัดสินเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ศาล Letterkenny Circuit Civil Court แห่งแคว้น Donegal ประเทศไอร์แลนด์ ตัดสินให้นาง Patricia Barnett และนาย Paddy Murphy ผู้เป็นสามี ได้รับเงินชดใช้ 30,000 ยูโร จากการที่ถูกนาย Anthony Downes ทำการหมิ่นประมาทบน Facebook กล่าวหาว่าเธออ้วนเกินไปและโปรแกรมการออกกำลังของเธอไม่เป็นผล ทั้งยังกล่าวหาว่าสามีของเธอมีอะไรกับหญิงอื่น โดยทั้งหมดโพสต์ลง Facebook เมื่อวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2015
คดีต่อมาตัดสินในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เมื่อนาง Davyne Dial ได้ฟ้องนาง Jacquelyn Hammond ว่า นาง Dial ได้สูญเสียลูกชายวัย 11 ปีไปในปี 1976 เมื่อลูกชายของเธอถูกยิงโดยอุบัติเหตุและถึงแก่ความตายโดยการกระทำของเด็กอีกคนหนึ่ง ใน Facebook ที่เกี่ยวกับนาง Dial นาง Hammond ได้เข้าไป comment ว่า “I didn’t get drunk and kill my kid.” หมายถึงว่า นาง Dial ได้เมาสุราและเป็นผู้ฆ่าลูกชายของเธอเองซึ่งไม่เป็นความจริง คดีนี้ศาล Buncombe County Superior Court รัฐ North Carolina ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินให้นาง Hammond ชดใช้ค่าเสียหายให้กับนาง Dial เป็นเงินจำนวนมากถึง 500,000 ดอลลาร์
และเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ศาลที่เมือง Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เริ่มทำการพิจารณาคดีที่ชายอายุ 45 ปีถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทที่ไปกล่าวหานักต่อสู้เพื่อสิทธิของสัตว์คนหนื่งว่าเป็นพวกแบ่งแยกผิวและต่อต้านชาวยิว โดยชายคนนี้ได้เข้าไปในการถกเถียงออน์ไลน์เกี่ยวกับการกล่าวหานักต่อสู้คนดังกล่าวและกด like ไป 8 ครั้ง ซึ่งนับเป็นคดีแรกที่ศาลจะตัดสินว่าความผิดฐานหมิ่นประมาททำได้ด้วยการกด like ได้หรือไม่
ดังนั้น ในการแสดงความคิดเห็นท่านมีเสรีภาพในการพูดก็จริง แต่ก็จะต้องไม่เป็นการผิดกฎหมายโดยการไปละเมิดผู้อื่น โดยเฉพาะหากจะกล่าวหาใครต้องมีพยานหลักฐาน ไม่ใช่พูดตามความรู้สึก หลักกฎหมายนี้ที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะ comment หรือกด like ก็โปรดใช้วิจารณญาณให้ดีนะครับ ไม่ใช่ว่าท่านมีเสรีภาพในการพูดแล้วจะพูดได้ทุกเรื่องโดยไม่มีข้อจำกัด อย่างนี้ไม่ใช่เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
——————————————————–
ที่มา : THAIPUBLICA โดย ทพพล น้อยปัญญา /
Link : http://thaipublica.org/2017/05/facebook-like-freedom-of-speech/