เหตุการณ์ที่เรือพิฆาตยูเอสเอส จอห์น แม็คเคน (USS John McCain) เกิดชนเข้ากับเรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งที่นอกชายฝั่งประเทศสิงคโปร์ จนทำให้ทหารเรือสูญหายถึง 10 รายนั้น กลายเป็นชนวนเหตุให้กองทัพเรือสหรัฐฯสั่งระงับปฏิบัติการของกองเรือทั่วโลก และสั่งปลดผู้บัญชาการกองเรือประจำภูมิภาคเอเชียคนสำคัญ เพราะอุบัติเหตุที่ไม่ธรรมดานี้เกิดขึ้นกับเรือรบสหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 4 แล้วในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เรือดำน้ำลำหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯเกิดชนเข้ากับเรือสนับสนุนปฏิบัติการนอกชายฝั่ง และในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถีก็เกิดชนเข้ากับเรือประมงเกาหลีใต้ ตามมาด้วยเหตุเรือพิฆาตสองลำคือเรือยูเอสเอส ฟิตซ์เจอรัลด์ ชนเข้ากับเรือบรรทุกสินค้าของญี่ปุ่นที่น่านน้ำใกล้เมืองท่าโยโกสึกะเมื่อเดือนมิถุนายน และเหตุเรือยูเอสเอส จอห์น แม็คเคน ชนเข้ากับเรือบรรทุกน้ำมันขณะเตรียมเข้าเทียบท่าที่สิงคโปร์เมื่อวันจันทร์ (21 ส.ค.) ที่ผ่านมา
- ทัพเรือสหรัฐฯ สั่งระงับปฏิบัติการทั่วโลก หลังเกิดเหตุชนบ่อย
- เรือรบสหรัฐฯ ชนซ้ำในรอบ 2 เดือน ลูกเรือหาย 10
- เรือพิฆาตสหรัฐฯชนเรือบรรทุกสินค้านอกฝั่งญี่ปุ่น
กองทัพสหรัฐฯ มีคำสั่งปลดพลเรือโทโจเซฟ ออคอยน์ ผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 ซึ่งควบคุมปฏิบัติการทางทะเลในภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้น และในระหว่างนี้ก็ประกาศจะเร่งสืบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เรือรบประสบอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้หลายครั้งอย่างเหลือเชื่อ
นายปีเตอร์ โรเบิร์ตส์ ผู้เชี่ยวชาญจากราชสถาบันรวมเหล่าทัพเพื่อการศึกษาความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (RUSI) ของสหราชอาณาจักรบอกว่า โดยปกติแล้วหากลูกเรือคอยมองเรดาร์และจอแสดงข้อมูลต่าง ๆ ให้ดี ก็นับว่าเพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงการชนประสานงาระหว่างเรือลำใหญ่ ๆ อย่างเรือรบและเรือเดินสมุทรต่าง ๆ ได้ แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขาพบว่ามีเรือเดินสมุทรจำนวนไม่น้อยที่ห้องควบคุมหรือสะพานเดินเรือ (Navigation bridge) ไม่มีคนคอยเฝ้าอยู่เลย แม้ในขณะที่มีสัญญาณเตือนภัยบนจอเรดาร์ปรากฏขึ้นก็ตาม
นายโรเบิร์ตส์ยังบอกว่า โดยทั่วไปแล้วการชนกันระหว่างเรือเดินสมุทรนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าวเท่านั้น เช่นเมื่อไม่กี่วันก่อนที่เรือพิฆาตยูเอสเอส จอห์น แม็คเคน จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่สิงคโปร์ เรือบรรทุกสินค้าสองลำได้เกิดชนกันที่นอกชายฝั่งมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ของจีน ทำให้มีลูกเรือเสียชีวิตหลายคน แต่ที่น่าเศร้าก็คือเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว ผู้คนก็มักจะเพ่งเล็งเอาโทษกับต้นหนและกัปตันเรือ โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าคนเหล่านี้ก็เป็นกำลังสำคัญในการนำพาเรือให้รอดพ้นจากอุบัติเหตุมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านั้น
นายอารอน โซเรนเซน หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีและกฎหมายทางทะเลของสภาการเดินเรือสินค้ากลุ่มประเทศบอลติกและนานาชาติ (BIMCO) บอกว่าการจดจ่อแต่ที่หน้าจออุปกรณ์ไฮเทค หรือหวังพึ่งพาให้เครื่องมือช่วยเตือนภัยมากเกินไปนั้น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะการรอฟังสัญญาณเตือนอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่มีความแม่นยำเท่ากับตัวลูกเรือคอยเฝ้าดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนอกหน้าต่างเป็นระยะ
นายเฮนริก อุทห์ ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมสำรวจข้อมูลการประกันภัยของเดนมาร์กระบุว่า แม้สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางทะเลนั้นมาจากความผิดพลาดของมนุษย์เป็นสำคัญ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเหตุไม่พึงประสงค์นั้นเกิดขึ้นกับเรือเดินสมุทรเนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่นการสัญจรทางทะเลที่คับคั่งขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้โอกาสที่เรือเดินสมุทรจะเฉี่ยวชนกันมีสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยข้อมูลของรัฐบาลอังกฤษเมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้วชี้ว่า ทั่วโลกมีเรือเดินสมุทรที่ใช้ในการพาณิชย์อยู่ทั้งสิ้น 58,000 ลำ
มีความพยายามจัดช่องทางจราจรในน่านน้ำทั่วโลกที่มีเรือเดินสมุทรผ่านไปมาคับคั่งกว่า 100 แห่ง เพื่อให้เรือแล่นไปในทิศทางที่แน่นอนในแบบเดียวกันเป็นขบวน โดยเริ่มมีการจัดช่องทางจราจรในทะเลแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1967 ในช่องแคบโดเวอร์ของอังกฤษ แต่อุบัติเหตุก็ยังเกิดขึ้นได้
นายอุทห์ชี้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีผลต่อความปลอดภัยในการเดินเรือเช่นกัน โดยในปัจจุบันกิจการเดินเรือหลายแห่งมีแนวโน้มว่าจะมีผลกำไรลดลง ทำให้ต้องรัดเข็มขัดตัดลดงบประมาณในการดำเนินกิจการลงอย่างมากนับแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 เป็นต้นมา ซึ่งสภาพการณ์นี้สวนทางกับค่าจ้างและค่าฝึกอบรมกัปตันและลูกเรือที่มีประสบการณ์ซึ่งอยู่ในอัตราสูง ทำให้บริษัทเดินเรือขาดการลงทุนเพื่อเพิ่มพูนทักษะในการบังคับควบคุมเรือของลูกจ้างไป ทั้งที่การควบคุมเรือเดินสมุทรซึ่งมักเต็มไปด้วยลูกเรือจากหลายประเทศ พูดกันหลายภาษา และมีวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยแตกต่างกัน ก็ทำให้งานนี้เป็นเรื่องยากพอตัวอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าอุบัติเหตุทางทะเลเกิดขึ้นจากช่องโหว่ของความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งหมายถึงการที่เรือถูกแฮกเกอร์เจาะล้วงระบบเพื่อเข้าบังคับควบคุมเรือจากภายนอก โดยการที่แฮกเกอร์บังคับให้เรือออกนอกเส้นทางอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวินาศภัยกับบรรดาเรือรบและเรือเดินสมุทรได้ แม้แต่ทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งสั่งลงโทษลูกเรือและผู้บังคับการเรือพิฆาต ยูเอสเอส ฟิตซ์เจอรัล ที่เกิดเหตุชนไปแล้วฐานประมาทเลินเล่อ แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นไปได้ในการสืบสวนว่าระบบความปลอดภัยของเรืออาจถูกแทรกแซงจากภายนอกหรือไม่
นายโรเบิร์ตส์บอกว่า เรื่องนี้ใช่จะไม่มีความเป็นไปได้เสียทีเดียว โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่าเรือเดินสมุทรบางลำเกิดความคลาดเคลื่อนของอุปกรณ์จีพีเอสโดยไม่ทราบสาเหตุ ระหว่างที่อยู่ในเขตน่านน้ำทะเลดำ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า กลุ่มเคลื่อนไหวทางไซเบอร์ของรัฐบาลบางประเทศอาจต้องการเข้าควบคุมเรือเพื่อบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางก็เป็นได้ “ในขณะนี้เราควรเปิดกว้าง โดยพิจารณาถึงปัจจัยที่มีความเป็นไปได้ทุกทาง แม้แต่การก่อการร้ายทางไซเบอร์ก็ตาม” นายโรเบิร์ตส์กล่าว
ที่มา : BBC Thai
ลิงค์ : http://www.bbc.com/thai/features-41025549?ocid=wsthai.chat-apps.in-app-msg.line.trial.link1_.auin?