เรื่องโดย กรกนก มาอินทร์/ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ในยุคที่โลกให้ความสำคัญกับ “หุ่นยนต์” และระบบออโตเมชั่นมากขึ้นทุกขณะ เพื่อทดแทนการใช้แรงงานหรือทักษะบางอย่างจากมนุษย์ ด้านหนึ่งแม้จะถูกมองถึงภาพสะท้อนของระบบทุน ที่ต้องการออกแบบ หาวิธีการลดต้นทุนทุกอย่าง จึงนำมาสู่นวัตกรรมของยุคหุ่นยนต์
แต่ด้านหนึ่งเราก็มองเห็นถึงประโยชน์ของหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงของชีวิตมนุษย์ได้
โครงการ “การประเมินสมรรถนะอุปกรณ์ต้นเเบบของหุ่นยนต์อีโอดีเเละการสร้างหลักสูตรผู้บังคับหุ่นยนต์” เป็นโครงการประเมินสมรรถนะอุปกรณ์ต้นเเบบเเละการสร้างหลักสูตรสำหรับการสร้างหุ่นยนต์ จากงาน 25 ปี สกว.: สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต โดยสกว.ได้ใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้เเละใช้ความรู้สำหรับเเก้ปัญหาให้สังคม
“ดนุชา ประเสิรฐสม” อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าเเละคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เผยถึงที่มาของโครงการ หุ่นยนต์อีโอดี กับ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ว่า หุ่นยนต์อีโอดี (EOD) ประกอบด้วยหุ่นยนต์ 3 ตัว ที่ทำงานเป็นทีม เเยกภารกิจกันทำเพื่อการเก็บกู้-ทำลายวัตถุระเบิด หากหุ่นยนต์ตัวใดตัวหนึ่งขัดข้อง หุ่นยนต์ที่เหลืออยู่ยังสามารถเก็บกู้ ทำงานต่อได้ ต่างจากหุ่นยนต์อีโอดี ทั่วไปที่มีความเป็นเอนกประสงค์สูง เเม้ทำได้หลายภารกิจเเต่อาจขัดเเย้งกัน เป็นอุปสรรคต่อการเก็บกู้-ทำลายวัตถุระเบิด เเละหากเกิดปัญหากับหุ่นยนต์ การดำเนินการเก็บกู้-ทำลายวัตถุระเบิดจะยุติทันทีเพราะอุปกรณ์ทุกอย่างบรรทุกอยู่บนหุ่นยนต์ตัวเดียว
“ก่อนหน้านี้มีโครงการหุ่นยนต์อีโอดีอยู่เเล้ว ส่วนชุดหุ่นยนต์ที่เราทำนั้นเกิดจากความต้องการของกรมสรรพาวุธที่อยากมีปืนทำลายวัตถุระเบิด หรือปืนยิงน้ำเเรงดันสูง เข้าไปทำลายวัตถุระเบิด เเต่กรมสรรพาวุธมีปืนยิงน้ำเเรงดันสูงอยู่เเล้ว เมื่อยิงวัตถุระเบิดปืนจะสะท้อนกลับหลังไกลเป็นสิบเมตร การที่เราเริ่มพัฒนาหุ่นยนต์ให้ทำหน้าที่นี้จึงเป็นเรื่องยาก ต้องคำนึงถึงเเรงกระเเทกที่ย้อนกลับมา”อาจารย์ดนุชา กล่าว
การดีไซน์หุ่นยนต์สำหรับจับปืนยิงน้ำเเรงดันสูงนั้น ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่เกิดจากเเรงกระเเทกย้อนกลับ ซึ่งอาจทำให้หุ่นยนต์เสียหายได้ เป็นที่มาของชุดหุ่นยนต์อีโอดี ทั้ง 3 ตัว ได้เเก่ “หุ่นยนต์สำรวจวัตถุระเบิด” ขับเคลื่อนด้วยล้อยางมีความคล่องตัวสูง ติดกล้องสำรวจวัตถุระเบิด หุ่นยนต์สามารถใช้งานในการเก็บภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือสังเกตุการณ์สถานที่เเละผู้คนโดยรอบบริเวณที่เกิดเหตุได้
หุ่นยนต์ตัวที่สองคือ “หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด” เป็นหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยสายพานเคลื่อนที่ในพื้นที่หลากหลาย สามารถใช้จับเคลื่อนย้ายมวลวัตถุขนาด 1-2 กิโลกรัมได้ อีกทั้งยังเปิด-ปิด เบาะรถจักรยานยนต์ ประตูรถยนต์ หรือหมุนเปิดลูกบิดประตูห้องได้
เเละหุ่นยนต์ตัวสุดท้าย คือ “หุ่นยนต์ทำลายวัตถุระเบิด” ที่มี Disruptor เป็นปืนยิงกระสุนน้ำเเรงดันสูงเเบบไร้เเรงสะท้อนกลับ อำนาจการทำลายล้างของปืนสามารถยิงทะลุเเผ่นเหล็กห่อหุ้มระเบิดเเสวงเครื่องความหนาได้ถึง 2 มิลมิเมตร จุดเด่นของปืนคือใช้กระสุน BMG50 ที่มีอยู่ในกองทัพไม่ต้องซื้อเพิ่ม
โดยอาจารย์ดนุชา อธิบายถึงการทำงานของหุ่นยนต์ทำลายวัตถุระเบิดคือ มวลน้ำหลักพุ่งออกจากหัวปืนไปทางด้านหน้า เพื่อทำลายล้างวัตถุระเบิด ขณะเดียวกันลำน้ำขนาดเล็กมากจนเป็นสเปรย์พุ่งออกทางด้านหลังหัวปืน ต้านเเรงต้านทานการสะท้อนกลับ ทำให้ปืนอยู่ในสภาวะไร้เเรงสะท้อนเมื่อทำการยิง
ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลาวิจัยกว่าปีครึ่ง ขณะนี้โครงการเเล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งได้นำไปทดสอบด้วยการจำลองสถานการณ์เเล้วให้ทหารจากกรมสรรพาวุธทหารบกเข้าฝึกกับหุ่นยนต์ โดยทางทีมวิจัยจะเข้าไปสอนวิธีการใช้งาน ตั้งเเต่การเตรียมกระสุน การใช้งาน ไปจนถึงการบังคับหุ่นยนต์
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ดนุชา กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มีหุ่นยนต์ต้นเเบบจำนวน 3 ตัว คาดหวังไปถึงอนาคตจะถูกนำไปใช้งานจริง เพราะถือเป็นงานวิจัยที่ในอนาคตหากมีการนำไปต่อยอด หุ่นยนต์อาจช่วยลดความเสี่ยงของทหารที่ทำงานเกี่ยวกับการเก็บกู้วัตถุระเบิด ชุดหุ่นยนต์ทั้งสามคงช่วยสร้างประโยชน์ให้เเก่สังคม เเละประเทศได้อย่างมหาศาล
—————————————————-
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ / 16 กันยายน 2560
Link : https://www.prachachat.net/spinoff/news-37444