จากบทความที่แล้ว (ความจำเป็นที่ต้องมีการรักษาความปลอดภัย) ภัยคุกคามที่มี ต่อประเทศชาติ สังคม และหน่วยงาน ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ ผู้เขียนไม่อยากใช้คำว่า “พัฒนาการ” เพราะการเปลี่ยนแปลงของภัยคุกคามเป็นสิ่งเลวร้าย ในบริบทคำว่าพัฒนาการ ควรจะใช้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความดีงาม
หลังยุคสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง โลกแบ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจ นำโดยสหรัฐอเมริกา และประเทศยุโรปตะวันตก ซึ่งเรียกตัวเองว่าโลกเสรี ยึดแนวการปกครองแบบประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้ง ในขณะที่อีกฝ่ายนำโดยสหภาพโซเวียตและประเทศยุโปตะวันออก โดยมีแนวคิดสังคมนิยมทางเศรษฐกิจและการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ อาจเรียกแนวทางสังคมนิยม ทั้งสองค่ายแข่งอิทธิพลต่อกันอย่างเต็มที่ เนื่องจากทั้งสองค่ายเป็นผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ไม่สามารถเอาชนะต่อกันในทางสงครามหรือการทหาร จึงต้องหาทางทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอด้วยการจารกรรมเพื่อให้ล่วงรู้จุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม บ่อนทำลายเพื่อมุ่งให้ฝ่ายตรงข้ามแตกแยกไม่สามัคคี และการก่อวินาศกรรมเพื่อให้ขีดความสามารถในการป้องกันประเทศลดลง เกิดสภาพการณ์ที่ มุ่งจะเอาชนะกัน แต่ไม่กล้าทำสงครามต่อกัน รอให้อีกฝ่ายอ่อนแอหรือเพลี่ยงพล้ำ จึงเป็นสภาวะ ที่เรียกกันว่ายุคสงครามเย็น
การป้องกันประเทศเพื่อให้มีความมั่นคง จึงต้องให้สอดคล้องกับบริบทของภัยคุกคาม ในขณะนั้น การรักษาความปลอดภัยของประเทศจึงเน้นไปที่การป้องกันต่อการจารกรรมของประเทศโลกสังคมนิยม จึงเกิดระเบียบขึ้นเพื่อหวังรักษาความลับของทางราชการให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศในฝ่ายโลกเสรีกำหนด รวมทั้งเพื่อการเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียอาคเนย์ หรือที่เรียกย่อว่าองค์การ สปอ.(ที่ทำการอยู่ที่บริเวณที่ตั้งกระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา ในปัจจุบัน)
จากนั้นประเทศก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของประเทศให้รอบด้านยิ่งขึ้น โดยการจัดทำมาตรการให้ครอบคลุมภัยคุกคามทุกด้านเป็นระเบียบ ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2511 แต่อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายของระเบียบฯ ปี 2511 ก็ยังมุ่งเน้นการรักษาความปลอดภัยต่อเอกสารลับของทางราชการเป็นสำคัญ
ในขณะที่ภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตและเครือบริวารที่มีต่อภูมิภาคยังคงดำเนินต่อไป ภัยคุกคามใหม่ต่อภูมิภาค ซึ่งปรับรูปแบบมาจากโลกสังคมนิยม คือการขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์จากจีนและประเทศอินโดจีน จึงต้องมีการปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสม และสอดคล้องกับภัยคุกคามยิ่งขึ้น เกิดเป็นระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 ซึ่งนอกเหนือจากป้องกันการจารกรรมและวินาศกรรมอย่างระเบียบเดิมแล้ว ยังเน้นไปที่การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคลเพื่อไม่ให้เข้ามาแฝงตัวในองค์กรหรือหน่วยงาน เพื่อล่วงรู้ความลับของทางราชการ เผยแพร่ลัทธิ ซึ่งเป็นผลต่อการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในประเทศ แนวทางการดำเนินงานจึงมุ่งให้องค์กรหรือหน่วยงานปลอดจากภัยคุกคาม ทั้งด้านบุคคล เอกสาร สถานที่ หรือการประชุมลับ ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517 เป็นระเบียบที่ใช้ต่อเนื่องอย่างยาวนาน 30 ปีเศษ แม้บริบทภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น มาตรการปรับลดกำลังคนภาครัฐ แต่ใช้การจ้างเหมาบุคคลเข้ามาดำเนินการแทน (outsources) ทำให้ส่วนราชการละเลยเรื่องการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคลไป โดยคิดว่าบุคคลที่เข้ามาทำงานด้วยนั้นไม่ใช่ข้าราชการ จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์บุคคล ส่วนการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเอกสารก็มีการใช้คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศเพิ่มเติมเข้ามา การส่งผ่านสารสนเทศจึงเป็นช่องทางให้เกิดการดักรับ เพื่อให้ได้มาซึ่งความลับของทางราชการ สิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ ก็มีแนวความคิดใหม่ว่าสมควรจะให้ประชาชนรับรู้รับทราบมากขึ้น เกิดหลักการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ทำให้ส่งผลต่อแนวทางรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเอกสารที่มีมาแต่เดิม รวมทั้งเป้าหมายของการก่อวินาศกรรมก็ไม่ได้มุ่งเน้นต่ออาคารสถานที่ในทางยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศเช่นแต่เดิม แต่มุ่งต่อการทำความ เสียหายต่อขวัญ กำลังใจของประชาชนในประเทศควบคู่ไปกับการก่อการร้ายที่มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อมุ่งสร้างความวิตกกังวลต่อขวัญกำลังใจคนในประเทศ
ระเบียบที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงกันอย่างรอบด้าน เป็นเวลาหลายปี เกิดเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 ซึ่งเปลี่ยนการรักษาความปลอดภัยของประเทศอย่างมาก การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคลให้ความสำคัญต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความลับของทางราชการ ในขณะที่การคัดเลือกบุคคลจากการรับราชการให้ดำเนินการผ่านกระบวนการตรวจสอบประวัติอาชญากร การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ และการรักษาความปลอดภัยในการประชุมลับ อาจไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางจากเดิมมากนัก แต่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากคือข้อมูลที่เป็นความลับของทางราชการ จากการที่มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ทำให้แนวทาง การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเอกสารแต่เดิม ไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.นี้ จึงต้องยกเลิกมาตรการและปรับเปลี่ยนมาใช้ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 แทน หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล แนะนำการรักษาความปลอดภัย ก็ปรับเพิ่มจากที่มีสำนัก ข่าวกรองแห่งชาติ สำหรับส่วนราชการฝ่ายพลเรือน และศูนย์รักษาความปลอดภัย สำหรับส่วนราชการฝ่ายทหาร ก็ปรับเพิ่มมีกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ทำหน้าที่ให้ส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับของทางราชการและระบบสารสนเทศ จึงยังเป็นปัญหาที่หาหน่วยงานรับผิดชอบและดูแลระบบไม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่อยู่ระหว่างการหารือขององค์การรักษาความปลอดภัยกับหน่วยงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ได้ทางออกที่เหมาะสมต่อไป