กรณีนี้อยู่ในข่ายการจารกรรมข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับ เพื่อนำออกเปิดเผยสู่บุคคลอื่น ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจหน้าที่ที่จะได้รับทราบ แต่ด้วยเหตุที่เป็นการรั่วไหลข้อมูลข่าวสารของบริษัทเอกชน ทั้งยังเป็นข้อมูลข่าวสารลับที่เกี่ยวกับการทุจริตและอาชญากรรม การนำออกเปิดเผยที่เกิดขึ้นจึงมิได้ถูกประเมินว่าเป็นการ Hack ระบบสารสนเทศที่ผิดกฎหมาย ทั้งส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมา
หนังสือพิมพ์SüddeutscheZeitungในเยอรมันได้รับข้อมูลขนาด 2.6 เทอราไบท์ (เป็นเอกสารประมาณ 11.5 ล้านชิ้น) โดยไม่ปรากฎแหล่งที่มาเมื่อกลางปี2558 รายละเอียดข้อมูลดังกล่าวนับแต่ปี 2520 ซึ่งเป็นข้อมูลความลับของบริษัท Mossack Fonseca ประกอบด้วย E-mail โต้ตอบกับลูกค้า เอกสารสัญญา ฐานข้อมูล เอกสารทางกฎหมายของบริษัท Offshore กว่าสองแสนแห่ง ใน21 ประเทศ ธนาคารอีกกว่า 500 แห่ง ทั้งยังปรากฎชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงทั่วโลกนับแต่ผู้นำประเทศ หัวหน้าคณะรัฐบาล นักการเมือง นักธุรกิจ ดารา นักกีฬา มหาเศรษฐี
ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากที่ได้รับนี้ หนังสือพิมพ์ SüddeutscheZeitung ร่วมมือกับองค์กรอิสระอย่าง International Consortium of Investigative Journalists (ICJC) โดยมีการแจกจ่ายข้อมูลดังกล่าวให้นักหนังสือพิมพ์ประมาณ 400 คนในองค์การสื่อ 107 แห่งในกว่า 80 ประเทศเช่น สำนักข่าวBBCหนังสือพิมพ์ The Guardian โดยใช้เวลากว่า 1 ปี เพื่อนำไปวิเคราะห์ ศึกษา ตรวจค้น และสืบสวน ก่อนนำข้อมูลชุดแรกออกเปิดเผยสู่สาธารณะเมื่อ3 เมษายน 2559 อย่างไรก็ตาม บริษัท Mossack Fonseca ออกแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทไม่เคยดำเนินการใดๆ ที่ผิดกฎหมาย
ตัวอย่างบุคคลที่ปรากฎในข้อมูลกรณี “Panama Papers”
- นายเซอร์เกย์ โรลดูกินเพื่อนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมีย ปูตินเปิดบริษัท Offshore และมีรายได้เกี่ยวกับธุรกิจสื่อสารและยานยนต์ในรัสเซีย ผ่านบริษัทนี้กว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ภรรยาของนายซิกมุนเดอร์ เดวิด กุนน์ลอจสัน(Sigmundur David Gunnlaugsson)นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ เปิดบริษัท Offshore 3 แห่ง และเคยเข้ามาซื้อธนาคารของไอซ์แลนด์ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนประท้วง และนายกุนน์ลอจสันลาออกจากตำแหน่งแล้ว
- พี่เขยของนายสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ซึ่งเป็นนักธุรกิจและนักการเมือง ปรากฎชื่อในข้อมูลดังกล่าว ซึ่งทางการจีนทำการ block และลบข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับ Panama Papers ออกจากทุก web sideในจีน
- นายลิโอเนล เมสซี่ ศูนย์หน้าของทีมบาร์เซโลน่า/สเปน และกัปตันทีมชาติอาร์เจนตินา ตั้งบริษัท offshore ร่วมกับบิดา สำหรับเก็บเงิน และเมื่อทางการสเปนทำการสอบสวนนายเมสซี่เกี่ยวกับการเลี่ยงภาษี นายเมสซี่ไม่ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทoffshoreนี้ นอกจากนี้ ยังปรากฎชื่อผู้บริหารฟีฟ่าอีกหลายคนด้วย
- บริษัทและกลุ่มอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและก่อการร้าย ซึ่งอยู่ในกลุ่มรายชื่อต้องเฝ้าระวังของทางการสหรัฐฯรวม 33 ราย
บริษัท Mossack Fonseca เป็นสำนักงานกฎหมาย และมีชื่อเสียงด้านอำนวยความสะดวกในการดำเนินการก่อตั้งบริษัทออฟชอร์ (บริษัทนอกอาณาเขต)ให้ลูกค้าทั่วโลก ซึ่งดำเนินการแล้วว่า 240,000 แห่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกว่า 500 แห่ง ซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริงของการตั้งบริษัท offshore เหล่านั้น เพื่อหลบเลี่ยงภาษีและการฟอกเงินให้กับผู้ว่าจ้างทั่วโลก สำนักงานใหญ่ของบริษัท Mossack Fonseca ตั้งอยู่ที่ปานามาและมีสาขาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
กรณี Panama Papersเกี่ยวข้องกับ บริษัทOffshore (OffshoreCompany )ซึ่งความหมายของบริษัทประเภทนี้ก็คือการจดทะเบียนบริษัทหรือเปิดบัญชีในต่างประเทศ เช่นคนไทยไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ ถือเป็นOffshore เป็นต้น เนื่องจากหลายประเทศพยายามเสนอผลประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือเปิดบริษัทดำเนินธุรกิจกล่าวคือให้ประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้เข้ามาลงทุนเช่นบางประเทศไม่เก็บภาษีรายได้ แต่ขอเก็บเพียงค่าธรรมเนียมให้รัฐ บางประเทศให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำแก่ผู้มาลงทุนในประเทศของตน เป็นต้น ด้วยการตั้งบริษัท Offshore เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ ส่งผลให้มีการแสวงประโยชน์จากกฎหมายของแต่ละประเทศนี้ โดยเฉพาะจากบางประเทศที่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกระทำได้โดยง่าย ทั้งให้สิทธิไม่ต้องเปิดเผยตัวตนแก่ผู้มาลงทุน ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องถือเป็นความลับ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจหรืออาชญากรสามารถนำเอาเงินนอกกฎหมายมาเก็บไว้เพื่อปกปิดทรัพย์สินและใช้เป็นแหล่งฟอกเงินหรือเลี่ยงภาษีซึ่งทำให้การติดตามเส้นทางการเงินเช่นนี้กระทำได้ยาก เป็นที่น่าสังเกตว่า หากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจต่างๆ ของบริษัทถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิน และเป็นข้อมูลความลับส่วนตัว ถึงแม้จะเชื่อได้ว่าประกอบด้วยข้อมูลที่ผิดกฎหมายก็ตาม เมื่อถูกนำมาเปิดเผย ทั้งที่ยังมิได้พิสูจน์ความเท็จจริงให้ชัดเจนแล้ว การเปิดเผยนั้นน่าจะถือได้ว่ากระทำความผิดที่ละเมิดสิทธิความเป็นเจ้าของข้อมูล
อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า บุคคลและบริษัทต่างๆ ที่ปรากฎชื่อในกรณีนี้ไม่มีรายชื่อชาวอเมริกันหรือบริษัทOffshore ของสหรัฐฯ อยู่เลย จึงเกิดข้อพิจารณาว่า กรณีนี้เป็นการทำ Information Operating (IO) ด้วยข้อมูลในทางลบของบุคคลระดับนำทั้งในด้านการเมือง ธุรกิจ การเงิน และสังคมทั่วโลก จนในบางประเทศต้องมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร เช่น นายกุนน์ลอจสัน นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์หรือนายกอนซาโล เดลาวิอู ประธานองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ต้องลาออกจากตำแหน่ง เป็นต้น และกรณีล่าสุดที่คาดว่าจะมีสาเหตุมาจากกรณีPanama Papers คือการสังหารผู้สื่อข่าวที่เกาะมอลตาเมื่อ 16 ตุลาคม 2560 มีเหตุที่น่าเชื่อว่าเกี่ยวโยงถึงการเปิดเผยข้อมูลกรณี Panama Papers ซึ่งเป็นกรณีการหลบเลี่ยงภาษี การฟอกเงินทุจริต และธุรกิจที่เนื่องมาจากอาชญากรรมและการก่อการร้าย ของบุคคลระดับนำ นักการเมือง นักธุรกิจ ผู้มีชื่อเสียงนานาประเทศ
รายงานข่าวเมื่อ 16 ตุลาคม 2560 เกิดเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์ส่วนบุคคลที่เกาะมอลตาในทะเลเมดิเตอร์เรเนีย เป็นผลให้นางดาฟเน คารัวนา กาลิเซีย เสียชีวิต โดยจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กับบ้านพักของเธอ นางกาลิเซียเป็นผู้สื่อข่าวอาชีพและร่วมสืบสวนติดตามกรณี “Panama Papers” ซึ่งเป็นความพยายามของกลุ่มสื่อมวลชนจากหลายชาติในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษีและธุรกรรมซ่อนพรางนอกกฎหมายของกลุ่มนักการเมือง เศรษฐี อาชญากร และผู้มีชื่อเสียงจากทั่วโลก ออกสู่สาธารณะ การเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นสร้างความไม่พอใจให้แก่บุคคล องค์กรหลายกลุ่ม โดยเฉพาะจากทั้งกลุ่มอำนาจหลักและอาชญากรในเกาะมอลตา อย่างเช่น บทความของนางกาลิเซียอ้างอิงข้อมูลถึงนายโจเซฟ มัสกัต นายกรัฐมนตรีของมอลตาและบุคคลใกล้ชิดว่าเกี่ยวข้องกับบริษัท Offshore (บริษัทนอกอาณาเขต)ที่รับเงินจากรัฐบาลของอาเซอร์ไบจาน นอกจากนี้ นางกาลิเซียยังเขียนบทความโจมตีนักการเมือง นักธุรกิจ นักการธนาคาร กลุ่มอาชญากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินจนถึงอุตสาหกรรมเกมออนไลน์ในมอลตาด้วย
กรณีลอบสังหารครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมัสกัตแถลงว่าได้ขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) มาช่วยดำเนินการสอบสวน อย่างไรก็ดี จากสภาพรถยนต์ที่เสียหายของนางกาลิเซียและแรงระเบิด จึงประเมินเบื้องต้นว่าเป็นระเบิดชนิด Semtex