การใช้สื่อสารสนเทศเป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต่อกรณีต่างๆ ทั้งการตำหนิ กล่าวโทษ หรือตอบโต้โดยเฉพาะกับสื่อมวลชนที่เสนอข่าวสารหรือวิจารณ์ในทางลบต่อตนเองและการดำเนินนโยบายของตน ส่งผลให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับฐานะผู้นำประเทศ แม้ว่าจะปรากฏข่าวสารว่าที่ปรึกษาประธานาธิบดี และนางเมลาเนีย ทรัมป์ ภรรยา ต่างพยายามดูแลการใช้สื่อสารสนเทศของนายทรัมป์ แต่นายทรัมป์คงยืนยันการใช้สื่อสารสนเทศในรูปแบบเดิม เพราะเชื่อว่าเป็นรูปแบบที่เข้าถึงผู้ติดตาม (follow) ของตน ซึ่งมีจำนวนประมาณสามสิบล้านคน
อย่างไรก็ดี มีกลุ่มชาวอเมริกันทำการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทที่ให้บริการ สื่อสารสนเทศปิดบัญชีผู้ใช้ของนายทรัมป์ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการ post ข้อความที่จาบจ้วงหรือล่วงเกินผู้อื่น และน่าจะเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อนโยบายการใช้งานของบริษัทที่ให้บริการ(ข้อบังคับของทวิตเตอร์) กรณีที่เกิดขึ้นนั้น เป็นที่น่าพิจารณาว่าการใช้สื่อสารสนเทศที่เกิดขึ้นดังกล่าวนับเป็นการทำ Information Operating (IO) ด้วยข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผลกระทบต่อนายทรัมป์ ทั้งในด้านลบและด้านบวก เป็นการบ่อนทำลายวิธีหนึ่งที่จำเป็นต้องกำหนดมาตรการ รักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลและป้องกัน
จึงขอนำกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับการส่งข้อความทาง Twitter ส่วนตัวของนายทรัมป์ เมื่อ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีเนื้อหาดูหมิ่นนายโจสการ์ โบโรห์ และ นางมิก้า เบรสซินสกี้ พิธีกรรายการข่าวเช้า Morning Joe ทางสถานี MSNBC ซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการทำงานของนายทรัมป์ มาประเมินในด้านการทำ IO และข้อพิจารณาในด้านการรักษาความปลอดภัย ดังนี้
1. การนำเสนอ IO ในครั้งนี้ หมายถึง การใช้ข่าวสารหรือข้อมูลที่ประจักษ์ชัดเป็นเครื่องมือ โดยกระทำผ่านสื่อสารสนเทศเพื่อบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม
สำหรับกรณีตัวอย่างนี้สื่อสารสนเทศที่ถูกนำมาใช้ คือ Twitter สำหรับบริการส่งข้อความสั้น (Short Message Service, SMS) และเน้นที่การเสนอแต่ฝ่ายเดียว ทำให้การส่งข่าวสารหรือข้อความเป็นไปอย่างรวดเร็ว บุคคลที่ได้รับทราบจะอยู่ในกลุ่มผู้ติดตามซึ่งส่วนใหญ่มักเข้ามาอ่านสิ่งที่นำเสนอไว้เท่านั้น เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าเป็นการ tweet ส่วนตัว นายทรัมป์จึงแสดงออกอย่างประชาชนไม่กลั่นกรองข้อความให้เหมาะสมกับกาลเทศะ แต่ด้วยฐานะผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ติดตามที่มีจำนวนสูงมากการ tweet แต่ละครั้งจึงถูกนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะให้ได้รับทราบกันทั้งภายในและภายนอกประเทศสหรัฐฯ
2. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ทำ IO
จากตัวอย่างการ tweet ของนายทรัมป์ เมื่อ 30 มิถุนายน 2560 นั้น การเผยแพร่ข้อความการ tweet ส่วนตัวของนายทรัมป์จนกลายเป็นข่าวสารสาธารณะส่งผลกระทบกับความนิยมและความน่าเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อนายทรัมป์ อย่างเช่น
การ tweet ข้อความของนายทรัมป์ กลายเป็นการแสดงออกที่ประจักษ์ชัดถึงอุปนิสัยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของตนและพร้อมที่จะใช้สื่อสารสนเทศโจมตี หรือตอบโต้ทุกกรณีที่ตนไม่พอใจ ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีผู้นำของสหรัฐฯ เคยกระทำมาก่อน กรณีที่เกิดขึ้นนี้จึงเอื้อต่อการนำความด้อยด้านบุคลิกภาพมาใช้สร้างข่าวสารบั่นทอนศรัทธาของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดความไม่มั่นใจ หรือลดความน่าเชื่อถือจากบรรดาผู้นำต่างชาติโดยอาจทำให้หวั่นเกรงว่า นายทรัมป์ อาจ tweet ข้อความการหารือหรืออื่นใดที่สร้างความเสียหายหรือทำให้เกิดความอับอายขึ้นได้ ไม่ว่าการ tweet นั้นจะกระทำโดยตั้งใจของนายทรัมป์ หรือไม่ก็ตาม ข้อความที่มาจากการ tweet เป็นสิ่งที่ยืนยันชัดว่านายทรัมป์กระทำด้วยตนเอง เพราะบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าใช้บัญชีผู้ใช้ของนายทรัมป์ได้ ฉะนั้นข้อความเหล่านั้นจึงเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำไปใช้ขยายความต่อ และเป็นสิ่งเร้าความสนใจแก่บรรดาผู้รับในสื่อสารสนเทศ เพื่อนำไปสู่การชักจูงให้เกิดอคติ และกลายเป็นความรู้สึกในทางลบ อีกทั้งการส่งผ่านสื่อสารสนเทศไม่สามารถควบคุมการเผยแพร่ต่อได้ อันจะเป็นผลกระทบในระยะยาวซึ่ง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อนายทรัมป์ แต่จะส่งผลต่อพรรครีพับลิกันต้นสังกัดของนายทรัมป์ ไปพร้อมกันด้วย
การ tweet ด้วยประโยคที่มีความหมายไม่เหมาะสมที่ผู้นำประเทศจะนำมาแสดงความคิดเห็น
1) ประโยคที่กล่าวว่า นางมิก้าฯ พิธีกรหญิงว่า “low I.Q. Crazy Mika, ….” และ “She was bleeding badly from a face-lift” เป็นการย้ำถึงทัศนคติ ดูหมิ่นสตรีของนายทรัมป์ และแสดงให้เห็นถึงภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ไม่พอใจส่วนตัว ทั้งยังเป็นการนำข่าวสารประเภท Gossip มาใช้โจมตีเพราะประโยคที่นายทรัมป์กล่าวถึงนางมิก้าฯ ดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำประเทศมหาอำนาจของโลก นอกจากนี้อาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่
ชื่นชมจากบรรดาสตรีโดยเฉพาะสตรีที่มีบทบาทสำคัญหรือผู้นำประเทศต่างๆ เนื่องจากการดูหมิ่นสตรีของนายทรัมป์ ปรากฏเป็นข่าวมาโดยตลอด เช่น ในช่วงการรณรงค์ หาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2559 น.ส.พ.The Washington Post นำคลิปเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 ออกเผยแพร่โดยนายทรัมป์กล่าวถึงสตรีอย่างหยาบคายกับนายบิลลี บุช พิธีกรรายการ Access Hollywood ทางสถานีโทรทัศน์ NBC จนนายทรัมป์จำต้องออกมาแสดงความเสียใจกับการกระทำของตน และทำการขอโทษอย่างเป็นทางการ หรือการใช้คำเรียก นางฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ว่า“nasty woman” ซึ่งคำนี้เป็นคำหยาบที่ไม่ควรนำมาใช้เป็นการสาธารณะ เป็นต้น
2) ประโยค “…to Mar-a-Lago 3 nights in a row around New Year’s Eve” เป็นการแสดงข้อเท็จจริงด้วยตัวของนายทรัมป์เองว่า เคยให้ผลประโยชน์กับพิธีกรทั้ง 2 คน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีและให้ได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ข้อเท็จจริงเช่นนี้ สามารถนำมาใช้กระตุ้นเตือนทัศนคติในทางลบได้ในอนาคต
การใช้สื่อสารสนเทศทำ IO ของนายทรัมป์ มุ่งที่จะลดความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนเพราะนับแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายทรัมป์ทำการ tweet อย่างสม่ำเสมอ เสนอข้อความให้ผู้ติดตามเห็นว่าสื่อมวลชนเสนอข่าวปลอม (fake news) กับประชาชน ทั้งยังใช้ความเป็นสื่อมวลชนแสวงประโยชน์ส่วนตน จะเห็นได้จากข้อความที่อ้างถึงพิธีกรรายการ Morning Joe เข้าพักในสถานที่พักผ่อนซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวของนายทรัมป์ เป็นที่น่าสังเกตว่านายทรัมป์พยายามสร้างอิทธิพลต่อความคิด เพื่อชักจูงหรือขับเคลื่อนให้ประชาชนลดความเชื่อถือต่อสื่อมวลชนเนื่องจากผู้ติดตาม Twitter ของนายทรัมป์มีจำนวนประมาณ 30 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 9.3 ของประชากรอเมริกันซึ่งมีประมาณ 324 ล้านคน (ปี 2559) หากกลุ่มผู้ติดตามดังกล่าวมีแนวคิด “เลือกที่จะเชื่อ” ตามนายทรัมป์แล้ว นายทรัมป์จะมีอำนาจเพียงพอที่จะใช้ต่อรองกับสื่อมวลชนได้
3. ข้อพิจารณาด้านการรักษาความปลอดภัยต่อข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการทำ IO
3.1 เนื่องจากเป็นการนำข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์มาสร้างแนวความคิดที่เรียกว่า“เลือกที่จะเชื่อ” หากบรรลุผลฝ่ายตรงข้ามจะถูกทำลายและยากต่อการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แต่ด้วยข้อจำกัดในการใช้ระยะเวลาดำเนินการที่ยาวนาน จึงเป็นโอกาสให้สามารถตรวจสอบหรือสังเกตพบสิ่งบ่งชี้ถึงการใช้ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ทำ IO ดังกล่าว ส่วนการแก้ไขและป้องกันต้องเร่งหาต้นเหตุของข้อมูลข่าวสารที่ถูกนำมาทำ IO พร้อมกับหาทางควบคุมต้นเหตุ และป้องกันมิให้เกิดข้อมูลข่าวสารหรือการกระทำอื่นใดที่เอื้อหรือใช้หนุนโอกาสให้เกิดการสร้างแนวความคิดแบบ“เลือกที่จะเชื่อ”ซ้อนขึ้นได้อีก
3.2 จากกรณีการ tweet ของนายทรัมป์ จำเป็นต้องมีกลุ่มงานค่อยดูแล และชี้แจงมิให้นายทรัมป์กระทำตามอารมณ์หรือความพอใจ เพราะเนื้อความที่ post นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันทัศนคติและการกระทำเมื่อเผยแพร่ออกไปแล้ว จะไม่สามารถลบหรือปรับเปลี่ยนใดๆ ได้อีก
3.3 กลุ่มงานที่ให้ข่าวสารเพื่อสนับสนุนหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต้องระมัดระวังการทำงานมิให้แสดงออกถึงการฝักใฝ่เฉพาะฝ่ายตนอย่างเช่น โฆษกของทำเนียบขาวกลุ่มปัจจุบันไม่ทำหน้าที่เพียงให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรัฐบาล แต่กลับกำหนดมาตรการและแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับสื่อมวลชนที่เข้ามารับข้อมูลข่าวสารในทำเนียบขาว เพราะการแสดงออกของกลุ่มโฆษกเช่นนั้น เท่ากับเน้นให้เห็นว่าประธานาธิบดีและรัฐบาลเท่านั้นที่กระทำทุกสิ่งอย่างถูกต้อง ซึ่งจะกลายเป็นการยั่วยุให้สื่อมวลชนค้นหาความผิดพลาด ความบกพร่องทั้งในอดีตและปัจจุบัน ของประธานาธิบดี รัฐบาล หรือแม้แต่พรรครีพับลิกัน เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ และอาจส่งผลเช่นเดียวกับ คดีวอเตอร์เกต ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กลุ่มบุคคลลักลอบโจรกรรมข้อมูลของพรรค เดโมแครต (Democratic Party) ที่สำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต ณ อาคารวอเตอร์เกต คอมเพลกซ์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 17 มิ.ย.2515 (1972) ซึ่งหลักฐานทั้งหมด ชี้ไปยังคณะทำงานของประธานาธิบดี ส่งผลให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 9 ส.ค. 2517 (1974)
จัดทำโดย : องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน