ขอนำข้อความจากการทวีตของนายทรัมป์ แสดงถึงการดูหมิ่น นายโจสการ์ โบโรห์ และนางมิก้า เบรสซินสกี้ พิธีกรรายการข่าวเช้า Morning Joe ทางสถานี MSNBC เมื่อ 30 มิ.ย.60 มาเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับพิจารณาเปรียบเทียบความผิดเกี่ยวกับกฎหมายกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย และข้อขัดแย้งระหว่างกฎหมายอื่นๆ ดังนี้
การโพสต์แสดงความคิดเห็นและพาดพิงบุคคลอื่นบนระบบออนไลน์ ในลักษณะดูหมิ่นเจาะจงบุคคลอย่างเปิดเผย ทั้งเผยแพร่ให้กลุ่มผู้ติดตามจำนวนมากได้รับรู้บนระบบออนไลน์ ย่อมทำให้ผู้นั้นได้รับความอับอายและเสื่อมเสีย หากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยสามารถพิจารณาได้ว่าเป็น ความผิดฐานหมิ่นประมาท
โดยปกติความผิดฐานหมิ่นประมาทในประเทศไทยควบคุมและคุ้มครองโดยประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ในกรณีของนายทรัมป์ เทียบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย จึงเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ส่วนการนำเสนอผ่าน Twitter ส่วนตัวนั้น เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย เพราะนายทรัมป์ มีกลุ่มผู้ติดตามประมาณสามสิบล้านคน จึงเท่ากับเป็นการใช้ระบบออนไลน์เผยแพร่โดยทั่วไปจนเป็นที่รับทราบของประชาชน
ตามประมวลกฎหมายอาญากำหนดว่าข้อมูลที่ปรากฏความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จ ถือเป็นความผิดเท่าเทียมกัน แม้จะตีความข้อความของนายทรัมป์ ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่เนื้อความตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 กำหนดโทษเฉพาะความผิดจากข้อมูลคอมพิวเตอร์ “ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน” และ“อันเป็นเท็จ” เท่านั้น ซึ่งการทวีตดังกล่าวเป็นเนื้อหาจริงจากการกระทำของนายทรัมป์โดยตรง มิได้ถูกนำไปบิดเบือนหรือเป็นข้อมูลเท็จแต่อย่างใด และเหตุนี้ บริษัท Twitter จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 9 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดว่าผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือกับผู้โพสต์ข้อมูลที่มีความผิด (ตามมาตรา 8) ต้องรับผิดเท่ากับผู้โพสต์เช่นกัน
ชี้ให้เห็นว่าเนื้อความของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีความขัดแย้งกัน ฉะนั้นการทวีตของนายทรัมป์ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560
จัดทำโดย : องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน