หากยังจำได้เมื่อประมาณปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนยี่ห้อเสี่ยวหมี่ (Xiaomi) เคยเกิดกรณีอื้อฉาว เนื่องจากตัวเครื่องมีการแอบส่งข้อมูลของผู้ใช้งานในเครื่องกลับไปที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิต
ล่าสุด เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วกับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่พบว่ามีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่งกลับบริษัทกูเกิล (Google) เช่นกัน แม้ว่าผู้ใช้งานจะปิดฟีเจอร์ที่สามารถระบุโลเคชันของเครื่องไว้ก็ตาม
เว็บไซต์ข่าวที่รายงานเรื่องนี้เป็นแห่งแรก คือ Quartz ที่พบว่า สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือในบริเวณใกล้เคียง และแชร์ข้อมูลเหล่านั้นกับกูเกิล
ทาง Quartz พบว่า สมาร์ทโฟนที่รันระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ สามารถลักลอบส่งข้อมูลกลับได้ แม้จะปิดฟีเจอร์โลเคชัน หรือไม่มีซิมการ์ดอยู่ในตัวเครื่องก็ตาม และไม่มีช่องทางใด ๆ ที่จะสามารถปิดการทำงานนี้ได้เลย
ด้านองค์กรที่รณรงค์เรื่องสิทธิของผู้บริโภคได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การกระทำเช่นนี้เป็น “การทรยศหักหลังผู้ใช้งาน” ขณะที่กูเกิล ออกมาบอกว่า ข้อมูลเหล่านั้นไม่มีการเก็บไว้ และจะมีการอัปเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพื่อยุติการกระทำดังกล่าว
กูเกิลให้เหตุผลว่า บริษัทมีการเก็บข้อมูลเพื่อปรับปรุงบริการด้านสปีด และประสิทธิภาพของการส่งข้อความเท่านั้น พร้อมบอกด้วยว่า ไม่เคยนำข้อมูลเซลล์ไอดี (Cell ID) มารวมอยู่ในข้อมูลที่จัดเก็บนี้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิและความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ กล่าวว่า การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิในการควบคุมการทำงานเบื้องหลังของสมาร์ทโฟนของตัวเองน้อยมาก รวมถึงตั้งคำถามกลับไปยังกูเกิลด้วยว่า ยังมีอะไรอีกไหมที่ทำงานอยู่เบื้องหลังสมาร์ทโฟนโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว
———————————————————–
ที่มา : MGR online /
Link : https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000118480