7 มิถุนายน 2560 (GMT+ 3.30/ไทย +4.30)
9 มิถุนายน 2560
การประเมินการดำเนินการรักษาความปลอดภัยจากการรายงานข่าวสารและภาพของสื่อมวลชน
1.ประเมินการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภา
1.1 ที่ตั้งของรัฐสภาอยู่ระหว่างเส้นทางคมนาคมสายสำคัญของกรุงเตหะราน จึงสามารถเข้าถึงจากทุกด้านได้โดยง่าย ผ่านทั้งทางถนนและสถานีรถไฟใต้ดิน อีกทั้งพื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่เป็นสวนสาธารณะและโล่งแจ้งไม่เอื้อต่อการเข้าควบคุมพื้นที่เมื่อเกิดเหตุร้าย และจะเสียเปรียบอย่างยิ่ง หากฝ่ายคนร้ายอยู่ภายในอาคารรัฐสภา เพราะฝ่ายคนร้ายสามารถเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภายนอกได้โดยตลอดทั้งตัวอาคารเป็นที่กำบังและซุ่มโจมตีฝ่ายที่อยู่ภายนอกได้โดยง่าย
1.2 รั้วโดยรอบพื้นที่ตั้งรัฐสภาเป็นรั้วกึ่งโปร่ง จึงไม่สามารถใช้เป็นแนวกำบังในการปะทะกับฝ่ายที่อยู่ภายนอกอาคารได้เลย และพิจารณาว่าเป็นรั้วที่ออกแบบสำหรับป้องกันการบุกรุกและน่าจะสามารถปะทะผู้บุกรุกได้ในระยะเวลาหนึ่ง เพราะประชาชนเคยบุกยึดรัฐสภาในการปฏิวัติของอะยะตุลลาห์โคไมนี่ เมื่อปี 2522 นอกจากนี้ การใช้เส้นเหล็กปลายแหลมและมีความถี่ทำรั้วเช่นนี้ จึงไม่สามารถปีนหรือใช้บันไดพาดได้ เพราะจะกลายเป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายที่อยู่ภายในอาคารสามารถเลือกทำร้ายได้โดยง่าย
1.3 อาคารของรัฐสภาประกอบด้วย 2 อาคาร
1.3.1 อาคารประชุมทรงปิรามิด ประเมินว่ามีทางเชื่อมต่อกับอาคารด้านหน้าและประตูทางเข้าออกไม่มากนัก การควบคุมทางเข้า-ออกน่าจะเอื้อประโยชน์กับฝ่ายบุกรุก หากมีเส้นทางจำกัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการควบคุมของเจ้าหน้าที่ของรัฐสภา จากกรณีเมื่อ 7 มิถุนายน 2560 จะเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐสภาสามารถควบคุมและจัดการผู้ที่อยู่ในอาคารนี้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ภาพจากการส่งข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกนำมาเผยแพร่ในระบบเครือข่าย จะเห็นว่า ภายในอาคารไม่มีการเตรียมมาตราการและอุปกรณ์ประกอบการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม
1.3.2 อาคารปฏิบัติงานเป็นอาคารขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูง 10 ชั้น ลักษณะค่อนข้างทึบ มีหน้าต่างกระจกแบบบานสวิงซึ่งไม่เอื้อต่อการใช้เป็นช่องบุกเข้าภายในอาคารได้
เชื่อได้ว่า ภายในอาคารรัฐสภาไม่มีอุปกรณ์เสริมมาตราการรักษาความปลอดภัยหรือสำหรับอพยพคนออกสู่ภายนอก เพราะปรากฎภาพเจ้าหน้าที่นำบันไดเข้าไปในพื้นที่รัฐสภา
2. อุปกรณ์เสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภา ที่ปรากฏคือ
2.1 การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในห้องโถงที่คนร้ายบุกยิงนั้น พิจารณาได้ว่าตำแหน่งที่ติดตั้งเพื่อเฝ้าดูบุคคลที่ผ่านพื้นที่นี้เท่านั้น เพราะจากคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ภายหลังเหตุการณ์ยุติ จะเห็นว่าเป็นภาพจากมุมสูง ในลักษณะภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดติดตั้งที่เพดานเท่านั้นมิใช่ภาพตามที่กลุ่มก่อการร้ายอ้างว่าถ่ายทำและส่งให้สื่อมวลชนเผยแพร่ อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฎข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรัฐสภารับทราบเหตุที่เกิดขึ้นจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดหรือไม่ จึงสามารถเข้าควบคุมดูแลอาคารปิรามิดที่ตั้งอยู่ด้านหลังและอยู่ระหว่างการประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ภายในเวลาประมาณ 30 นาทีนับเกิดเหตุร้าย
2.2 หลังเหตุการณ์ยุติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยแถลงว่า กลุ่มคนร้ายผ่านเข้าสู่พื้นที่อาคารรัฐสภาได้ เนื่องจากแต่งกายเป็นสตรี ถึงแม้เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ เพราะชุดบุรก้าเป็นชุดประเพณีนิยมของสตรีนิกายชิอะห์ แต่เหมาะแก่การใช้ปฏิบัติการร้ายและซ่อนพรางอาวุธยุทโธปกรณ์
การผ่านเข้า-ออกอาคารรัฐสภาน่าจะมีมาตรการตรวจค้นร่างกายด้วยเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจจับโลหะ ถึงจะมีข้อแม้ทางศาสนา ก็ต้องจัดเจ้าหน้าที่สตรีทำหน้าที่ตรวจค้นด้วยโอกาสที่คนร้ายพกพาอาวุธลักลอบผ่านเข้ามาด้วยการสวมชุดสตรี จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ จากภาพคนร้ายที่เสียชีวิตจะเห็นว่า สวมรองเท้ากีฬา เมื่อก้าวเดินพร้อมกับถือปืนกล รองเท้าน่าจะพ้นชายขอบชุดออกมาให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสังเกตเห็นได้บ้าง อีกประการหนึ่งการถอดชุดบุรก้าค่อนข้างใช้เวลา โดยเฉพาะชุดที่มีโครงลวดอยู่ภายใน
3.ประเมินการรักษาความปลอดภัยของรัฐบาล
3.1 การแถลงข้อมูลและการควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนทั้งภายในและต่างประเทศ รัฐบาลดำเนินการได้ชัดเจน โดยให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบพียงหน่วยงานเดียว ไม่ปรากฎการให้สัมภาษณ์จากส่วนราชการอื่น เนื้อความข่าวสารและภาพที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ จึงอยู่ในขอบเขตใกล้เคียงกัน เว้นแต่ข้อมูลที่มาจากการติดต่อส่วนบุคคลและถูกนำออกเผยแพร่ในระบบเครือข่าย ซึ่งรัฐไม่สามารถควบคุมได้ทัน อย่างไรก็ดี สำนักข่าว Tasnim เป็นเพียงแห่งเดียวที่เผยแพร่ข่าวสารได้ชัดเจนกว่าแห่งอื่น สำนักข่าวแห่งนี้ดำเนินการโดยเอกชนของชาวอิหร่าน และเชื่อว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ทั้งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน(Islamic Revolution Guards Corps, IRGC) ซึ่งประเมินได้ว่า รัฐจะสามารถใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ปรับภาพพจน์ของรัฐได้เป็นอย่างดี
3.2 การดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยของรัฐ
3.2.1 ปรากฎรายงานว่า รัฐสั่งปิดการจราจรทุกเส้นทางที่ผ่านรัฐสภาและเร่งระบายยานยนต์ออกจากบริเวณนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยและทหารเข้าควบคุมดูแลพื้นที่และวางตำแหน่งนักแม่นปืนโดยรอบอาคารรัฐสภาภายในเวลา 50 นาทีหลังเกิดเหตุร้าย
3.2.2 เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการ blockade และวางแถบกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาในพื้นที่ควบคุม จากรายงานของสำนักข่าว Tasnim ประเมินได้ว่า หลังจากคนร้ายทำการโจมตีประมาณ 30 นาที เจ้าหน้าที่หน่วยช่วยเหลือตัวประกันของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านสามารถเข้าไปในพื้นที่อาคารรัฐสภาแล้ว พร้อมกับลำเลียงคนออกจากภายในอาคาร และมีการยิงปะทะกับคนร้าย
4. การควบคุมฝูงชนและสื่อมวลชน รัฐไม่ให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่เฝ้าติดตามความคืบหน้าเหตุการณ์การวางแถบกั้นและจัดเจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่ควบคุมสำหรับประชาชน ส่วนผู้สื่อข่าวสามารถติดตามเจ้าหน้าที่เข้าไป
ข้อพิจารณา
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากเกิดเหตุร้ายแล้วประมาณ 50 นาที เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยสามารถเข้าไปภายในอาคารและสังหารคนร้าย ทั้งใช้เวลาอีกราว 5 ชั่วโมงจึงเข้าควบคุมความปลอดภัยภายในอาคารทั้งหมดไว้ได้