การสื่อข่าวสารด้วยรูปภาพที่ปรากฏใน Network ปัจจุบัน บางส่วนน่าจะเกิดจากการสร้างหรือปรับแต่งรูปภาพด้วยแอปพลิเคชัน (application) หรือโปรแกรม (program) ซึ่งประเมินวัตถุประสงค์การกระทำเช่นนี้ว่า มุ่งบั่นทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่ตกเป็นเป้าหมาย เพราะข่าวสารรูปภาพที่เผยแพร่และกระจายออกสู่สาธารณะแล้ว ยากต่อการควบคุมหรือลบทำลายให้สูญหายอย่างสมบูรณ์ได้
การรายงานข่าวสารพร้อมรูปภาพการสังหารนายอุซามะห์ บิน ลาดิน เมื่อ 2 พฤษภาคม 2554 เป็นตัวอย่างการปรับแต่งรูปภาพเพื่อแสวงประโยชน์ในการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งส่งผลกระทบต่อรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง ทั้งนี้ การสร้างรูปภาพประกอบจะช่วยเสริมความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้เป็นอย่างดี นับเป็นส่วนหนึ่งของ Information operations (IO) ข้อมูลที่เกิดจากการดำเนินการประเภทนี้ยากต่อการพิสูจน์ ทั้งไม่สามารถตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนและรวดเร็ว และยากต่อการวางแนวทางเพื่อป้องกันและป้องปราม ตัวอย่างเช่น รูปภาพการเสียชีวิตของนายบิน ลาดิน ที่ปรากฏเป็นข่าวสารเมื่อปี 2554 นั้น สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างรูปภาพเหล่านั้นขึ้นได้ เช่น การใช้โปรแกรม Photoshop ตัดต่อและตกแต่งภาพตามต้องการ
รัฐบาลสหรัฐฯ ทราบดีว่าการใช้ปฏิบัติการข่าวสารเชิงรุก (Offensive Information Operations) เช่น การให้ข้อมูลลวง การบิดเบือนข่าวสาร การปฏิบัติการทางจิตวิทยา ฯลฯ โดยใช้ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์สื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตทำให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว จึงมีแนวทางการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างรัดกุม การให้สัมภาษณ์ของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ในรายการ “60 minutes” ทางช่อง CBS ว่าจะไม่เผยแพร่รูปภาพหลังการเสียชีวิตของนายบิน ลาดิน จากการโจมตีของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในปากีสถาน โดยให้เหตุผลว่าอาจก่อให้เกิดแรงตึงเครียดขึ้นในโลกมุสลิม รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตบันทึกภาพ-เสียงในระหว่างการปฏิบัติการเพื่อเป็นหลักฐานในภายหลัง และไม่ให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลและให้สัมภาษณ์ รวมทั้งสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของสหรัฐฯ ก็มิได้นำเสนอข้อเท็จจริงในประเด็นที่ยั่วยุให้ประชาชนในประเทศเกิดความแตกแยก
แม้สหรัฐฯ จะสามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารในประเทศตนได้อย่างดี แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสื่อต่างชาติได้ ในสังคมออนไลน์กลับปรากฏรูปภาพหน้าของนายบิน ลาดิน ที่เสียชีวิตหลังถูกโจมตีโดยกองกำลังสหรัฐฯ เป็นรูปภาพที่อาจถูกตัดต่อซึ่งแพร่หลายอย่างรวดเร็ว สำนักข่าวรอยเตอร์และช่องโทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษ ได้เสนอข่าวและรูปภาพดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงของประเทศสหรัฐฯ เพราะสื่อที่เสนอข่าวเป็นสื่อชั้นนำที่คนทั่วโลกให้ความเชื่อถือ แม้ภายหลังจากที่รูปภาพถูกเผยแพร่เป็นเวลา 2 ปี เว็บไซต์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษนำเสนอข่าวว่าเป็นรูปภาพที่ถูกปรับแต่งขึ้นพร้อมทั้งมีการแสดงภาพต้นฉบับเปรียบเทียบ ประกอบกับการเสนอรายงานของ The Moscow Tribune เกี่ยวกับข้อมูลของนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ซึ่งแปรพักตร์และลี้ภัยอยู่ในโซเวียต ว่า เมื่อปี 2556 ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับนายบิน ลาดิน ว่า ยังมีชีวิตอยู่และพำนักอยู่ที่เกาะบาฮามาสกับครอบครัว โดยได้รับการคุ้มครองดูแลจากหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ พร้อมกับแสดงภาพปัจจุบันของนายบิน ลาดิน ด้วย ยิ่งก่อให้เกิดความสับสนต่อผู้รับข่าวสารทั่วโลก และลดทอนความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
ภาพจาก lowscompfacca.blogspot.com