ผู้ว่าแบงก์ชาติเตือนลงทุนคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrecy) หวั่นเป็นช่อง ทางของ “แชร์ลูกโซ่ และฟอกเงิน” ชี้ยัง ไม่มีรัฐบาลใดรับรองชำระหนี้ได้ตาม กฎหมาย ราคาผันผวนสูง และมีความเสี่ยงซื้อสินค้าและบริการไม่ได้ ขณะที่ ยูบิทเว็บเงินดิจิทัลเกาหลีใต้ประกาศปิดตัวส่งผลราคาเงินดิจิทัลที่ซื้อขายร่วงทันที 75%
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrecy) อาทิเช่น บิทคอยน์ วันคอยน์ แดส Ethereum ฯลฯ ว่า ในช่วงนี้มีคนไทยจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจซื้อขายเงินดิจิทัลกันมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า คริปโตเคอเรนซีไม่ใช่สื่อกลางการชำระเงินตามกฎหมาย หากจะให้นิยามน่าจะเป็นเพียงสินทรัพย์หนึ่งเพื่อการลงทุน ในลักษณะคล้ายกับการลงทุนตราสารหนี้เท่านั้น โดยอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล” และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีธนาคารกลางใดในโลกที่รับรองสกุลเงินคริปโตเคอเรนซี ในลักษณะสกุลเงินที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนตามกฎหมาย
ดังนั้น หากสนใจที่จะลงทุนในสกุลเงินคริปโตเคอเรนซีเหล่านี้ จะต้องทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่จะมากับการลงทุนดังกล่าว อย่ามองแต่ในด้านผลตอบแทนเห็นว่าสูง เพราะสกุลเงินคริปโตเคอเรนซี มีความผันผวนในด้านราคาที่สูงมาก มีอัตราการขึ้นลงที่รวดเร็ว และหากพิจารณาจะเห็นว่าราคาของสกุลเงินคริปโตเคอเรนซีที่สูงมากในขณะนี้จะคล้ายคลึงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงหนึ่งซึ่งปรับตัวขึ้นไปสูงมาก หรือราคาน้ำมันที่เคยขึ้นไปแตะอัตราสูงสุดที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่ราคาที่ปรับขึ้นไปสูงๆ นั้นอยู่ได้ไม่นาน และปรับลดลงอย่างรวดเร็ว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า สกุลเงินคริปโตเคอเรนซี นอกจากจะมีความเสี่ยงในด้านราคาแล้วยังมีความเสี่ยงในด้านปฏิบัติการอีกด้วย เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ไม่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ โดยในประเทศญี่ปุ่นนั้น สกุลเงินคริปโตเคอเรนซี ให้ซื้อขายกันได้ในลักษณะ Legal Tender คือ ซื้อขายได้ แต่ไม่ได้รับรองในลักษณะรับรองให้ชำระสินค้า หรือชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ผู้รับชำระอาจจะรับชำระเงินด้วยสกุลเหล่านี้ หรือไม่รับชำระเงินสกุลเหล่านี้ก็ได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะใช้ซื้อสินค้าและบริการจริงไม่ได้
“ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ ตอนนี้กลายเป็น ว่ามีคนชักชวนให้ลงทุนในสกุลเงินคริปโตเคอเรนซี โดยคนไม่มีความรู้และความเข้าใจที่จะลงทุน และอาจจะกลายเป็นช่องทางของ “แชร์ลูกโซ่” โดยอ้างว่าใช้เงินสกุลเงินคริปโตเคอเรนซีเหล่านี้ เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ หรือซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน จุดที่สำคัญคือ การรู้จักลูกค้า หรือผู้ซื้อขาย แต่ในกรณีของสกุลเงินคริปโตเคอเรนซี ไม่มีการเข้าถึงในส่วนนั้น”
นายวิรไท กล่าวต่อว่า ในส่วนของการกำกับดูแลนั้น ในส่วนของประเทศไทยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องในหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพราะกรณีนี้สกุลคริปโตเคอเรนซีเหล่านี้ อาจะเป็นช่องทางของการฟอกเงินได้ โดยในต่างประเทศนั้นหลายประเทศเลือกที่จะใช้มาตรการในการกำกับดูแลเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งในส่วนของ ธปท.นั้น กำลังติดตามจำนวนธุรกรรม และความเสี่ยงต่างๆ และความจำเป็นในการออกมาตรการมากำกับดูแล
“โดยในขณะนี้อยากจะเตือนประชาชนที่สนใจจะลงทุนให้ทำความเข้าใจและรู้จักความเสี่ยงให้ดีก่อนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ เพราะไม่มีการรับรองทางกฎหมาย และหากเกิดปัญหาความเสียหายขึ้น อาจจะมีความยากลำบากในการได้เงินคืน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามในเรื่องนี้ให้ติดต่อที่ ธปท.ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน คอลเซ็นเตอร์ 1213 หรือที่กระทรวงการคลัง”
สำหรับกรณีที่ รมว.คลัง มีแนวคิดสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ควบรวมกิจการมากขึ้นนั้น ผู้ว่าการธปท.ชี้แจงว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากธนาคารพาณิชย์ของไทยมีปัญหาแต่อย่างใด เงินทุนและการดำเนินการอยู่ในฐานะที่ดี แต่หากพิจารณาธนาคารพาณิชย์ของประเทศเพื่อนบ้านและระดับการค้าการลงทุนการชำระเงินในภูมิภาคนี้จะเห็นว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ดังนั้น หากธนาคารพาณิชย์ไทยมีการควบรวมหรือมีขนาดใหญ่ขึ้นน่าจะช่วยเข้าไปรองรับ หรือเข้าไปแข่งขันในการให้บริการได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การควบรวมหรือไม่ถือเป็นความสมัครใจของธนาคารพาณิชย์
วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน ยูบิท เว็บค้าเงินดิจิทัลของเกาหลีใต้ ได้ปิดตัวลง และประกาศล้มละลาย หลังถูกแฮกซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ของปี ทำให้คริปโตเคอเรนซีของลูกค้าทั้งหมด มีมูลค่าลดลง 75% ทันที
————————————————————————–
ที่มา : ไทยรัฐ / 20 ธ.ค. 2560
Link : https://www.thairath.co.th/content/1157800