โดย : สำรวย นักการเรียน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เอกสารที่ออกมาจากหน่วยงานเหล่านี้มักจะใช้คำว่า “เผยแผ่” มากกว่า “เผยแพร่” มีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่คำทั้งสองนี้ดูเหมือนจะคล้ายหรือเหมือนกัน และสามารถใช้แทนกันได้
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า
เผยแผ่ ก. ทำให้ขยายออกไป ขยายออกไป เช่น เผยแผ่พระศาสนา.
เผยแพร่ ก. โฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้.
คำอธิบายต่อไปนี้เป็นความต่างระหว่าง “เผยแผ่” กับ “เผยแพร่” ที่คาดว่าทำให้ท่านผู้อ่านกระจ่างแจ้งขึ้น สามารถแยกความต่างได้
เผยแผ่ เป็นการทำให้ขยายออกไปโดยไม่ทิ้งหลักเดิม ของเดิมเป็นอย่างไรก็ขยายออกไปตามนั้นทุกประการ เช่นแผ่เสื่อ แผ่สาด ท่านผู้อ่านที่เคยแผ่เสื่อ ลองนึกภาพดู เมื่อแผ่เสื่อออกไป เสื่อผืนนั้นก็ขยายกว้างออกไป และที่ขยายออกไปก็เป็นเสื่อผืนนั้นนั่นเอง
เผยแพร่ เป็นการทำให้ขยายออกไปเหมือนกัน แต่ต้องทิ้งของเดิมไป ตัดขาดจากของเดิมไป เช่น การแพร่ของเชื้อโรค เชื้อโรคที่แพร่จากสถานที่แห่งหนึ่งไปอีกที่หนึ่งเป็นเชื้อโรคคนละตัวกัน ไม่ใช่เชื้อโรคตัวเดียวกัน
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจึงมักใช้คำว่า เผยแผ่ กล่าวคือ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมาอย่างไร ผู้ที่นำไปเผยแผ่ก็นำคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้นไปเผยแผ่ให้ขยายออกไป โดยไม่ทั้งหลักตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ ไม่นำความคิดหรือความเห็นของตนเองสอดแทรกเข้าไปด้วย
ต่อไปนี้ ท่านผู้อ่านคงแยกความต่างของคำทั้งสองได้ และใช้ได้ถูกต้อง
——————————————————————–
http://www.royin.go.th/?knowledges=ความต่าง-เผยแผ่-กับ-เผยแพร่
สอบถามเพิ่มเติม : ripub@royin.mail.go.th