โดย : สุปัญญา ชมจินดา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
คำว่า “ระเบียบวาระการประชุม” หมายถึง “ลำดับรายการที่กำหนดไว้ในการประชุมแต่ละครั้ง” มักมีผู้นำมาใช้เป็นภาษาปากในรูปย่อว่า “วาระการประชุม” ทำให้เข้าใจกันไปว่าคำว่า “วาระ” และ “ระเบียบวาระ” มีความหมายเหมือนกันและใช้แทนกันได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อน ทั้งนี้เพราะ “วาระ” กับ “ระเบียบวาระ” มีความหมายต่างกัน และ “ระเบียบวาระการประชุม” ก็มิอาจใช้คำว่า “วาระการประชุม” แทนได้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าคำว่า “ระเบียบวาระ” ใช้คำว่า “วาระ” แทนได้ จึงทำให้มีการใช้คำว่า “วาระแห่งชาติ” เพื่อสื่อความหมายถึงคำว่า “ระเบียบวาระแห่งชาติ” ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะ “ระเบียบวาระแห่งชาติ” ไม่อาจใช้คำว่า “วาระแห่งชาติ” แทนได้ เพราะจะทำให้การสื่อความหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ราชบัณฑิตยสถานโดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ได้พิจารณาเรื่องคำดังกล่าวไว้แล้วว่าคำว่า “วาระ” และ “ระเบียบวาระ” มีความหมายต่างกัน กล่าวคือ “วาระ” หมายถึง ครั้ง เวลากำหนด ส่วน “ระเบียบวาระ” หมายถึง ลำดับเรื่องที่จะพิจารณาดำเนินการก่อนหลัง และได้พิจารณาให้ความเห็นไว้ว่า คำว่า “National Agenda” ควรใช้ว่า “ระเบียบวาระแห่งชาติ” ซึ่งหมายถึง การจัดลำดับภารกิจแห่งชาติที่จะพิจารณาดำเนินการก่อนหลัง ข้อมูลเรื่องนี้ราชบัณฑิตยสถานได้เคยเผยแพร่เป็นข่าวประชาสัมพันธ์ไปยังสื่อแขนงต่าง ๆ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้ใช้คำว่า “ระเบียบวาระแห่งชาติ” เพื่อหมายถึง National Agenda ตามที่ราชบัณฑิตยสถานแจ้ง แต่ปัจจุบันความสับสนในการใช้คำว่า “วาระ” “ระเบียบวาระ” และ “ระเบียบวาระแห่งชาติ” มีปรากฏขึ้นอีก จึงได้นำมากล่าวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเพราะคำที่ดูเหมือนว่าจะใช้แทนกันได้นั้นอาจไม่ได้เป็นเช่นที่คิด.
————————————————-
Link : http://www.royin.go.th/?knowledges=ระเบียบวาระแห่งชาติ
สอบถามเพิ่มเติม : ripub@royin.mail.go.th