กรณีสังหารนักท่องเที่ยวต่างชาติที่วิหารของฟาโรห์หญิงฮัทเชปซุสในกลุ่มโบราณสถาน Deir el-Bahri บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ เขตลักซอร์ อียิปต์ เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2540 โดยกลุ่มคนร้ายชายประมาณ 6 คน ใช้มีด ดาบ และปืนเป็นอาวุธ เข้าทำร้ายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่บริเวณด้านวิหารของฟาโรห์หญิงฮัทเชปซุสในกลุ่มโบราณสถาน Deir el-Bahri เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต ประกอบด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ 58 คน และชาวอียิปต์ที่อยู่ในบริเวณนั้นรวมทั้งคนร้ายอีก 4 คน และนักท่องเที่ยวต่างชาติบาดเจ็บกว่า 26 คน
ลำดับเหตุการณ์
1. รายงานข่าวสารภายหลังเกิดเหตุร้ายเมื่อปี 2540
1.1 กลุ่มคนร้ายทำการโจมตีตามเวลาท้องถิ่นประมาณ 8.45 น.ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 เป็นช่วงเวลาที่รถโดยสารเริ่มเข้ามาที่ลานจอดรถ เพื่อส่งนักท่องเที่ยวให้เดินเท้าจากลานจอดรถเข้าไปที่กลุ่มโบราณสถาน Deir el-Bahri เนื่องจากกลุ่มโบราณสถานของอียิปต์ส่วนใหญ่เปิดทำการระหว่าง 8.00-17.00 น.
1.2 กลุ่มคนร้ายรออยู่ที่บริเวณลานชั้นแรก ด้านหน้าวิหารฟาโรห์ฮัทเชปซุส โดยก่อนหน้านี้ คนร้ายทำการสังหารชาวอียิปต์ไปแล้ว 2 คน ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือยามรักษาการณ์ของกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้
1.3 กลุ่มคนร้ายใช้เพียงมีดและดาบทำร้ายกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินเข้ามาในบริเวณลานชั้นแรก หลังจากนั้นจึงใช้ปืนยิงใส่นักท่องเที่ยวที่พยายามวิ่งหนี ระยะเวลาที่เกิดเหตุร้ายนี้ราว 45 นาที
1.4 กลุ่มคนร้ายเป็นเพียงชายวัยรุ่นที่มีความศรัทธาต่อกลุ่มมุสลิม บราเธอร์ฮูด ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนานิยมและต่อต้านรัฐบาลอียิปต์ เนื่องจากต้องการให้นำหลักศาสนาอิสลามมาใช้บริหารประเทศ กลุ่มคนร้ายขโมยรถตู้ของนักท่องเที่ยวและขับผ่านจุดตรวจอาวุธของหน่วยตำรวจท่องเที่ยวและกองทหารออกไป โดยคนร้ายได้รับบาดเจ็บ 1 คน
1.5 สาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่อียิปต์ในเมืองลักซอร์ใหม่ไม่เชื่อข่าวสารที่ได้รับว่า เกิดเหตุทำร้ายและสังหารนักท่องเที่ยวต่างชาติในเขตโบราณสถานฝั่งตะวันตก จึงไม่ทำการส่งกำลังเข้าไปทำการตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ
2. ข้อมูลที่ปรากฎในปัจจุบัน
ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้จาก Wikipedia มีรายละเอียดต่างไปจากรายงานข่าวสารเมื่อ 20 ปีก่อน กล่าวคือ อาวุธที่คนร้ายใช้สังหารนักท่องเที่ยวเป็นปืนกลอัตโนมัติ และตำรวจทำการสังหารคนร้ายได้ทั้งหมด รัฐบาลอียิปต์ประกาศกฎหมายและดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งภายในและบริเวณโดยรอบกลุ่มโบราณสถานสำคัญและเป็นที่นิยมเข้าเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยว
ข้อพิจารณาด้านการรักษาความปลอดภัยจากข่าวสารเท่าที่ปรากฎ
- สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ตั้งโบราณสถานเขตลักซอร์
1.1 กลุ่มโบราณสถาน Deir el-Bahri ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ในพื้นที่โบราณสถานของกลุ่มหุบเขากษัตริย์(Valley of The Kings) พื้นที่นี้เป็นทะเลทราย มีประชาชนอยู่อาศัยบางเบาและไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตมากนัก การก่อการร้ายจึงเป็นการกระทำนอกพื้นที่อยู่อาศัย จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
1.2 เหตุร้ายดังกล่าวเกิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ขณะนั้นเมืองลักซอร์ใหม่ยังไม่ได้รับการพัฒนาทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือความปลอดภัยใดๆ มากนัก ถึงแม้จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญของอียิปต์ตอนใต้ โดยเฉพาะการล่องเรือชมโบราณสถานตลอดริมฝั่งแม่น้ำไนล์ระหว่างกรุงไครโร-เขตลักซอร์ จะเห็นได้ว่า รัฐต้องสั่งการให้นำเฮลิคอปเตอร์ทหารมาใช้ลำเลียงผู้บาดเจ็บสาหัสไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงไคโร ซึ่งห่างจากเมืองลักซอร์ใหม่ขึ้นไปทางเหนือ 658 กิโลเมตร เป็นต้น
1.3 ถึงแม้จะเคยเกิดเหตุร้ายจากการโจมตีของกลุ่มคนร้ายขึ้นหลายครั้งในเขตลักซอร์ แต่ทางการอียิปต์ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย ทั้งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงนิยมเดินทางเข้ามาชมโบราณสถานในเขตนี้จนถึงปัจจุบัน เช่น การจัดเจ้าหน้าที่ดูแลประจำโบราณสถานแต่ละแห่งจะมีจำนวนไม่มากนักและประจำการอยู่เฉพาะบริเวณที่มีภาพเขียนสีหรือรูปสลักสำคัญ เพื่อดูแลมิให้นักท่องเที่ยวจับต้องหรือทำลายภาพหรือรูปสลักเหล่านั้น ฉะนั้น เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะไม่สามารถช่วยแก้ไขหรือระงับเหตุร้ายใดๆ ที่เกิดขึ้นได้เลย
1.4 การเยี่ยมชมกลุ่มโบราณสถาน Deir el-Bahri นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ต้องเข้าพักที่เมืองลักซอร์ใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ ตรงข้ามกับพื้นที่กลุ่มโบราณสถานต่างๆ ในเขตลักซอร์ การเดินทางเข้าถึงมีเพียงเส้นทางถนนเท่านั้น นับเป็นข้อจำกัดที่สำคัญในการดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัย
1.5 เส้นทางคมนาคมในเขตนี้ประเมินได้ว่า ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก จะเห็นได้จากข้อมูลปัจจุบันของ Lonely Planet และ Tripadvisor แสดงการเดินทางจากเมืองลักซอร์ใหม่ไปยังกลุ่มโบราณสถาน Deir el-Bahri ยังคงมีระยะทาง 27.5 กิโลเมตร และมีเพียงเส้นทางเดียวเช่นเดิม คือ จากทางหลวงหลัก สาย Aswan-Giza ที่ผ่านเมืองลักซอร์ใหม่ ลงไปทางใต้เพื่อไปข้ามแม่น้ำไนล์ที่สะพาน Luxor และวกกลับเข้าทางหลวงหลัก สาย Aswan Western Agricultural การเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถบัส ยังคงใช้เวลาเท่าเดิม คือ ประมาณ 44 นาที
ข้อพิจารณาด้านการรักษาความปลอดภัย
1. สภาพพื้นที่ตั้งโบราณสถานในเขตลักซอร์ไม่สามารถดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพให้กับนักท่องเที่ยวได้เพราะ
1.1 โบราณสถานกลุ่มต่างๆ ตั้งอยู่ในหุบเขาหรือที่ราบทะเลทราย คนร้ายสามารถเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายจากทางทะเลทรายได้โดยง่าย การเฝ้าระวังหรือสังเกตการณ์ของฝ่ายรัฐจะทำได้ยาก เพราะต่างเป็นชนพื้นเมืองที่รัฐอนุญาตให้เข้าพื้นที่โบราณสถานได้อย่างเสรี เพื่อหารายได้จากนักท่องเที่ยว ด้วยการขายของที่ระลึกหรือจัดกิจกรรมต่างๆ
1.2 ที่ตั้งโบราณสถานกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำไนล์มีสภาพเอื้อประโยชน์สำหรับก่อการร้าย ทั้งด้านการซ่อนพรางกำลังและอาวุธก่อนบุกโจมตีหรือรอทำร้ายนักท่องเที่ยว อีกทั้งมีพื้นที่มากมายที่สามารถใช้หลบซ่อนการจับกุม เนื่องจากเป็นซากอาคารจำนวนมากที่มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้าง จนฝ่ายรัฐไม่สามารถจัดกำลังเจ้าหน้าที่สำหรับเฝ้าระวัง ดูแล หรือตรวจตราได้อย่างทั่วถึง
1.3 กลุ่มโบราณสถานแต่ละกลุ่มตั้งอยู่ห่างจากกันและเส้นทางคมนาคมไม่สะดวก การเดินทางไปจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก นับเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการเข้าไปตรวจตรา ระงับหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ข้อมูลปัจจุบันในการเดินทางไปยังกลุ่มโบราณสถาน Deir el-Bahri ของข้อมูลการท่องเที่ยวจาก Lonely Planet และ Tripadvisor ระบุว่ายังคงใช้เวลา 44 นาที แสดงให้เห็นว่า สภาพเส้นทางยังไม่มีการปรับใดมากนัก เพราะเมื่อเทียบกับความเร็วที่ 80 กิโลเมตรต่อ 1 ชั่วโมงของการเดินโดยรถยนต์ปกติ เส้นทางจากเมืองลักซอร์ใหม่ถึงโบราณสถาน Deir el-Bahri ระยะทาง 27.5 กิโลเมตร ควรใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีเท่านั้น จากการเทียบเวลาเดินทางที่ควรจะเป็นดังกล่าว ทำให้พิจารณาได้ว่า เส้นทางคมนาคมเขตลักซอร์น่าจะมีสภาพไม่พร้อมใช้งาน เพราะเมื่อขาดความสะดวกในการใช้งานยอมเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเข้าไปตรวจตรา ดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
2. สภาพอาคารและตำแหน่งที่ตั้งของกลุ่มโบราณสถาน Deir el-Bahri เอื้อต่อการใช้เป็นฐานสำหรับการโจมตีหรือทำร้ายนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมมากกว่าโบราณสถานแห่งอื่นในเขตลักซอร์
2.1 เป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน เนื่องจากมีวิหารตั้งซ้อนกันอยู่ 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ วิหารของฟาโรห์เมนทูห์โฮเทป วิหารของฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 3 และวิหารของฟาโรห์ฮัทเชปซุส ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นวิหารหลักที่นักท่องเที่ยวต้องเข้าชม
2.2 มีภูมิประเทศต่างจากโบราณสถานกลุ่มอื่น คือ ตั้งอยู่กลางหุบเขาและมีหน้าผาสูงชันขนาบ 3 ด้าน ถือเป็นกำแพงธรรมชาติกั้นการเข้าถึงทั้งจากด้านหลังและด้านข้างได้อย่างดี ตลอดบริเวณทางเข้าด้านหน้าเป็นที่ราบโล่ง ไม่มีต้นไม้หรือสิ่งกำบังทางธรรมชาติอื่นใดที่สามารถใช้กันการปะทะหรือหลบซ่อนได้
2.3 ซากอาคารโบราณสถานตั้งอยู่บนเนินและมีความสูง เช่น อาคารวิหารฟาโรห์ฮัทเชปซุส สูง 29.5 เมตร (97 ฟุต) สามารถใช้สังเกตการเคลื่อนไหวบริเวณด้านหน้า ซึ่งเป็นเส้นทางเข้า-ออกเพียงเส้นทางเดียวได้ในระยะไกลและชัดเจน กล่าวคือ ลานจอดรถโดยสารนักท่องเที่ยวจัดไว้เพียงแห่งเดียว คนร้ายสามารถสังเกตการเคลื่อนไหวนับแต่รถโดยสารนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้ามาจอดที่ลานจอดรถและประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินจากลานจอดรถได้อย่างชัดเจน
2.4 ระยะห่างระหว่างลานจอดรถกับอาคารโบราณสถานประมาณ 300 เมตร เป็นระยะที่นับว่าไกลเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่จำหน่ายบัตรเข้าชมโบราณสถานหรือพนักงานขับรถชาวอียิปต์จะได้ยิน/สนใจต่อเสียงร้องที่เกิดขึ้น หรือสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวในบริเวณโบราณสถาน อีกทั้งพนักงานขับรถมักรออยู่ในอาคารใกล้ลานจอดรถ ซึ่งจัดแบ่งไว้เป็นส่วนจำหน่ายบัตร ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าพื้นเมือง โดยจะออกมาที่ลานจอดรถอีกครั้งเมื่อถึงเวลานัดกับมัคคุเทศก์ จากแนวทางปฏิบัติเช่นนี้จึงมีโอกาสน้อยมากที่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานขับรถจะสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในโบราณสถาน
3. กลุ่มคนร้ายมุ่งสร้างความหวาดกลัว ให้ส่งผลกระทบหรือทำลายธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของอียิปต์เหมือนเช่นกรณีการโจมตีนักท่องเที่ยวก่อนหน้านี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มคนร้ายนี้ศึกษาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวตามโบราณสถานในเขตลักซอร์ไว้เป็นอย่างดีในการกำหนดขั้นตอนการโจมตี กล่าวคือ
3.1 เลือกกระทำการในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นต้นฤดูการท่องเที่ยวในอียิปต์ (ระหว่างปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนมีนาคม) เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทุกประเภท จากการขอระงับกำหนดการท่องเที่ยวระหว่างครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน 2540 จนถึงเดือนมีนาคม 2541 ทันที
3.2 จากการรายงานข่าวสารหลังเกิดเหตุร้ายแจ้งว่า อาวุธที่ใช้ในการโจมตีเป็นมีดและดาบ ซึ่งเป็นอาวุธที่ไม่ต้องจัดเตรียมหรือผู้ใช้ต้องรับการฝึกอบรมการใช้งาน ทั้งการพกพาติดตัวก็ไม่เป็นที่ผิดสังเกตหรือเล้าความสนใจใดๆ เพราะเป็นอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันของชายชาวอียิปต์ส่วนข้อมูลปัจจุบันอ้างว่าใช้ปืนอัตโนมัติ ซึ่งน่าที่จะทำได้เช่นกัน เสียงปืนที่เกิดขึ้นไม่น่าจะดังมากพอที่จะเล้าความสนใจได้ เพราะระยะจากลานจอดรถถึงลานด้านหน้าวิหารห่างจากกันมาก หรือการที่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานขับรถจะเข้าไประงับเหตุหรือให้ความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะไม่น่าจะมีอาวุธที่จะใช้ปะทะหรือมีความกล้าพอที่จะเข้าไปขณะเกิดเหตุร้าย อย่างไรก็ตาม ปรากฎข่าวสารภายหลังว่า มีการแจ้งเหตุร้ายไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่เชื่อถือการแจ้งนั้น
3.3 ระยะเวลาทำร้ายนักท่องเที่ยวราว 45 นาที ซึ่งใกล้เคียงกับระยะเวลาการเดินทางจากเมืองลักซอร์ใหม่ไปโบราณสถาน Deir el-Bahri ฉะนั้น การได้รับรายงานการโจมตีทำร้ายนักท่องเที่ยว และกว่าจะเดินทางเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานที่เกิดเหตุ กลุ่มคนร้ายมีเวลามากพอในการหลบหนีออกสู่พื้นที่ทะเลทรายหรือไปตามเส้นทางถนนโดยขึ้นเหนือสู่กรุงไคโรหรือลงใต้ไปยังพรมแดนซูดาน ซึ่งขณะนั้นมีความขัดแย้งกับอียิปต์
3.4 ตามกำหนดเวลาให้เข้าชมโบราณสถานในเขตลักซอร์อยู่ระหว่างเวลา 8.00-17.00 น. และการโจมตีเกิดประมาณเวลา 8.45 น. คาดว่า ช่วงเวลาก่อนการโจมตี ตลอดพื้นที่หน้าวิหารฟาโรห์ฮัทเชปซุสพร้อมต่อการถูกใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการอย่างมาก สามารถสังเกตความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ลานจอดรถ นับแต่การเข้ามาของรถโดยสารและจำนวนนักท่องเที่ยวได้ชัดเจน อีกทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวนี้น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาของวันนั้น จึงไม่น่าจะมีจำนวนมากนัก คนร้ายเพียง 6 คน จึงสามารถกระทำการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.5 บริเวณลานชั้นแรกของวิหารฟาโรห์ฮัทเชปซุส นับเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการโจมตีมากที่สุด เพราะเป็นลานโล่งกว้างและยกสูงจากพื้นดินราว 50 เซนติเมตร ไม่มีสิ่งที่สามารถใช้กำบังหรือหลบซ่อนการโจมตีของกลุ่มคนร้ายได้ และการทำร้ายนักท่องเที่ยวกระทำได้โดยง่าย เพราะนักท่องเที่ยวไม่รู้จักสภาพพื้นที่ ไม่มีอาวุธหรือไม่มีความพร้อมที่จะต่อสู้เมื่อถูกทำร้าย อีกทั้งอยู่ในสภาวะตื่นตระหนกและพยายามหลบหนี จึงง่ายต่อการเข้าทำร้าย จะเห็นได้จากภายในเวลา 45 นาที จำนวนคนร้ายเพียง 6 คนสังหารนักท่องเที่ยวได้ 58 คนและบาดเจ็บอีก 26 คน ซึ่งเฉลี่ยได้ว่า คนร้าย 1 คนสามารถทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บได้ 14 คน
3.6 ทางการอียิปต์ขาดความตระหนักถึงศักยภาพของเครื่องใช้ประจำตัวของชายอียิปต์ เช่น มีดและดาบ ซึ่งเป็นปกติที่จะมีติดตัวไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธโจมตีได้เป็นอย่างดี เพราะจากสถานการณ์ที่ผ่านมา การโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายใช้อาวุธที่จัดเตรียมเป็นการเฉพาะ เช่น ระเบิดแสวงเครื่องหรือปืนกล ตัวอย่างเช่น กรณีกราดยิงนักท่องเที่ยวชาวกรีกด้วยปืนกล ภายในโรงแรมที่กรุงไคโร เมื่อ 18 เมษายน 2539 นักท่องเที่ยวเสียชีวิต 17 คน หรือกรณีกราดยิงรถโดยสารนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยปืนกลและระเบิดขว้าง ที่จัตุรัส Tahrir ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงไคโร เมื่อ 18 กันยายน 2540 นักท่องเที่ยวเสียชีวิต 9 คน และมีผู้บาดเจ็บ 19 คน เป็นต้น
4. ข้อพิจารณาเปรียบเทียบกรณีนี้กับแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือแหล่งท่องเที่ยวอื่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างเช่น เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา บริเวณ“ถนนคนเดิน”ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณ“ตรอกข้าวสาร” เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นต้น
4.1 การโจมตีนักท่องเที่ยวด้วยใช้มีดหรือดาบสามารถกระทำได้ทุกแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย มาตรการป้องปรามหรือป้องกันการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้นจากผู้ก่อการร้ายในรูปแบบนี้ กระทำได้ยาก เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ หากไม่มีแหล่งที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนได้ ทั้งการวางกำลังป้องกันให้รองรับก็ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะดำเนินการรักษาความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง
4.2 การใช้มีดหรือดาบเป็นอาวุธนับเป็นการก่อการร้ายที่ลงทุนต่ำ แต่สามารถส่งผลกระทบต่อฐานะความน่าเชื่อถือของทางการได้ดียิ่ง เพราะแสดงให้ประจักษ์ว่า ทางการไม่มีแหล่งข้อมูลข่าวสารเตือนภัยและไม่มีมาตรการดูแลหรือคุ้มครองความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอให้แก่นักท่องเที่ยว
4.3 การเผชิญกับการก่อการร้ายที่มุ่งสร้างผลกระทบมากกว่าความเสียหายจำเป็นที่จะต้องประเมินสภาพและรูปแบบการก่อเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นตามสถานที่สาธารณะและเป็นที่ชุมนุมของผู้คน เช่น สถานที่ท่องเที่ยวนับเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม เนื่องจากการก่อเหตุร้ายในแต่ละพื้นที่ให้ผลกระทบที่ต่างกัน