สถาบันการเงินปรับตัวรองรับโลกดิจิทัล ลงทุนตั้งองค์กรกลาง-การพิสูจน์ตัวตน โดยไม่ต้องเห็นหน้ากันในอนาคต
แม้ว่าในวันนี้ เวลานี้ จะมีกรณีที่มี มิจฉาชีพได้เข้าไปปลอมแปลงตัวเองผ่านการขโมยบัตรประชาชน + สวมหน้ากากอนามัย + ท้าทายกระบวนการเปิดบัญชี เพื่อการนำเงินเข้าและโอนเงินออกจากการกระทำความผิดนั้น
ผมเองก็เฝ้าติดตามว่าเรื่องนี้มันจะไปจบตรงไหน
ใครจะเป็นแพะ ใครจะเป็นแกะใครจะเป็นผู้ร้าย ใครจะเป็นพระเอก ที่สุดความจริงจะปรากฏ มันยังไม่ถึงเวลาที่จะไปตำหนิว่าใครหย่อนยาน ใครไม่ทำอะไรอย่างที่ควรจะทำ
การออกตัวแรงๆ ของพี่ๆ ตามข่าวสารแบบฟันธง ผมในฐานะคนหัวโบราณอยากจะบอกว่า ระวังธงหัก ยังไม่ชัดอย่ารีบ สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหารนะครับ …
จากการให้ข้อมูลของผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีที่บุคคลถูกนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีว่า ภาคเอกชนและภาครัฐที่มีการนำบัตรประชาชนไปใช้ลงทะเบียนลูกค้าหรือผู้มาขอรับบริการนั้น มีสิ่งที่ต้องทำ 3 เรื่องอย่างเข้มข้น คือ
1.ต้องดูหน้าตาว่าผู้มาขอใช้บริการ หน้าตาเหมือนในบัตรหรือไม่ (Face to face)
2.ต้องตรวจสอบว่าบัตรประชาชนใบที่ใช้ทำธุรกรรมเป็นของจริงหรือปลอม (สามารถตรวจสอบได้โดยใช้เครื่องอ่านบัตรประชาชน)
3.ในกรณีมีการแจ้งบัตรหาย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองมีระบบให้คอมพิวเตอร์ของแต่ละหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบได้ว่า บัตรใบนี้มีสถานภาพเป็นปกติ ถูกแจ้งหายหรือถูกยกเลิก
หากได้ทำครบทั้ง 3 ขั้นตอนจะสามารถยืนยันพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนในโลกการทำธุรกิจแบบมาเจอหน้ากัน พิสูจน์กัน แล้วก็ตกลงทำรายการของกันและกัน
กลับมาเวลานี้ครับ ทางกระทรวงการคลังกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มี คำสั่งที่ 75/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2560 โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ
รวมถึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการพิสูจน์และตัวตน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญใน Digital Economy และ Digital Transaction ในอนาคต
ขณะนี้งานได้เดินหน้ามาถึงขั้นตอน การจัดตั้งองค์กรเพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลไอดี (Digital ID Platform) ในการพัฒนา ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล มูลค่าการลงทุนตั้งต้น 100 ล้านบาท โดยภาคเอกชนและสมาคมธนาคารไทยได้รวบรวมหน่วยงานที่ สนใจร่วมลงทุนพร้อมสัดส่วนการลงทุน ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2561 แล้ว ซึ่งประกอบด้วย
* สมาชิกของสมาคมธนาคารไทย (TBA)
* สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO)
* สมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA)* สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA)
* สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (TEPA)
* และเครดิตบูโร (NCB)ระบบดังกล่าวคาดว่าจะเข้ามาดำเนินการได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 นี้เป็นต้นไป การตรวจสอบและ พิสูจน์ตัวตนของใครต่อใครก่อนทำธุรกรรมทางการเงินจะเข้มข้น ใช้ข้อมูล หลายรูปแบบในการเปรียบเทียบยืนยัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในบัตรประชาชน Biometric ประเภทลายนิ้วมือ ม่านตา เสียง หรืออื่นใดตามแต่จะจินตนาการ สิ่งนี้คงจะเข้ามาช่วยในการลดความเสี่ยงของการทำธุรกรรมลงไปได้มาก
——————————————————————————
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / 15 มกราคม 2561
Link : คอลัมน์เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ โดยคุณสุรพล โอภาสเสถียร