โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด
การหลอกลวงของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ด้วยยุคเทคโนโลยีที่เข้าถึงทุกคนได้ง่าย จึงเป็นช่องทางที่ผู้ไม่หวังดีสามารถแฝงตัวเข้ามาได้ง่าย หนึ่งในนั้นคือ <strong>“หลอกลวงให้เซ็นรับพัสดุจนสูญเสียเงิน” ซึ่งกำลังเป็นภัยสังคมที่แพร่หลายขณะนี้
วันนี้โพสต์ทูเดย์ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานทางด้านนี้ จะมาเปิดโปงขบวนการรวมถึงแนะนำวิธีการระมัดระวังตัวไม่ให้เสียรู้
แฉกลลวงหลอกให้เซ็นรับ-สุดท้ายเสียเงิน
ภัยรูปแบบดังกล่าวหากไม่ระวังตัวหรือรู้เท่าทันคุณอาจตกเป็น “เหยื่อ”
สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่งเล่าประสบการณ์ที่พบเจอกับพฤติกรรมของมิจฉาชีพว่า ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีกล่องพัสดุระบุชื่อของตัวเองส่งมาจากประเทศจีน โดยพนักงานจัดส่งได้มีการเรียกเก็บเงินเป็นจำนวน 1,680 บาท แต่ด้วยความโชคดีที่ไม่เคยซื้อของออนไลน์แบบเก็บเงินปลายทางมาก่อน จึงสงสัยและปฏิเสธการเซ็นรับพัสดุชิ้นนั้นพร้อมกับจ่ายเงินไป เมื่อสอบถามไปยังบริษัทส่งของก็ทราบว่ามีเรื่องร้องเรียนประเภทนี้ทุกวัน โดยมิจฉาชีพจะสุ่มส่งของหาเหยื่อ เมื่อเซ็นรับก็ต้องจ่ายเงินซึ่งจะตกหลุมพรางทันที ทั้งที่มูลค่าของในกล่องราคาไม่มาก
ขณะที่สมาชิกเฟซบุ๊กอีกรายเล่าว่า สั่งโมเดลไอรอนแมนมาจากเพจเฟซบุ๊กหนึ่ง โฆษณาว่าเป็นของแท้ที่โรงงานผลิตเกินจำนวนจึงนำออกมาขายในราคา 2,000 บาท จากราคาปกติประมาณ 30,000 บาท เมื่อของส่งมาถึงก็ได้เปิดพัสดุดูก่อน (ได้รับการยินยอมจากผู้ส่ง) แต่เมื่อเปิดของออกมาดูก็พบว่าของไม่ตรงตามรายละเอียดที่ลงโฆษณาไว้จึงปฏิเสธการรับ
พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ให้ข้อมูลว่า ขบวนการนี้ส่วนใหญ่อยู่ในไทย นอกนั้นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จีนและประเทศแถบแอฟริกา รูปแบบการหลอกจะส่งของมาที่บ้านหรือเปิดเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์พร้อมกับนำข้อมูลอันเป็นเท็จลงไว้ หากมีผู้สนใจติดต่อซื้อขายก็จะตกเป็นเหยื่อทันที
ผกก. 3 ปอท. มองว่า การฉ้อโกงรูปแบบนี้ไม่ต่างจากอดีต เพียงแต่ปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารเพิ่มขึ้น และผู้ตกเป็นเหยื่อก็มักโพสต์เตือนภัยลงในโซเชียลมีเดีย จึงทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าปัญหานี้มีมาก
ล่าโจรไซเบอร์ไทยง่าย-ต่างประเทศยาก
ผกก. 3 ปอท. เปิดเผยว่า การติดตามมิจฉาชีพขบวนการนี้หากอยู่ในประเทศโอกาสติดตามตัวอาจทำได้ง่าย โดยสืบจากแหล่งส่งของ บัญชี พฤติกรรม รวมถึงหมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ ไอพี แต่หากมาจากต่างประเทศ ยอมรับว่าการติดตามตัวค่อยข้างยาก เพราะอยู่นอกราชอาณาจักรเกินอำนาจตำรวจไทย แต่ถึงอย่างไรก็สามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ประสานหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อได้
พ.ต.อ.โอฬาร แนะนำว่า หากตกเป็นผู้เสียหายควรรีบแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศทันที ไม่จำเป็นต้องเดินทางมา ปอท.เพียงแห่งเดียว พนักงานสอบสวนจะดำเนินการตรวจสอบรวบพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด หากตำรวจรายใดไม่รับแจ้งความและอ้างว่าเป็นความผิดทางอินเทอร์เน็ตอาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 157 เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
แต่ถึงอย่างไรการระวังควรเริ่มที่ตัวเองก่อนตกเป็นเหยื่อ หรือควรตรวจเช็คข้อมูลสถานะแหล่งที่ส่งให้ดีก่อนเซ็นรับและจ่ายเงิน นอกจากนี้คิดว่าบริษัทหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการขนส่ง การดูแลระบบควรมาหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังถาวร
ผู้บริโภคมีสิทธิดูของและปฏิเสธ
พิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ชี้ว่า เมื่อมีของมาส่งตามหลักปฏิบัติควรดูก่อนว่าของภายในพัสดุมีสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธการรับของได้ หากไม่มั่นใจควรปฏิเสธการเซ็นรับและจ่ายเงิน เพราะเมื่อเซ็นรับเท่ากับยินยอมรับผิดชอบ การจะไปฟ้องร้องภายหลังก็ยุ่งยาก
“เรามีสิทธิขอตรวจสอบของ ตามกฎหมายสามารถขอดูของก่อนได้ ถ้าพนักงานไม่ให้ดูก่อน ก็ไม่ต้องรับ”
พิฆเนศ กล่าวว่า หากผู้ประกอบการขนส่งยังพยายามให้เซ็นรับของโดยไม่ยินยอมให้ตรวจ อาจเป็นการโอนภาระให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นการกระทำแบบที่ไม่มีจรรยาบรรณ
เลขาธิการ สคบ. แนะนำว่า เมื่อตกเป็นเหยื่อถ้าเป็นร้านค้าในระบบที่ขึ้นทะเบียบเสียภาษีถูกต้อง ผู้บริโภคมีสิทธิคืนของได้ภายใน 7 วัน และมีสิทธิฟ้องร้องในระยะเวลา 1 ปี แต่ทางปฎิบัติจริงผู้บริโภคมักไม่ฟ้องเพราะมองว่ายุ่งยากและจำนวนเงินความเสียหายไม่มาก ตรงนี้เป็นข้อเสียเปรียบของผู้บริโภค
พิฆเนศ ทิ้งท้ายว่า ดังนั้นการป้องกันตั้งแต่ต้นหากไม่มั่นใจไม่ควรเซ็นรับและจ่ายเงินก่อน หรือหากผู้รับเป็นบุคคลในบ้านที่ไม่ใช่เจ้าของชื่อ ควรสอบถามรายละเอียดกับผู้ที่มีชื่อระบุบนพัสดุเพื่อความมั่นใจ แต่ยืนยันว่าควรตรวจสอบให้ดีก่อน หากไม่มั่นใจไม่ควรเซ็นรับและจ่ายเงิน
——————————————————————————-
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / 10 มกราคม 2561
Link : https://www.posttoday.com/analysis/report/534689