โดย : สำรวย นักการเรียน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ถึงแม้ว่าเป็นคนไทย แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าใจและใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องโดยไม่มีข้อผิดพลาด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยและใช้ให้ถูกต้อง บทความนี้ขอเสนอความหมายของคำว่า “ราง” กับ “ลาง” ตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
“ราง” เป็นนาม หมายถึง ร่องที่ขุดเป็นทางสำหรับให้น้ำไหล; สิ่งสำหรับรองน้ำฝนที่ชายคาเป็นต้น มักทำด้วยสังกะสียาวเป็นแนวไปตามชายคา; ไม้ที่ขุดหรือต่อให้เป็นร่องยาว ๆ หรือปล้องไม้ไผ่ผ่าซีก มีด้านสกัดหัวท้าย สำหรับใส่อาหารหมูหรือย้อมผ้าเป็นต้น; โดยปริยายเรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น รางระนาด; เหล็กที่ใช้เป็นทางเดินของล้อเลื่อน เช่น รางรถไฟ; ไม้เจาะเป็นร่องยาวสำหรับใส่เหรียญบาทเรียงกันได้ 80 เหรียญ หรือ 1 ชั่ง ปัจจุบันเป็นแผ่นไม้เจาะเป็นร่องสำหรับใส่เหรียญบาทเรียงกันเป็นแถว ๆ แผ่นหนึ่งมี 10 แถว แถวหนึ่งใส่เหรียญบาทได้ 10 เหรียญ รวมเป็น 100 บาท; ลักษณนามเรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นราง เช่น ลูกคิดรางหนึ่ง ระนาด 2 ราง รางรถไฟ 3 ราง เป็นกริยา หมายถึง คั่วข้าวเม่าให้กรอบ เรียกข้าวเม่าที่เอามาคั่วให้กรอบว่า ข้าวเม่าราง เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ไม่กระจ่าง ไม่ชัดเจน เช่น เห็นราง ๆ ภาพราง ๆ
ส่วนคำว่า “ลาง” เป็นนาม หมายถึง 1. สิ่งหรือปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่าจะบอกเหตุดีหรือเหตุร้าย เช่น ผึ้งทำรังทางทิศตะวันออกของอาคารเชื่อกันว่าเป็นลางดี แมงมุมตีอกเชื่อกันว่าเป็นลางร้าย 2. หมาก ขนุน เรียกว่า หมากลาง (ไทยใหญ่) 3. นกกะลาง เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ต่าง แต่ละ บาง เช่น ลางคน ลางสิ่งลางอย่าง
มีปัญหาเพื่อทดสอบภาษาไทยของท่านผู้อ่านว่า ของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ เหล็กไหล เรียกว่า เครื่องราง หรือ เครื่องลาง คำตอบหาได้จากพจนานุกรมครับ
——————————————————————–
http://www.royin.go.th/?knowledges=ราง-กับ-ลาง
สอบถามเพิ่มเติม : ripub@royin.mail.go.th