1. เวียดนามดำเนินมาตรการเชิงรุกขยายวงกว้างปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือเผยแพร่ทัศนคติและข้อมูลข่าวสารโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ โดยพลโท Nguyen Trong Nghia รองประธานกรมการเมืองใหญ่ กองทัพประชาชนเวียดนาม เปิดเผยเมื่อ 25 ธันวาคม 2560 ว่า เวียดนามมีหน่วยพิเศษ Force 47 เป็นหน่วยทำสงครามไซเบอร์ในการควบคุม/ตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเมืองและสื่อมวลชนผ่านกิจกรรมออนไลน์ กองกำลังดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่จำนวนกว่า 10,000 คน ซึ่งมีทักษะ ความรู้ ความชำนาญด้านเทคโนโลยี และอุดมการณ์ที่ดีทางการเมืองเป็นกองกำลังหลักร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงภายใน ทำสงครามข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มที่พยายามบ่อนทำลายความมั่นคงของเวียดนาม
2. การเปิดเผยหน่วยงานดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเวียดนามถึงความจริงจังของรัฐบาลในการควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากในห้วงหลายเดือนที่ผ่านมา เวียดนามจับกุมและจำคุกกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย กลุ่มปกป้องสิทธินักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน บล็อกเกอร์ นักเขียน อดีตนายทหาร และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา (ตามประมวลกฎหมายอาญา บทลงโทษในข้อหาโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล จำคุกสูงถึง 20 ปี ขณะที่บทลงโทษกลุ่มบุคคลล้มล้างอำนาจรัฐสูงสุดคือ ประหารชีวิต) รวมถึงขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการเทคโนโลยีรายใหญ่จากต่างประเทศให้ช่วยสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวเมื่อกลางธันวาคม 2560 เช่น Facebook ถอดบัญชีผู้ใช้ซึ่งวิจารณ์ผู้นำรัฐบาลและเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งสิ้น 159 บัญชี ขณะที่ Google ถอดวิดีโอประมาณ 4,500 วิดีโอจากทั้งหมด 5,000 วิดีโอ เนื่องจากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม
3. นอกจากนี้ เมื่อ 27 ธันวาคม 2560 ศาลนครโฮจิมินห์ตัดสินจำคุกชาวเวียดนาม 15 คน เป็นเวลา 5-16 ปี ในข้อหาก่อการร้าย พยายามวางระเบิดขวดที่สนามบินนานาชาติเตินเซินเญิต ในนครโฮจิมินห์ เมื่อเมษายน 2560 โดยมีแกนนำกลุ่มซึ่งอยู่ในต่างประเทศร่วมกันวางแผนก่อการร้าย และใช้สื่อสังคมออนไลน์ชักจูงคนในเวียดนามให้จัดตั้งกลุ่มก่อการร้ายเพื่อก่อเหตุวุ่นวาย ปัจจุบันเวียดนามมีประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตประมาณ 56.4 ล้านคน (ร้อยละ 62.7) ของประชากรทั้งหมดประมาณ 90 ล้านคน และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้งาน Facebook มากที่สุด
การที่รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลมากขึ้น ทำให้ไทยจำเป็นต้องเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการใช้พื้นที่ไทยเป็นฐานเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลเวียดนาม กับเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีและกรอบความตกลงการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างไทยกับเวียดนาม เช่น กรณีล่าสุดที่กลุ่มดังกล่าวยังพยายามหาช่องทางแสดงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะการจัดกิจกรรมเสวนาในต่างประเทศ โดยใช้องค์กรช่วยเหลือหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนบังหน้า เช่น กรณีองค์กรเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch – HRW) และสำนักงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลก (Boat People SOS – BPSOS) จัดเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand – FCCT) ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2560 ในเชิงกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเวียดนาม แต่หน่วยงานความมั่นคงของไทยยับบั้งการจัดงานดังกล่าว
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน