เมื่อ 4 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตรวจพบชายชาวอินเดียชื่อ นาย Kumar Viex พกพาแบตเตอรี่สำรอง (power bank) ที่ถูกดัดแปลงในลักษณะ “วัตถุคล้ายระเบิด” ขณะผ่านเครื่องเอกซเรย์ จึงได้ยึดอุปกรณ์ไว้ตรวจสอบและอนุญาตให้นาย Viex เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้มีการสอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการกระทำดังกล่าว
ปัจจุบัน ปรากฏการกระทำลักษณะแบบเดียวกันนี้ตามท่าอากาศยานหลายแห่งโดยเฉพาะในอินเดีย ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาก็เคยตรวจพบอย่างน้อย 3 ครั้ง ที่เมืองฮูสตัน มลรัฐเท็กซัส และมลรัฐไอดาโฮ
เบื้องต้นทราบว่าอุปกรณ์ดัดแปลงส่วนใหญ่จะตรวจพบในหมู่นักเดินทางที่มาหรือกลับจากอินเดีย หรือเคยไปซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในอินเดีย ซึ่งนักเดินทางมักไม่ทราบว่าเป็นอุปกรณ์ที่ถูกดัดแปลง รูปแบบที่ตรวจพบคล้ายคลึงกัน ภายในมักถูกบรรจุด้วยดินน้ำมันและมีการต่อสายไฟเข้ากับแบตเตอรี่โทรศัพท์ ทั้งนี้ ในสหรัฐฯถือว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อระบบการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานและความมั่นคงของประเทศ และกรณีนี้ทำให้หลายฝ่ายห่วงกังวลว่า กลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มหัวรุนแรงอาจแสวงประโยชน์จากอุปกรณ์ดัดแปลงลักษณะนี้ เพื่อสร้างความสับสนให้กับเจ้าหน้าที่หรือเพื่อทดสอบระบบการรักษาความปลอดภัย ซึ่งอาจนำไปสู่การอำพรางนำระเบิดเพลิงเข้าสู่ท่าอากาศยานและเครื่องบินได้
ดังนั้น ประเทศไทยควรเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในท่าอากาศยานและอาจต้องคำนึงถึงมาตรการเฝ้าระวังความเสี่ยงและอันตรายจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องสงสัยอย่างเหมาะสม โดยศึกษาเปรียบเทียบจากมาตรการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญและตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเข้มงวด เมื่อพบอุปกรณ์ต้องสงสัยจะตรวจยึดและส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดตรวจสอบ ส่วนผู้โดยสารจะถูกกักตัวไว้ซักถามจนมั่นใจว่าไม่มีพฤติการณ์หรือความเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรง หรือกลุ่มนอกกฎหมายจึงจะได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ ไทยควรนำรูปแบบการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯมาปรับใช้กับมาตรการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานของไทย โดยเฉพาะการซักถามผู้ต้องสงสัยและการสืบสวนหาแหล่งที่มาของอุปกรณ์ เพื่อป้องกันและป้องปรามเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ดัดแปลงดังกล่าว
——————————————————————-
องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
22 กุมภาพันธ์ 2561