นับแต่อดีตในยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯได้มีการจัดเตรียมสถานที่หลบภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ไว้ให้กับบุคคลสำคัญจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมถึงประธานาธิบดีและคณะผู้ติดตามด้วย ฐานที่มั่นเพื่อความปลอดภัยของผู้นำประเทศในยามเกิดสงครามนิวเคลียร์เหล่านี้ มีทั้งที่เป็นความลับและที่ถูกเปิดเผยแล้ว
ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯคนนี้มีทางเลือกหลากหลายสำหรับการหลบภัยอาวุธนิวเคลียร์ โดยนอกจากจะมีสถานที่หลบภัยของทางการที่ชั้นใต้ดินของทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงวอชิงตัน รวมทั้งที่เขาเวตเธอร์ (Mt Weather) รัฐเวอร์จิเนีย และหลุมหลบภัยที่เกาะพีนัต (Peanut Island) ไม่ห่างจากชายฝั่งรัฐฟลอริดาแล้ว นายทรัมป์ยังมีห้องหลบภัยส่วนตัวที่คฤหาสน์มาร์อะลาโก และมีหลุมหลบภัยส่วนตัวใต้สนามกอล์ฟย่านเวสต์ปาล์มบีชของเขาอีกด้วย
ฐานหลบภัยแห่งไหนปลอดภัยที่สุด ?
นายเคนเน็ธ โรส ผู้เขียนหนังสือ “ชาติเป็นหนึ่งเดียวใต้ผืนดิน: หลุมหลบภัยนิวเคลียร์ในวัฒนธรรมอเมริกัน” (One Nation Underground: The Fallout Shelter in American Culture) บอกว่าไม่มีฐานหลบภัยแห่งใดแข็งแกร่งพอจะทนทานความร้อนสูงและแรงระเบิดมหาศาลจากการถูกอาวุธนิวเคลียร์โจมตีเข้าอย่างจังได้
แต่หากประธานาธิบดีสหรัฐฯรอดจากการถูกโจมตีในครั้งแรก ฐานหลบภัยนิวเคลียร์ก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการเป็นสถานที่บัญชาการรบและบริหารประเทศต่อไปได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่โลกภายนอกกำลังลุกเป็นไฟ
นายโรเบิร์ต ดาร์ลิง นาวิกโยธินสหรัฐฯ ผู้เคยลงไปยังห้องหลบภัยใต้ดินของทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อปี 2001 ขณะเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายนบอกว่า มีเพียงผู้ที่อยู่ใน “ชั้นบนของห่วงโซ่อาหาร” เท่านั้น ที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปหลบภัยในห้องดังกล่าวได้ ซึ่งในกรณีของทำเนียบแห่งนี้หมายถึงตัวประธานาธิบดีเอง พร้อมทั้งที่ปรึกษาคนสนิทและคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งทำให้ลำดับสถานะสูงต่ำทางสังคมกลายเป็นเรื่องของความเป็นความตายขึ้นมาในทันที
นายแรนดี้ โซเวลล์ นักประวัติศาสตร์ประจำห้องสมุดประธานาธิบดีทรูแมนในรัฐมิสซูรีบอกว่า เรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างสูงต่อการคงสายการบังคับบัญชาเอาไว้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนักจะเกิดขึ้นติดตามมา
ดังนั้นในช่วงต้นทศวรรษ 1950 รัฐบาลของประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน จึงได้มองหาสถานที่ปลอดภัยที่หน่วยงานสำคัญของทางการทั้งหมดจะสามารถเคลื่อนย้ายไปปักหลักอยู่ได้เมื่อมีภัยนิวเคลียร์มาถึง โดยพบว่าเขาเวตเธอร์ (Mt Weather) ซึ่งมีความสูง 534 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากกรุงวอชิงตัน 80 กิโลเมตร มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นสถานที่หลบภัยของประธานาธิบดีสหรัฐฯและคณะติดตามหลายร้อยคน รวมทั้งมีห้องสื่อมวลชนโดยเฉพาะด้วย
ส่วนบรรดาสมาชิกสภาคองเกรสทั้งหมดนั้น จะใช้พื้นที่ของสถานตากอากาศ Greenbrier ในแถบหุบเขาของรัฐเวสต์เวอร์จิเนียเป็นสถานที่หลบภัย โดยสถานที่แห่งนี้มีการเปิดใช้งานด้านความมั่นคงมานานหลายสิบปี จนมีการเปิดเผยทางสื่อมวลชนในปี 1992 ซึ่งทำให้ทางการต้องเลิกใช้งานเพื่อการหลบภัยไปในที่สุด
ปัจจุบันฐานหลบภัยที่เขาเวตเธอร์ปิดใช้งานแล้วเช่นกัน แต่มีรายงานว่ามีการเปิดใช้ช่วงสั้น ๆ อีกครั้ง ขณะเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ซึ่งทำให้คาดกันว่าอาจมีการเปิดใช้งานสถานที่แห่งนี้ได้อีก หากมีภัยร้ายแรงมาถึงตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯในอนาคต
นอกจากสถานที่หลบภัยนิวเคลียร์ใกล้กรุงวอชิงตันแล้ว ผู้นำสหรัฐฯยังมีทางเลือกในการหลบภัยอีกแห่งที่เกาะพีนัต(Peanut Island) นอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 1961 ในสมัยของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี โดยเป็นหลุมหลบภัยขนาดเล็กจุได้ราว 30 คน ที่สามารถเดินทางจากแผ่นดินใหญ่ไปถึงได้ในเวลาเพียง 10 นาที ปัจจุบันไม่มีการใช้งานแล้ว แต่ในอดีตประธานาธิบดีเคนเนดีเดินทางมาที่นี่เพื่อฝึกซ้อมหลบภัยบ่อยครั้ง
ห้องหลบภัยส่วนตัวของทรัมป์
การก่อสร้างสถานที่หลบภัยนิวเคลียร์ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อเพียงตัวผู้นำและการทำงานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังช่วยโน้มน้าวให้ผู้คนทั่วไปรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น จนถึงขั้นที่เห็นคล้อยตามกับผู้นำประเทศว่า สหรัฐฯสามารถสะสมอาวุธนิวเคลียร์และทำสงครามนิวเคลียร์ได้ โดยประชาชนชาวอเมริกันจะไม่ได้รับอันตราย
เมื่อช่วงทศวรรษ 1950 ในยุคของประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน รัฐบาลกลางสหรัฐฯได้ก่อตั้งสำนักงานบริหารป้องกันภัยพลเรือนขึ้นมาแห่งหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเห็นคล้อยตามว่า การทำสงครามนิวเคลียร์นั้นไม่จำเป็นจะต้องก่อให้เกิดหายนะภัยแก่ทุกคนบนโลกเสมอไป และการก่อสร้างหลุมหลบภัยนิวเคลียร์ในครัวเรือนของตนเองจะช่วยรับประกันความปลอดภัยให้ทุกคนในครอบครัวได้
มีการอ้างสถิติที่ว่า ชาวญี่ปุ่นซึ่งถูกระเบิดปรมาณูโจมตีที่เมืองนางาซากิจนเสียชีวิตทันที อาจจะรอดชีวิตกันมากขึ้นถึง 30% หากมีการก่อสร้างหลุมหลบภัยนิวเคลียร์ (Fallout shelter) ซึ่งสามารถป้องกันเศษกัมมันตรังสีที่ร่วงหล่นลงมาหลังการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์บนท้องฟ้าได้
หน้าที่ในการก่อสร้างหลุมหลบภัยนิวเคลียร์ประจำบ้าน จึงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเป็นพลเมืองยุคนิวเคลียร์” ที่ชาวอเมริกันจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกสมัยใหม่ ซึ่งขณะนั้นหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐฯเริ่มการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์แล้ว
ในระหว่างการรณรงค์นี้เอง นางมาจอรี แมรีเวตเธอร์ โพสต์ เศรษฐินีชาวอเมริกันเจ้าของคฤหาสน์มาร์อะลาโกที่ทรัมป์ครอบครองอยู่ในทุกวันนี้ ได้เกิดความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามเกาหลี และได้ตัดสินใจสร้างห้องหลบภัยใต้ดินในคฤหาสน์ของตนเองขึ้น ซึ่งทรัมป์ได้รับตกทอดมาหลังเข้าซื้อคฤหาสน์หลังนี้ในปี 1985 เขาบอกว่าห้องหลบภัยนิวเคลียร์นี้ “ยึดติดกับแนวปะการังข้างใต้อย่างแข็งแกร่งด้วยเหล็กและคอนกรีต”
นายเวส แบล็กแมน ซึ่งเคยลงไปสำรวจห้องหลบภัยดังกล่าวกับนายทรัมป์เล่าว่า “ห้องมืดและอับชื้นอย่างมาก มีเพดานต่ำจนต้องก้มเดินเข้าไปและมีห้องน้ำอยู่ตรงกลาง ที่ผนังมีเปลสนามพับได้ติดอยู่ และมีพัดลมระบายอากาศที่ต้องใช้มือดึงเปิดเครื่อง ผมรู้สึกเหมือนเข้าไปสำรวจโบราณสถานเลย”
อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ทรัมป์จึงไม่ได้ใช้งานห้องหลบภัยดังกล่าว และขณะนี้ใช้เป็นห้องเก็บของ แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเขามีหลุมหลบภัยที่ทันสมัยกว่าอยู่ใต้หลุมที่สองในสนามกอล์ฟเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดาด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่เคยมีใครได้เห็น
———————————————————————
ที่มา : BBC News / 12 กุมภาพันธ์ 2561
Link : http://www.bbc.com/thai/international-43028763?ocid=wsthai.chat-apps.in-app-msg.line.trial.link1_.auin