โดย : พรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ราชบัณฑิตยสถานเป็นสถาบันที่ให้บริการทางวิชาการแก่หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษาไทย ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละวันจึงมีผู้โทรศัพท์มาสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยยังราชบัณฑิตยสถานเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในคำถามที่นักวรรณศิลป์ (กองศิลปกรรม) จะต้องเจอกันเป็นประจำ คือ คำถามว่า ภรรยา กับ ภริยา ใช้เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร เนื่องจากมักพบการใช้คำว่า ภรรยา กับหญิงที่เป็นคู่ครองของชายซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป และมักพบการใช้คำว่า ภริยา กับหญิงที่เป็นคู่ครองของชายซึ่งเป็นบุคคลระดับสูงหรือบุคคลสำคัญ
ดังนั้น ในคอลัมน์องค์ความรู้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสถานฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขออธิบายให้ได้ทราบถึงความเหมือนและความแตกต่างของสองคำดังกล่าวนี้
ความเหมือนของคำว่า ภรรยา กับ ภริยา คือ เป็นคำนามเหมือนกัน และมีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เหมือนกัน คือ เมีย หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย คู่กับสามี
ส่วนความแตกต่างของคำว่า ภรรยา กับ ภริยา คือ มีที่มาของคำต่างกัน โดยคำว่า ภรรยา เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า ภารฺยา แต่คำว่า ภริยา เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีว่า ภริยา
ดังนั้น การที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ภรรยา หมายถึง หญิงที่เป็นคู่ครองของชายซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป และคำว่า ภริยา หมายถึง หญิงที่เป็นคู่ครองของชายซึ่งเป็นบุคคลระดับสูงหรือบุคคลสำคัญนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะไม่ว่าจะ ภรรยา หรือ ภริยา ก็ล้วนแล้วแต่หมายถึง เมียหรือหญิงที่เป็นคู่ครองของชายทั้งสิ้น ไม่มีการแยกแยะว่าคำนี้เป็นเมียของบุคคลทั่วไป หรือคำนี้เป็นเมียของบุคคลระดับสูงหรือบุคคลสำคัญ.
——————————————————————–
http://www.royin.go.th/?knowledges=ภรรยา-กับ-ภริยา-เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
สอบถามเพิ่มเติม : ripub@royin.mail.go.th